กพท.ออก “เงื่อนไข-เงื่อนเวลา” ใช้สนามบินปิด 1 ทุ่มเลื่อนตั๋วไม่เสียค่าใช้จ่าย 

เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2563 นายจุฬา  สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) ลงนามในประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย   เรื่อง เงื่อนไขและเงื่อนเวลาในการใช้ท่าอากาศยานเพื่อการขึ้นลงของอากาศยาน

โดยรายละเอียดระบุว่า ตามที่ได้มีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548(ฉบับที่ 5) ประกาศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2563 โดยในข้อ 2(3) กำหนดห้ามหรือจำกัดการดำเนินการหรือการทำกิจกรรมบางอย่างตามพระราชกำหนดและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 

ซึ่งครอบคลุมถึงห้ามผู้ใดใช้ท่าอากาศยานเพื่อการขึ้นลงของอากาศยาน เว้นแต่เป็นไปตามประกาศ เงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศกำหนด  

เพื่อประโยชน์ในการรักษาความต่อเนื่องของการบินพลเรือนและสนับสนุนการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ให้ยังคงดำรงอยู่ต่อไปเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปสู่พื้นที่อื่นและป้องกันมิให้ โรคกลับมาแพร่ระบาดใหม่ในพื้นที่ซึ่งเคยควบคุมได้ 

ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2(3) ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหาร ราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 5) ประกอบกับมาตรา 15/10(6) แห่งพระราชบัญญัติการ เดินอากาศ พ.ศ. 2497 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 ออกประกาศ กำหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลาในการใช้ท่าอากศยานเพื่อการขึ้นลงของอากาศยาน ดังต่อไปนี้  

1. รายชื่อท่าอากาศยานที่เปิดให้อากาศยานขึ้นลงได้ ให้เป็นไปตามบัญชีแนบท้ายประกาศนี้

2. ให้ท่าอากาศยานที่ให้บริการเฉพาะการบินภายในประเทศ เปิดให้อากาศยานขึ้นลงได้ เฉพาะระหว่างเวลา ๐7.๐๐ – 19.๐๐ น. ผู้ดำเนินการสนามบินอาจพิจารณากำหนดระยะเวลาการเปิดให้อากาศยานขึ้นลงได้ให้สั้นกว่าระยะเวลาตามวรรคหนึ่งได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม  

3. ให้ท่าอากาศยานที่ให้บริการทั้งการบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ เปิดให้อากาศยานขึ้นลงได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตจัดตั้งสนามบินหรือท้ายใบรับรองการดำเนินงาน สนามบินสาธารณะ หากท่าอากาศยานใดไม่มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาทำการ ให้เปิดให้อากาศยานขึ้นลงได้เฉพาะระหว่างเวลา ๐7.๐๐ – 19.๐๐ น.

4. ห้ามท่าอากาศยานตาม 3. ให้บริการแก่อากาศยานที่ขนส่งคนโดยสารจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย เว้นแต่อากาศยานนั้นจะเป็นประเภทใดประเภทหนี่งดังต่อไปนี้

(1) อากาศยานราชการหรือที่ใช้ในราชการทหาร (State or Military Aircraft)

(2) อากาศยานที่ขอลงฉุกเฉิน (Emergency Landing)

(3) อากาศยานที่ขอลงทางเทคนิค (Technical landing) โดยไม่มีผู้โดยสารออกจากเครื่อง

(4) อากาศยานที่ทำการบินเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ทำการบินทางการแพทย์หรือการขนส่งสิ่งของเพื่อสงเคราะห์แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19  (Humanitarian Aid, Medical and Relief Flights)

(5) อากาศยานที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินรับส่งบุคคลกลับประเทศไทยหรือกลับภูมิลำเนา (Repatriation)

(6) อากาศยานขนส่งสินค้า (Cargo Aircraft)

5. ท่าอากาศยานอาจเปิดให้อากาศยานขึ้นลงนอกระยะเวลาตามที่กำหนดตาม 2. หรือ 3. ได้ถ้าปรากฎว่าเป็นกรณีที่อากาศยานนั้นเป็นอากาศยานราชการหรือที่ใช้ในราชการทหาร (State or Military Aircraft) ขอลงฉุกเฉิน (Emergency Landing) หรือขอลงทางเทคนิค (Technical landing) โดยไม่มีผู้โดยสาร ออกจากเครื่อง

6. ให้ผู้ดำเนินการสนามบินปฏิบัติตามบรรดาข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการ กำหนด และประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศที่มีผล บังคับใช้กับท่าอากาศยานโดยเคร่งครัด

7. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ และมาตรการป้องกันโรคตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ กำหนด ให้ผู้โดยสารได้รับทราบในเวลาการจำหน่าย บัตรโดยสารและเมื่อผู้โดยสารแสดงตนก่อนขึ้นเครื่อง (Check in) หากผู้โดยสารแจ้งความประสงค์ขอเลื่อนการเดินทางออกไปเนื่องจากไม่พร้อมที่จะปฏิบัติตามมาตรการของจังหวัดตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศดำเนินการออกบัตรโดยสารให้ใหม่โดยไม่เสีย ค่าใช้จ่าย

8. ให้ผู้ดำเนินการเดินอากาศปฏิบัติตามบรรดาข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการ กำหนด และประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศที่มีผล บังคับใช้กับผู้ดำเนินการเดินอากาศโดยเคร่งครัด

9. ผู้โดยสารและบุคคลผู้เดินทางโดยอากาศยานจะต้องรับการตรวจคัดกรองและต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด ในท่าอากาศยานปลายทางและจังหวัดปลายทางที่ตนจะ เดินทางไปโดยเคร่งครัด

10. คำสั่งระงับการดำเนินงานของสนามบินหรือการอนุญาตให้หยุดการดำเนินงานสนามบินที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ออกหรืออนุญาตไปก่อนแล้วตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ รวมถึงข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขประกอบคำสั่งหรือการอนุญาตนั้น ให้ยังคงมีผลใช้ได้ต่อไปจนกว่าระยะเวลาตาม คำสั่งหรือการอนุญาตนั้นจะสิ้นสุดลง

 โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศอื่นเปลี่ยนแปลง