4 โลว์คอสต์พร้อมบินรับ “เปิดเมือง” รถทัวร์พร้อมวิ่งทั่วไทย

หลังรัฐบาลเตรียมปลดล็อก-เปิดเมืองในบางพื้นที่เพื่อรีสตาร์ตธุรกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศขยับไปก้าวหน้า ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

โดยรัฐ-เอกชนรอดูท่าทีและความชัดเจนจากรัฐบาลที่จะประกาศไทม์ไลน์ออกมาอย่างชัดเจน คาดกว่าก่อนวันที่ 30 เม.ย.นี้ น่าจะมีข้อสรุปออกมา ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย.นี้ ระยะเวลาเคอร์ฟิว จะมีการขยายเวลาออกไปอีกหรือไม่ รวมถึงการผ่อนปรนให้ธุรกิจบางประเภทเปิดดำเนินการได้

ในส่วนของภาคการเดินทาง คาดว่าจะเริ่มกลับมาคึกคักในเดือน พ.ค.นี้ ล่าสุดผู้ประกอบการสายการบินโลว์คอสต์เตรียมเปิดบินอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป แต่อยู่ภายใต้มาตรการคุมเข้มโควิด-19 เช่น เว้นระยะห่างที่นั่ง ห้ามขายอาหาร เป็นต้น

@กพท.ติวเข้ม 20 สายการบิน

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสายการบินบางส่วนแจ้งพร้อมกลับมาให้บริการตามปกติอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ค.นี้ คือ สายการบินไทยแอร์เอเชียและไทยไลอ้อนแอร์ โดยเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2563 ได้เชิญตัวแทนสายการบินต่าง ๆ ที่ให้บริการในประเทศไทย จำนวน 20 สายการบิน เพื่อแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการกลับมาเปิดให้บริการบินเส้นทางในประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนและลดความเสี่ยงจากการเดินทางไกลด้วยรถโดยสาร

ได้เน้นย้ำข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการทางด้านสาธารณสุข จะต้องมีเพิ่มเติมจากมาตรการที่มีอยู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องที่สายการบินจะต้องขายตั๋วโดยสารแบบที่นั่งเว้นที่นั่ง ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ยกเว้นเครื่องบินขนาดเล็กที่จะจำกัดอัตราบรรทุกผู้โดยสารไม่เกิน 70% พร้อมกับการเริ่มกระบวนการทางสาธารณสุขอย่างเข้มงวด นับตั้งแต่การต่อคิวเพื่อรับตั๋วโดยสารไปจนถึงการขึ้นสะพานเทียบเครื่องบิน หรือระยะห่างบนรถบัสโดยสารสำหรับขึ้นเครื่อง เป็นต้น

ขณะเดียวกันผู้โดยสารทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาการเดินทาง รวมถึงระหว่างอยู่บนเครื่องบิน หากผู้โดยสารไม่สวมหน้ากากอนามัยจะไม่อนุญาตให้เดินทาง และจะไม่มีการบริการอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบิน อย่างไรก็ตามหากผู้โดยสารมีความจำเป็นจริงๆ จะต้องแจ้งลูกเรือเท่านั้น นอกจากนั้น ในเส้นทางบินที่ใช้เวลาทำการบินเกินกว่า 20 นาที สายการบินต้องกันที่นั่ง 2 แถวสุดท้ายไว้สำหรับการกักตัวผู้โดยสารที่มีอาการป่วยกะทันหันด้วย

@เปิดทางขึ้นค่าตั๋ว 100%

นายจุฬากล่าวด้วยว่า อีกประเด็นต้องมีการพุดคุยกับผู้ให้บริการสายการบินให้ชัดเจนคือ การกำหนดราคาตั๋วโดยสารของสายการบิน โดยเพดานราคาโดยสารจะเป็นอัตราเดิม แต่ราคาตั๋วโดยสารคงมีการปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากสายการบินมีข้อจำกัดเรื่องอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าราคาตั๋วโดยสารบางเส้นทางอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 100% ในกรณีที่ตั๋วโดยสารอยู่ในอัตราไม่ถึง 1,000 บาทต่อเที่ยว อาจเพิ่มเป็น 2,000 บาทต่อเที่ยว เป็นต้น

