บิ๊ก BEM พลิก 360 องศา รับดีมานด์รถไฟฟ้าโตก้าวกระโดด

สัมภาษณ์

หลังเปิดเดินรถต่อเชื่อม “เตาปูน-บางซื่อ” เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2560 ทำให้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า 2 สาย 2 สี สปีดเพิ่มขึ้นทันตาไม่ว่าสายสีน้ำเงิน “เตาปูน-หัวลำโพง” จาก 339,323 เที่ยวคนต่อวัน เพิ่มเป็น 356,898 แสนเที่ยวต่อวัน ทุบสถิติสูงสุด 4 แสนเที่ยวคนต่อวันในบางวัน ขณะที่สายสีม่วง “เตาปูน-คลองบางไผ่” ไต่ระดับจาก 31,501 เที่ยวคนต่อวัน แตะอยู่ที่ 47,655 เที่ยวต่อวัน

“สมบัติ กิจจาลักษณ์” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ระบุว่า จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้สถานการณ์โดยรอบเริ่มตื่นเต้นขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นสิ่งที่บริษัทคาดการณ์ไว้ตั้งแต่แรกก่อนที่รัฐบาลจะใช้มาตรา 44 มาแก้ไขปัญหาถึง 2 ครั้ง

“แนวโน้มผู้โดยสารจะเพิ่มอย่างต่อเนื่อง การเดินรถขาดไป 1 สถานี เหมือนเดินทางบนสวรรค์ นั่งจากฝั่งหนึ่งข้ามนรกเพื่อมาเกาะสวรรค์อีกฝั่งหนึ่ง ก็ได้ผลคนใช้สายสีม่วงและน้ำเงินเพิ่มสายละ 2-3 หมื่นคน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็น คนจะแน่น ต้องปรับตารางเดินรถ 19 ขบวนที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่มความเร็ว วิ่งรถเปล่ามารับคนที่สถานีจตุจักร เพิ่มพนักงานประจำสถานีอำนวยความสะดวก”

ขณะเดียวกันบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ปรับไทม์ไลน์การเปิดบริการสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเปิดเร็วขึ้น 2 เดือน ช่วงหัวลำโพง-หลักสองจากตามสัญญาเดือน ก.ย.เป็น ก.ค. 2562 จะเร่งซีเมนส์ส่งมอบรถไฟฟ้า 3 ขบวนแรกที่ผลิตจากโรงงานประเทศออสเตรียภายในปลายปี 2561 จากเดิมเดือน ก.พ. 2562 จะใช้เวลาทดสอบ 6 เดือน

ส่วนที่เหลือจะทยอยส่งมอบ 18 ขบวนในเดือน ก.ย. 2562 และครบ 35 ขบวนพร้อมกับเปิดบริการช่วงเตาปูน-ท่าพระในเดือน มี.ค. 2563 ทั้งนี้อยู่ระหว่างพิจารณาอาจจะเปิดเดินรถช่วงสุดท้ายนี้เร็วขึ้น โดยทยอยเปิดบริการตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นต้นไป

“เราลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซื้อระบบรถจากซีเมนส์เมดอินจากยุโรป เป็นโรงงานเดียวกับรถที่ใช้สายสีน้ำเงินเดิม เราให้ซีเมนส์ทำเร็กคอร์ดใหม่ผลิตให้ได้ 24 เดือน เราก็มีค่าธรรมเนียมเพิ่มให้ หากจะต้องขนส่งกันมาทางเครื่องบินก็ต้องยอมเพราะจะแก้ปัญหาทั้งหมดได้ต้องเพิ่มรถใหม่และต้องมาให้เร็ว แต่ รฟม.ก็ต้องเร่งรัดงานโยธาเช่นกัน”

เมื่อเปิดบริการครบจะทำให้สายสีน้ำเงินวิ่งบริการเป็นวงกลม ระยะทาง 47 กม. เชื่อมการเดินทางฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี ทำหน้าที่เหมือนเป็นระเบียงดึงคนจากชานเมืองเข้ามาทำงานในเมือง เพราะตามแนวสายสีน้ำเงินทั้งเก่าและใหม่มีที่อยู่อาศัย สำนักงาน ค้าปลีกและโครงการเป็นลักษณะมิกซ์ยูสเกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาและในอนาคต

“บิ๊กบอสบีอีเอ็ม” ย้ำว่า การเปิดเดินรถเชื่อมต่อ 1 สถานี ส่งผลดีต่อผลประกอบการของบีอีเอ็ม มีรายได้เพิ่มเป็น 7.72 ล้านบาทต่อวันจากเดิม 6.99 ล้านบาทต่อวัน เพราะคนขึ้นที่สถานีเตาปูนและเสียค่าแรกเข้าครั้งแรก คาดว่าจะทำให้ผลประกอบการในครึ่งปีหลังสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท จากครึ่งปีแรก มีรายได้รวม 7,505 ล้านบาท มาจากธุรกิจรถไฟฟ้า 2,230 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวม 1,432 ล้านบาท เติบโต 18.54% จากช่วงเดียวกันของปี 2559

“ปีนี้ทั้งปีคาดว่าผู้โดยสารสายสีน้ำเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2-3.5 แสนเที่ยวคนต่อวัน เพิ่ม 10% จากปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 2.8-2.9 แสนเที่ยวคนต่อวัน ปี 2561 เติบโต 5% อยู่ที่ 3.6 แสนเที่ยวคนต่อวันเพราะสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการเปิดบริการ ปี 2562 อยู่ที่ 3.8-3.9 แสนเที่ยวคนต่อวัน และเพิ่มแบบก้าวกระโดด 5 แสนเที่ยวคนต่อวันในปี 2563 ที่สายสีน้ำเงินเปิดบริการครบโครงข่าย ส่วนสายสีม่วงคาดว่าจะอยู่ที่ 1 แสนเที่ยวคนต่อวัน”

การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายแต่ละสายมีผลต่อระบบโครงข่ายจริง ๆ ซึ่งบริษัทขาดทุนต่อเนื่องมากว่า 10 ปีนับจากเปิดบริการวันแรก สถานการณ์เริ่มดีขึ้นหลังจากควบรวมธุรกิจกับทางด่วนภายใต้บริษัทบีอีเอ็ม ในปี 2560 เปิดสายสีม่วงเต็มปีทำให้บริษัทได้รับค่าจ้างเดินรถเต็ม จนทำให้ปีนี้ทั้งปีจะมีกำไรสุทธิเพิ่ม 20% อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 2,500 ล้านบาท ส่วนปี 2561 จะพิจารณาปรับค่าโดยสารตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) ในทุก 2 ปี

นอกจากนี้บีอีเอ็มอยู่ระหว่างเตรียมเงินลงทุนจำนวนหนึ่ง ปรับปรุงระบบจัดเก็บค่าโดยสารให้รองรับกับระบบตั๋วร่วมหรือบัตรแมงมุมของภาครัฐ รวมถึงบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย


รวมถึงมีความพร้อมและสนใจจะเดินรถไฟฟ้าสายใหม่ทั้งสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรีและสายสีม่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะที่รัฐบาลมีนโยบายจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนด้วย เพื่อเป็นโครงข่ายต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงที่บริษัทบริหารการเดินรถอยู่