พ.ค.เซ็นบีทีเอส-หมอเสริฐสร้าง “อู่ตะเภา” 2.9 แสนล้าน-แอร์บัสเมินMROติดโควิด

“อนุอีอีซีชุดอุตตม” ชงผลคัดเลือก-ร่างสัญญาโครงการสนามบินอู่ตะเภา เสนอ ”บอร์ดอีอีซี” คาดลงนามได้ภายใน พ.ค.นี้ แจง “แอร์บัส” ไม่ลงทุน MRO เพราะติดโควิด

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้พิจารณาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าโครงการ 290,000 ล้านบาท

@เซ็นสัญญา พ.ค.นี้

โดยมีมติให้เสนอผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมทุนต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยเร็วที่สุด และคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาในเดือน พ.ค.นี้

คณะกรรมการคัดเลือกที่มีกองทัพเรือ (ทร.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบได้พิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว และได้ดำเนินการเจรจากับเอกชนและพิจารณาร่างสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว โดยใช้เวลาทำงานประมาณ 1 ปี 6 เดือน ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกไปแล้ว 17 ครั้ง และประชุมคณะทำงานเจรจาสัญญา 19 ครั้ง

สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จะมีพื้นที่พัฒนารวม 6,500 ไร่ มีเนื้องานที่เกี่ยวข้อง 6 กิจกรรม ประกอบด้วย 1.อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (Terminal 3) 2.ศูนย์ธุรกิจการค้าและขนส่งภาคพื้นดิน 3.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) 4.เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจต่อเนื่อง 5.ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ (Logistic Complex) และ 6.ศูนย์ฝึกอบรมด้านการบิน

ความสำคัญของโครงการนี้ คือ จะตั้งเป้าให้เป็นสนามบินกรุงเทพแห่งที่ 3 เชื่อมกับสนามบินเดิมอย่างดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อีกทั้งจะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาพื้นที่ธุรกิจที่อยู่ในข่ายอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ของอีอีซี และตัวโครงการวางให้อยู่กึ่งกลางของการพัฒนาเรียกว่า ”มหานครทางการบิน”

โดยมีพื้นที่พัฒนาเมืองประมาณ 30 กม. รอบสนามบิน รวมถึงเป็นการสานต่อนโยบายอีสเทิร์นซีบอร์ดด้วย และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คาดว่าใน 5 ปีแรกจะเกิดการจ้างงานประมาณ 15,000 คน และรัฐจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท/ปี

@ทวนขั้นตอนคัดเลือก

ด้านพลเรือตรีเกริกไชย วจนาภรณ์ รองปลัดบัญชีทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาให้กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ, บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง และ บมจ.ซิโนไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้เสนอเงินประกันรายได้ขั้นต่ำเป็นผลตอบแทนให้แก่รัฐดีที่สุด

จึงมีมติเชิญกลุ่ม BBS มาเจรจาและเปิดข้อเสนอซองที่ 4 (ข้อเสนออื่นที่เพิ่มประสิทธิภาพโครงการ) โดยอีอีซีมีมติให้ตั้งคณะทำงานเพิ่มอีก 2 คณะ คือ คณะทำงานด้านเจรจาและคณะทำงานด้านเทคนิค เพื่อร่วมทำงานในการเจรจาครั้งนี้ จนในที่สุดเมื่อวันที่ 13 เม.ย. คณะกรรมการคัดเลือกจึงมีมติเห็นชอบผลการเจรจากับกลุ่ม BBS และให้เสนอร่างสัญญาต่ออัยการสูงสุด ซึ่งจะมีการรายงานผลการเจรจาและร่างสัญญาต่อที่ประชุม กพอ.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

@แจงยิบ ”แอร์บัส” เมิลงทุน MRO

ขณะที่นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองเลขาธิการสายงานโครงสร้างพื้นฐาน. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า กระแสข่าวที่ว่า แอร์บัสจะไม่ร่วมลงทุนใน MRO ของการบินไทยแล้วนั้น ต้องเรียนว่า ที่แอร์บัสไม่มาร่วมลงทุนนั้นมีปัญหาติดขัดอยู่ 2 ประการ คือ 1. ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยแม้ว่าจะไม่ร่วมลงทุนแล้ว แต่แอร์บัสยินดีที่จะแบ่งปันโนว์ฮาวด้านเทคโนโลยีการบินอย่างเต็มที่ ทำให้ตอนนี้การบินไทยมี 2 ทางเลือกที่จะต้องตัดสินใจ คือ 1.ยังเปิดให้เอกชนรายอื่นเข้ามาร่วมลงทุน 2.การบินไทยดำเนินการเอง และ 3.รอแอร์บัสหรือโบว์อิ้งเข้ามาร่วมลงทุน หลังภาวการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 น้อยลง ทั้งนี้ แม้การบินไทยจะยังไม่ตัดสินใจ แต่ทางผู้บริหารได้ให้คำตอบมาแล้วว่า จะผลักดันโครงการนี้ต่อไป เพราะมีผลกับรายได้ของบริษัทที่อาจจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในอนาคต

ส่วนการเชื่อมต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็ได้สรุปบทเรียนจากโครงการแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์บ้างแล้ว เบื้องต้น เห็นว่าการออกแบบสถานีรถไฟควรให้อยู่ใต้หรือตั้งให้เบียดกับอาคารผู้โดยสาร ดังนั้น เอกชนทั้งสองรายจะต้องมาคุยกันว่า ใครจะเป็นผู้ก่อสร้างโครงสร้างร่วม เพื่อเชื่อมทั้งสองโครงการเข้าด้วยกัน และใครจะเป็นผู้รับภาระต้นทุนการก่อสร้าง ซึ่งมีความสำคัญมาก