“คงต้องพิจารณาด้วยว่าราคาตั๋วโดยสารที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับดีมานด์ของผู้โดยสารหรือไม่ หากขึ้นราคาตั๋วแต่ไม่มีผู้โดยสารก็ไม่มีประโยชน์ แต่ละสายการบินอาจจะพิจารณาโปรโมชั่นราคาตั๋วโดยสารของตนเองอยู่แล้ว” นายจุฬากล่าวและว่า

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเชื่อว่าทุกสายการบินจะยังพยายามกลับมาเปิดให้บริการตามปกติอีกครั้ง เพื่อเร่งหารายได้มาแสดงกับธนาคารที่ขอกู้สินเชื่อมาเพื่อใช้หมุนเวียนใช้จ่าย ที่สำคัญมองว่าหลังจากนี้ทุกสายการบินน่าจะต้องปรับแผนธุรกิจใหม่กันทั้งหมด

@ไทยไลอ้อนแอร์-นกแอร์จ่ออัพราคา

ด้านนางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า ในช่วงแรกจะเปิดให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศจำนวน 6 เส้นทางไปยังเมืองหลักๆ อาทิ เชียงใหม่, หาดใหญ่, สุราษฎธานี เป็นต้น แม้มาตรการขายที่นั่งเว้นที่นั่งจะส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะไม่คุ้มทุน แต่คาดว่าจะสามารถขายตั๋วโดยสารได้ในราคาที่สูงกว่าที่ผ่านมา

“ปกติอัตราการบรรทุกที่คุ้มทุนจะอยู่ประมาณ 60% และการจัดที่นั่งโดยสารแบบที่นั่งเว้นที่นั่งน่าจะสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ราว 60% เช่นเดียวกัน เมื่อรวมเข้ากับราคาตั๋วโดยสารที่เพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสที่สายการบินจะสามารถไปถึงจุดคุ้มทุนเมื่อเปิดให้บริการตามปกติบางเส้นทางบิน” นางนันทพรกล่าว

นายรัช ตันตนันตา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ กล่าวว่า ขณะนี้สายการบินนกแอร์ยังไม่ได้พิจารณาจุดคุ้มทุนใหม่หลังการกำหนดให้ขายตั๋วโดยสารแบบที่นั่งเว้นที่นั่ง แต่คาดว่าราคาตั๋วโดยสารคงไม่ต่ำเท่ากับในอดีตที่มีการแข่งขันด้านราคากันสูงมากแน่นอน และเชื่อว่าราคาขายตั๋วโดยสารนับจากนี้เป็นต้นไปจะเป็นราคาตามต้นทุนจริงๆ ซึ่งต่างกับที่ผ่านๆ มาที่การเปิดเสรีส่งผลกระทบให้ต่อการแข่งขันทางด้านราคาอย่างมาก

“ที่ผ่านมาตั๋วโดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำในประเทศไทยถูกกว่าสายการบินต้นทุนต่ำในยุโรปมาก หรือเรียกได้ว่ามีราคาแค่ 1 ใน 3 ของสายการบินต้นทุนต่ำในยุโรปเท่านั้น ทำให้หลังจากนี้เมื่อไม่สามารถแข่งขันกันด้วยปัจจัยทางด้านราคาได้แล้วเชื่อว่าอุตสาหกรรมการบินก็จะเปลี่ยนไปด้วย” นายรัชกล่าว

@4 โลว์คอสต์ขอบิน 30 เที่ยวตลอด พ.ค.นี้

นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังรัฐบาลในนามของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ได้ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. และจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.นั้น ขณะนี้มีอสายการบินในประเทศที่แจ้งว่าพร้อมจะกลับมาทำการบินปกติตลอดเดือน พ.ค.จำนวน 4 สายการบิน รวมประมาณ 30 เที่ยวบิน ได้แก่ นกแอร์ แอร์เอเชีย ไทยเวียตเจ็ต และไลออนแอร์ จากปัจจุบันจะมีเฉพาะนกแอร์ที่ยังคงบินอยู่ทุกวัน

โดยบินจากสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินลำปาง แม่สอด พิษณุโลก บุรีรัมย์ สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดหัวเมืองใหญ่ และคนยังมีการเดินทาง แต่กรมยังปฎิบัติตามมาตรการคุมเข้มการระบาดโควิด-19 ทุกอย่าง

“ขณะนี้มีบางจังหวัดที่ประกาศปิดเมือง (Lockdown) เช่น นราธิวาส ปัตตานี ระนอง ตาก เชียงราย และน่าน เป็นต้น จึงต้องตรวจสอบก่อนว่า เมื่อสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 30 เม.ย.นี้ จะมีการพิจารณาต่ออายุมาตรการปิดเมืองดังกล่าวออกไปหรือไม่ หากไม่มีกรมก็พร้อมจะกลับมาให้บริการตามปกติทันที เพราะขณะนี้ตามสนามบินต่าง ๆ แม้จะไม่มีบริการทางการบิน  แต่ก็มีพนักงานสแตนบายด์ทำงานตลอดเวลา เพราะสนามบินไม่ได้ปิด ยังเปิดบริการตามเวลาราชการ ตั้งแต่ 08.30-16.30 น.”

@ขนส่งเตรียมแผนเปิดเดินรถโดยสาร

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า กรมมีการเตรียมแผนในการกลับมาให้บริการต่าง ๆ ด้านขนส่งแล้ว โดยเฉพาะการวางแผนเปิดเดินรถในเส้นทางข้ามจังหวัดต่าง ๆ แต่ยังไม่ได้ระบุเส้นทางที่ชัดเจน เพราะต้องดูสถานการณ์แต่ละจังหวัดด้วยว่า จะยังคงมาตรการปิดเมืองหรือเข้มงวดในการเดินทางเข้าออกจังหวัดหรือไม่ รวมทาง ศบค. เองจะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ด้วย

ส่วนการให้บริการรถโดยสารประจำทาง ขสมก. ตอนนี้ยังไม่มีการปรับแผนเดินรถใหม่ ยังวิ่งให้บริการระหว่าง 04.00 – 21.30 น.ตามเดิม ซึ่งสอดคล้องกับเวลาที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศระหว่าง 22.00-04.00 น ซึ่ง ขสมก.เองก็เตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนเวลาเดินรถไว้แล้วกรณีที่มีการปรับเปลี่ยนเวลาเคอร์ฟิว ซึ่งขึ้นอยู่กับ ศบค. ด้วยว่าจะผ่อนคลายมาตรการเคอร์ฟิวหรือไม่

“หากไม่มีการคงมาตรการใด ๆ อีก ก็จะมีการเสนอแผนดังกล่าวให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับการคมนาคมและการขนส่งทั่วราชอาณาจักรพิจารณาให้ความเห็นชอบ ให้ความเห็นขอบในลำดับถัดไป”

@รถทัวร์ บขส.พร้อมเปิดเดินรถ

นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า เตรียมพร้อมจะเปิดจองตั่วโดยสารให้กับประชาชนไว้แล้ว รอการประกาศปลดล็อกต่าง ๆ จากรัฐบาล ให้ชัดเจนก่อน ว่าให้ดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้การเดินทางจะต้องดูเรื่องของปริมาณผู้โดยสารที่ซื้อตั่วโดยสารด้วย ถ้าไม่มากก็คงไม่เปิดการเดินรถในเส้นทางนั้น ๆ เพราะคงไม่คุ้มทุน และต้องดำเนินการขายตั๋วตามมาตรการคุมการระบาดโควิด-19 เช่น เว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น ซึ่งจะทำให้จุผู้โดยสารต่อเที่ยวลดลงอยู่แล้ว 50% รวมถึงหากรัฐยังไม่ผ่อนปรนการเคอร์ฟิว ก็คงเดินรถระยะยาวเกิน 300 กม.ไม่ได้

“ผู้ประกอบการเดินรถรอดูความชัดเจนจากรัฐบาลและการประกาศของแต่ละจังหวัดอยู่เหมือนกัน ว่าจะผ่อนปรนยังไงได้บ้าง ตอนนี้ยังตอบชัด ๆ ไม่ได้ว่า ตั้งแต่ 1 พ.ค.จะกลับมาเปิดเดินรถได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามหากเปิดเดินรถได้ จะยังคงคุมเข้มการป้องกันโควิดอย่างต่อเนื่อง”

