บอร์ดรถไฟเคาะชื่อ “ITD-กรุงธนฯ” สร้างรถไฟไทย-จีน1.9หมื่นล้าน เจรจาสผ.ปลดล็อกEIAลุยเซ็นสัญญา

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟท. วันที่ 16 เม.ย. 2563 อนุมัติผลประมูลรถไฟไทย – จีน ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท จำนวน 2 สัญญา รวมมูลค่า 19,751 ล้านบาท ได้แก่ สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง มี บจ.กรุงธน เอ็นจิเนียริ่ง เสนอราคาต่ำสุด 9,838 ล้านบาท และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ที่มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เสนอราคาต่ำสุด 9,913 ล้านบาท ส่วนสัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา มี บจ.นภาก่อสร้าง เสนอราคาต่ำสุด 7,750 ล้านบาท บอร์ดยังไม่เห็นชอบ รอกรมบัญชีกลางตรวจสอบคุณสมบัติ คาดว่าจะเสนอให้บอร์ดเห็นชอบได้ในครั้งต่อไป

ขณะนี้ภาพรวมรถไฟไทย-จีน ทั้ง 14 สัญญา ก่อสร้างไปแล้ว 2 สัญญา คือ ช่วงกลางดง – ปางอโศก และ ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก กำลังเปิดประมูล 1 สัญญาคือ สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 7,664 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับแบบ 1 สัญญา คือ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง อยู่ระหว่างรออนุมัติผลการประมูล 3 สัญญาคือ สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย – กลางดง และปางอโศก – บันไดม้า สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง – สีคิ้ว และกุดจิก – โคกกรวด และสัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด – นครราชสีมา และรอเซ็นสัญญาอีก 7 สัญญา

“ในปีนี้จะได้ผู้รับเหมาครบทั้งหมด แต่การเซ็นสัญญาต้องรอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ผ่านการอนุมัติก่อน อยู่ระหว่างทำรายละเอียดเพิ่มเติมให้บอร์ดสิ่งแวดล้อมพิจารณา แต่เพื่อให้งานเดินหน้าได้เร็วจะหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.ขอเซ็นสัญญากับรับเหมาที่ไม่ติด EIA ไปก่อนเพื่อเริ่มงานก่อสร้าง”

นอกจากนี้ บอร์ดยังเห็นชอบขยายเวลาสัญญาที่ 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร มูลค่าสัญญา 50,633.50 ล้านบาทของรถไฟไทย-จีน ออกไปอีก 155 วัน นับจากวันที่จะหมดอายุสัญญาวันที่ 31 พ.ค.นี้ เนื่องจากเหตุสุดวิสัยจากการแพร่ระบาดโควิด-19 หลังจากนี้จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (คบร.) มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน รับทราบ ก่อนจะเสนอ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป