“นิรุฒ มณีพันธ์” จากนายแบงก์นั่งผู้ว่าการรถไฟ รื้อโครงสร้างคน-ที่ดิน-หนี้ 2 แสนล้าน

หลังไร้ตัวจริงมารันงานกว่า 2 ปี ในที่สุดคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย มี “จิรุตม์ วิศาลจิตร” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นั่งเป็นประธาน ได้จดปากกาเซ็นสัญญาจ้าง “นิรุฒ มณีพันธ์” มือกฎหมายและอดีตนายแบงก์ เป็นผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยคนที่ 29 อย่างเป็นทางการด้วยเงินเดือน 390,000 บาท เมื่อวันที่ 16 เม.ย. พร้อมเริ่มงาน 24 เม.ย.นี้

นับเป็นคนนอกคนที่ 3 ต่อจาก “ประภัสร์ จงสงวน” และ “วุฒิชาติ กัลยาณมิตร” ที่ข้ามห้วยมาบริหารรัฐวิสาหกิจเก่าแก่ 123 ปี ที่มีหนี้ติดตัวเพิ่มขึ้นตามอายุจนใกล้แตะ 2 แสนล้านบาท

พลันที่ชื่อ “นิรุฒ” ผงาดนั่งเป็นใหญ่ มีเสียงกังขาจะสามารถพลิกฟื้น “ร.ฟ.ท.” ให้พ้นจากสภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวได้มากน้อยสักแค่ไหน ท่ามกลางการเมืองต่างขั้วในรัฐบาลและความแตกแยกภายในองค์กรด้วยกันเอง

สำหรับ “นิรุฒ” มีดีกรีนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เกียรตินิยมอันดับสอง จบเนติบัณฑิตไทย คว้าปริญญาโท 2 ใบทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ Temple University เป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ก่อนจะผงาดเป็นผู้ว่าการการรถไฟฯ เคยดำรงตำแหน่งรองเอ็มดีสายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมาย และเลขานุการธนาคารกรุงไทย และรองเอ็มดีสายทรัพยากรบุคคลและกำกับกิจกรรมองค์กร บมจ.การบินไทย

“นิรุฒ” กล่าวว่า พร้อมเริ่มงานวันที่ 24 เม.ย.นี้ เพราะมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการอีกมาก โดยเฉพาะการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการและพนักงานของ ร.ฟ.ท.ที่ต้องทำงานบนขบวนรถไฟและสถานี เพราะไม่สามารถทำงานที่บ้านได้

จากนั้นจะเดินสายพบพนักงานและสหภาพรถไฟ เพื่อทำความรู้จัก รับฟังปัญหาอุปสรรคในการทำงาน โดยเฉพาะการดูแลปรับปรุงสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ที่พนักงานควรจะได้รับ

“ผมเข้ามาเป็นผู้ว่าการการรถไฟฯ ต้องการให้พนักงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะพนักงานถือเป็นหัวใจสำคัญจะผลักดันการรถไฟฯให้เดินหน้าต่อไปได้ และยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในการหารายได้ ขับเคลื่อนองค์กร ให้บริการด้านการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทั่วประเทศอีกด้วย”

“นิรุฒ” ย้ำเสียงหนักแน่น “ผมไม่ได้รู้สึกหนักใจกับปัญหาภาวะการขาดทุน เพราะเป้าหมายการทำงานต้องการเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว โดยขอเวลาศึกษารายละเอียดของแผนฟื้นฟู”

ขณะที่ประธานบอร์ดการรถไฟฯได้มอบนโยบายให้ผู้ว่าการป้ายแดง เร่งสางคดีโฮปเวลล์ ที่สำนักงานอาณาบาล ร.ฟ.ท. ร่วมกับกระทรวงคมนาคมดำเนินการอยู่ โดยให้เร่งดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อภาครัฐ อันเนื่องมาจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2562 กำหนดแนวทางการชำระหนี้ตามคำพิพากษา 2 แนวทาง

รวมทั้งการเร่งรัดดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการของ ร.ฟ.ท. ให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างกำลังจะก่อสร้าง จัดหารถจักรและล้อเลื่อน บริหารจัดการทรัพย์สิน บริหารจัดการองค์กรและพัฒนาระบบไอทีให้มีความสมบูรณ์

การที่ “บอร์ด” เร่งฟื้นฟูรถไฟให้เป็นไปตามแผน เพราะถ้าไม่เริ่มต้นในวันนี้ จะทำให้หนี้ที่ปัจจุบันมียอดสะสมกว่า 1.4 แสนล้านบาท พุ่งทะยานไปถึง 1.9 แสนล้านบาท ถ้าหากยังบริหารสไตล์เดิม ไม่ลุกขึ้นมา “เปิด-ปรับ-เปลี่ยน” ปฏิวัติภาพลักษณ์องค์กรโอกาสที่รถไฟไทยจะเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียน ในปี 2570 คงเป็นได้แค่ฝัน

ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีภารกิจด้านงานก่อสร้างเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากการที่ “รัฐบาล” โหมลงทุนระบบรางเพื่อขับเคลื่อนการลงทุน เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ ในการก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟสแรกกว่า 1 แสนล้านบาท

ยังเหลืองานก่อสร้าง 5 เส้นทาง จะทยอยเสร็จ 2564-2565 ซึ่งเป็นงานเฉพาะหน้าผู้ว่าการการรถไฟฯคนใหม่ ต้องสปีดการใช้งบฯลงทุนที่ “รัฐบาลประยุทธ์” อัดให้เต็มสตรีมให้เป็นไปตามแผนงาน ให้เงินหมุนเข้าระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว ควบคู่กับการเสริมกำลังคนให้เข้าไปรองรับงานที่เพิ่มพูนขึ้น

อีกภารกิจสำคัญ สางปัญหาเก่าที่ค้างคาให้จบโดยเร็ว ไม่ว่าการเคลียร์พื้นที่วางตอม่อ “ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน” ที่กลุ่ม ซี.พี.ทุ่มเงินสร้างกว่า 2 แสนล้าน รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-โคราช ยังติดรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้เดินหน้าเซ็นสัญญาครบตลอดสาย

เร่งอัดฉีดเงินอีกกว่า 1.1 หมื่นล้าน ปิดจ็อบงานก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต” เปิดให้บริการในเดือน ม.ค. 2564 ได้ตามเป้า

ขณะที่งานใหม่รอกดปุ่มประมูลปีนี้ มีสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ 6,570.40 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 10,202.18 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 6,645.03 ล้านบาท สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง รวมระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท

รถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 9 เส้นทาง วงเงิน 415,646.9 ล้านบาท ได้แก่ ปากน้ำโพ-เด่นชัย 59,399.8 ล้านบาท เด่นชัย-เชียงใหม่ 54,470.02 ล้านบาท ขอนแก่น-หนองคาย 25,842 ล้านบาท จิระ-อุบลราชธานี 36,683 ล้านบาท ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 23,080 ล้านบาท สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา 56,114.26 ล้านบาท หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 7,864.49 ล้านบาท บ้านไผ่-นครพนม 66,848.33 ล้านบาท และเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 85,345 ล้านบาท

การสร้างรายได้เพิ่มจากการพัฒนาที่ดินในกรุ 39,419 ไร่ มูลค่า 3 แสนล้าน ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งย่านสถานีกลางบางซื่อ 1,100 ไร่ สถานีแม่น้ำ 227 ไร่ โรงแรมหัวหิน 72 ไร่ หลังคิดและพูดกันมานานหลายปีดีดัก

เป็นภารกิจโหดหิน รอพิสูจน์ฝีมือผู้ว่าการการรถไฟฯคนที่ 29 กำลังจะเริ่มต้นนับจากนี้