@นครชัยแอร์รายได้หาย 150 ล้าน/เดือน

นางเครือวัลย์ วงศ์รักมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด เปิดเผย ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันหยุดเดินรถทุกเส้นทาง ให้สอดรับกับมาตรการคุมเข้มการระบาดโรคโควิด-19 ของรัฐบาล และกำลังรอฟังประกาศจากรัฐบาลจะให้เปิดเมืองและให้ประชาชนเดินทางได้เมื่อไหร่ ซึ่งบริษัทพร้อมที่จะกลับมาเดินรถอีกครั้ง

“เรามีรถอยู่ 386 คัน ตอนนี้จอดไว้เฉย ๆ เพราะเราหยุดการเดินรถทุกเส้นทาง ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทหายไปจำนวนมาก จากเดิมจะมีรายได้จากค่าโดยสารเดือนละ 150 ล้านบาท ตอนนี้ไม่มีรายได้เลย มีจากค่าขนส่งพัสดุเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ซึ่งได้รับผลกระทบกันทุกคน ไม่ใช่นครชัยแอร์เจ้าเดียว ทุกคนต้องช่วยกันให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด ถึงเราจะลำบากก็ต้องสนับสนุนมาตรการของรัฐ และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐออกมาตรการช่วยผุ้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้พนักงานของเรามีอยู่ 1,500 คนที่ว่างงานได้รับการเยียวยาไปด้วย”

นางเครือวัลย์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในส่วนบริษัทก็เตรียมจะยื่นขอรับการเยียวยาจากภาครัฐบาล ที่จะดูแลผู้ประกอบการด้านการขนส่ง เช่น การชำระหนี้ เป็นต้น

@คมนาคมออกมาตรการเยียวยา

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คมนาคมมีมาตรการเยียวยา และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากการที่รัฐบาลได้มีแนวทางการป้องกันการระบาดของโรค ด้วยการจำกัดและควบคุมการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะในระบบขนส่งสาธารณะ รวมทั้งมาตรการ Social Distancing และการส่งเสริมการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ส่งผลให้ปริมาณผู้ใช้บริการระบบขนส่งลดลง ผู้ประกอบการด้านคมนาคมขนส่งประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องและเกิดการเลิกจ้างแรงงาน

โดยมีมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ในทุกรูปแบบการเดินทาง ได้แก่ 1. การลดค่าธรรมเนียมการใช้บริการภายในสนามบิน 28 แห่ง เพื่อเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในสนามบินและสายการบิน ประกอบด้วย ค่าบริการขึ้น – ลงอากาศยาน (Landing charge) ค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking charge) ค่าเช่าพื้นที่ภายในสนามบิน ค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้กับผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ภายในสนามบิน ค่าบริการการเดินอากาศ (Air navigation service charge) ที่ถูกเรียกเก็บจากผู้ให้บริการการเดินอากาศ และค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศ (Regulatory fee) ที่เรียกเก็บจากสายการบิน

2. การดูแลและเยียวยาผู้เช่าพื้นที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สำหรับผู้เช่าพื้นที่ที่ถูกสั่งปิดตามประกาศกรุงเทพมหานคร/รัฐบาล ให้ยกเว้นการชำระค่าตอบแทนการใช้พื้นที่ ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าบริการ และค่าบำรุงรักษาส่วนกลาง เป็นเวลา 2 เดือน หรือพิจารณาขยายระยะเวลาตามสถานการณ์ ส่วนผู้เช่าพื้นที่ที่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติแต่มีผู้ใช้บริการลดลง ให้ลดค่าตอบแทนการใช้พื้นที่ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าบริการ และค่าบำรุงรักษาส่วนกลาง ร้อยละ 50 เป็นเวลา 4 เดือน
และ 3.การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งและผู้ประกอบการอาชีพขับรถสาธารณะ ให้พักชำระหนี้ได้ 3 – 6 เดือน และขอขยายเวลาชำระ