เริ่มทดลอง ต.ค.นี้ กล้องตรวจจับทะเบียนรถเก็บค่า”มอเตอร์เวย์-ทางด่วน”ใช้จริงปีหน้า

“ทางหลวง” ล้ำผุดระบบ AI จ่ายค่ามอเตอร์เวย์ใหม่ชื่อ “M-FLOW” “ศักดิ์สยาม” แนะต้องบูรณาการให้รวมระบบเก็บค่าผ่านทางเป็นระบบเดียว ให้รวม “Easy Pass” ของ ”การทางพิเศษ” เข้ามาด้วย วางไทม์ไลน์ ต.ค.นี้ต้องทดสอบระบบ และใช้จริงให้ได้ภายในปี 64 ส่วนมาตรการแก้รถติดหน้าด่าน “ยกไม้กั้น-จัดเจ้าหน้าที่ดูแล” ยังดีไม่พอ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมทางหลวง (ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้รายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาจราจรหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางทางด่วนและมอเตอร์เวย์ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมในครั้งนี้ กรมทางหลวงมีความคืบหน้าในการปฏิบัติงานมากกว่า กทพ.

@เร่งแก้จราจรหน้าด่านเก็บเงิน

โดย ทล.ได้รายงานผลการศึกษาการดำเนินงานแก้ปัญหาจราจรหน้าด่าน ซึ่งทดลองกับทับช้าง 2 บนมอเตอร์เวย์สาย 9 (กาญจนาภิเษก) ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ต.ค. 2562 – มี.ค. 2563 โดยใช้วิธีการหลัก เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่จัดการจราจรหน้าด่าน ยกไม้กั้นในชั่วโมงเร่งด่วนเฉพาะกับด่านที่จัดเก็บเงินสด พร้อมกับการจัดกำลังเจ้าหน้าที่จัดเก็บหน้าด่านกรณีที่มีปริมาณรถหนาแน่น ซึ่งเป็นผลทำให้รถเคลื่อนตัวผ่านด่านเร็วขึ้น 14% และมีรถผ่านด่าน M-PASS เฉลี่ย 500 คัน/ชม.

“ส่วนตัวถือว่าดีขึ้น แต่ยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร ขณะที่ กทพ.รายงานเข้ามาเพียงว่า ได้ดำเนินการทดลองที่ด่านอโศก บนทางด่วนศรีรัช ซึ่งใช้วิธีแก้ไขปัญหาแบบเดียวกับ ทล. และได้ผลเช่นเดียวกัน คือมีปริมาณรถวิ่งผ่านด่านเร็วขึ้น 14%”

ส่วนมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนชำระค่าผ่านทางผ่านระบบ M-PASS และ Easy Pass เบื้องต้นมีเพียง ทล.ที่รายงานการจัดทำโปรโมชั่นเข้ามา โดยได้จัดโปรโมชั่นเติมเงินในบัตร M-PASS 1,000 บาท จะได้เงินคืน 150 บาท เริ่ม 1 เม.ย.-30 ก.ย.นี้ จำกัดจำนวน 20,000 สิทธิ์เท่านั้น โดยปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธิ์ไปแล้ว 4,081 สิทธิ์ และมียอดผู้สมัครบัตรเพิ่มขึ้น 5%

@จี้บูรณาการระบบ AI ร่วมกัน

ขณะที่การพัฒนาระบบ Free Flow โดยใช้ระบบ AI มาใช้ในการบริหารจัดการจราจรหน้าด่าน ซึ่งเป็นโมเดลที่ได้จากการไปดูงานที่ประเทศเกาหลีใต้เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ตนได้มอบนโยบายกับทั้งสองหน่วยแล้ว แต่ยังมีความกังวลว่า หากต่างคนต่างพัฒนาจะไม่เกิดการบูรณาการและทำให้ไม่เกิดการเชื่อมต่อกันระหว่างทั้งสองระบบ ซึ่งจะทำให้ประชาชนใช้งานไม่สะดวก จึงสั่งให้ทั้งสองหน่วยงานช่วยกันทำงาน ไม่ควรต่างคนต่างคิด โดยให้ทำเป็นระบบเดียวที่เรียกว่า “Single Planform System”

@”ทางหลวง” ล้ำผุด M-FLOW

“หน่วยงานที่มีความคืบหน้ามากที่สุด ยังเป็นกรมทางหลวง ได้คิดค้นระบบ M-FLOW โดยจะใช้ระบบ Video Tolling ลักษณะเป็นกล้องตรวจจับป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องหยุดบริเวณด่านจัดเก็บค่าผ่านทางอีก มีวิธีการทำงานคือ กล้องที่ติดตั้งไว้จะตรวจจับป้ายทะเบียนรถแต่ละคัน แล้วส่งข้อมูลกลับไปที่ซอฟต์แวร์ เพื่อประมวลผลเก็บค่าผ่านทาง โดยระบบจะจัดเก็บค่าผ่านทางแบบ Postpaid จะมีการส่ง E-Bill ในแอปพลิเคชั่นที่กำลังพัฒนาอยู่ ส่วนประชาชนที่เข้าถึงระบบแอปพลิเคชั่นไม่ได้ ก็จะมีใบแจ้งหนี้ส่งไปตามที่อยู่ที่ได้ลงทะเบียนไว้”

โดยปัจจุบันระบบ M-PASS มีปริมาณรถผ่านทางเฉลี่ย 500-800 คัน/ชม. คาดว่าหากใช้ระบบ M-FLOW จะทำให้ปริมาณรถผ่านด่านเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 คัน/ชม. และหากการกำหนดอัตราความสูงสุด 120 กม./ชม. สามารถบังคับใช้ได้ จะทำให้ปริมาณรถผ่านด่านเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 – 2,500 คัน/ชม. หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่าเลยทีเดียว

@จี้ ต.ค. ต้องเริ่มทดสอบระบบ

หลังจากนี้จะให้กรมทางหลวงต้องเริ่มทำการทดสอบระบบให้ได้ภายในเดือน ต.ค.นี้ และในอนาคตจะต้องพัฒนาระบบให้เชื่อมได้ทั้ง M-PASS และ Easy Pass ด้วย

ส่วนผู้ที่ไม่ชำระค่าผ่านทาง ให้แนวคิดไปว่าควรจะจ้างเอาต์ซอร์สเอกชนมารับความเสี่ยงในการติดตามผู้กระทำผิดแทน

ขณะเดียวกัน กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะต้องประสานงานด้านข้อมูลรถยนต์ด้วย เมื่อพบผู้ที่ไม่ชำระค่าผ่านทางหรือทำผิดกฎหมาย จะต้องมีมาตรการลงโทษเมื่อมีการต่ออายุทะเบียนรถ คาดว่าภายในเดือน มิ.ย. จะได้เห็นเป็นรูปธรรม และในปี 2564 ระบบนี้จะใช้ได้ทั้งมอเตอร์เวย์และทางด่วน