“คมนาคม”ปรับแผนขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดระงับรถทัวร์203เส้นทาง-รถไฟทางไกล

แจงผ่อนคลายล็อกดาวน์แนะดูรายจังหวัด “รถไฟฟ้า-การบิน” ขอประชาชนศึกษาข้อมูลล็อกดาวน์ซื้อตั๋วก่อนเดินทาง

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับการคมนาคมและการขนส่งทั่วราชอาณาจักร เปิดเผยว่า หลังจากประเทศไทยเข้ามาสู่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมกิจกรรมต่างๆ

โดยเฉพาะการประกาศเคอร์ฟิวในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องวางแผนปรับการให้บริการระบบขนส่งมวลชนในหลายรูปแบบทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ ซึ่งให้บริการประชาชนทั้งในรูปแบบระหว่างจังหวัดและภายในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด

@งดรถทัวร์-รถไฟวิ่งข้ามจังหวัด

ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงมีมาตรการต่างๆ ดังนี้

1.ออกประกาศถึงผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ให้งดการเดินทางข้ามจังหวัดรวม 203 เส้นทาง แบ่งเป็นรถหมวด 2 ถูกระงับไป 47 เส้นทาง และรถหมวด 3 ถูกระงับไป 156 เส้นทาง จากทั้งหมด 843 เส้นทางทั่วประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

2.การระงับการเดินรถไฟระหว่างจังหวัด ปกติมีจำนวนรถไฟที่ให้บริการเฉลี่ยวันละ 500 ขบวน ปัจจุบันปรับลดลงเหลือเพียง 43 ขบวน/วัน แบ่งเป็นสายเหนือ 4 ขบวน/วัน สายอีสาน 2 ขบวน/วัน สายใต้ 17 ขบวน/วัน สายตะวันออก 8 ขบวน/วัน และสายมหาชัย 12 ขบวน/วัน โดยเป็นการงดเว้นรถไฟทางไกลทั้งหมด เหลือไว้เพียงรถไฟที่วิ่งระยะสั้นๆ ไม่เกิน 300 กม.เท่านั้น

@คนแห่ใช้รถไฟฟ้าหลังผ่อนล็อกดาวน์

อย่างไรก็ตาม หลังวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการกิจกรรม 6 ประเภท ทำให้ประชาชนกลับมาใช้บริการขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากวันที่ 5 พ.ค. ทำให้เห็นว่าประชาชนแห่มาใช้บริการรถไฟฟ้าหนาแน่น และต้องขอโทษที่รถไฟฟ้ามีปัญหาขัดข้อง 3-4 ขบวนในวันดังกล่าว จนทำให้ผู้โดยสารตกค้างเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ หลังจากนั้นจึงได้มีการซักซ้อมวิธีปฏิบัติในการจัดการว่า จะทำอย่างไรให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกในการใช้รถไฟฟ้า และไม่เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 6-7 พ.ค. ก็พบว่า สถานการณ์ดีขึ้น ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคได้ดี แต่มีผู้โดยสารบางส่วนร้องเรียนว่า ยังต้องรอคิวรถไฟฟ้านาน

@เพิ่มความถี่รถน้อยกว่า 3 นาทีไม่ได้

ซึ่งกระทรวงขอยอมรับในข้อผิดพลาดดังกล่าว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวมาจากความจำเป็น เนื่องจากตามปกติแล้ว รถไฟฟ้า 1 ขบวนจะรับผู้โดยสารได้ 1,000-1,100 คน/ขบวน แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด ต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่าง จึงไม่สามารถอัดผู้โดยสารเข้าไปให้เต็มความจุของขบวนรถไฟฟ้าได้อีก เหลือเพียง 250 คน/ขบวน

ส่วนการเพิ่มความถี่ของขบวนรถไฟฟ้า ได้มีการปรับขบวนรถให้วิ่งได้เต็มพิกัด แต่ไม่สามารถเพิ่มขบวนรถได้ถี่มาก เพราะต้องมีการเว้นระยะการให้บริการขบวนรถแต่ละขบวนด้วย ซึ่งเร็วที่สุดอยู่ที่ 3 นาที/ขบวน ถ้าปรับลดลงน้อยกว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยในการให้บริการได้

นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่า ส่วนการโดยสารในหมดอื่นทั้งรถเมล์และเรือโดยสาร มีปัญหาผู้โดยสารแออัดเช่นกัน แต่ก็ต้องเน้นย้ำในเรื่องมาตรการควบคุมโรคต่อไป ทั้งการให้ผู้โดยสารต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ใช้บริการ และมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร

@เปิดเฉพาะเที่ยวบินในประเทศ

ส่วนการเดินทางทางอากาศ ในเดือน พ.ค. มี 5 สายการบินที่กลับมาทำการบินอีกครั้ง ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย, ไทยเวียตเจ็ท, บางกอกแอร์เวย์ส, นกแอร์ และไทยไลอ้อนแอร์ เว้นการบินไทยและไทยสมายล์ที่ยังของดทำการบินไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.นี้

และได้ดำเนินการเปิดสนามบิน 18 แห่ง ได้แก่ น่านนคร, พิษณุโลก, แพร่, แม่สอด, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ขอนแก่น , นครพนม, บุรีรัมย์, ร้อยเอ็ด, เลย, สกลนคร, อุดรธานี, อุบลราชธานี, ชุมพร, ตรัง, นครศรีธรรมราช และระนอง แต่เฉพาะเที่ยวบินภายในประเทศเท่านั้น

ส่วนเที่ยวบินจากต่างประเทศทั้งขาเข้าและขาออก ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของศูนย์ ศบค.ตามเดิม  สำหรับการบินภายในประเทศ สนามบินทั้ง 18 แห่ง จะเปิดบริการระหว่าง 7.00-19.00 น. เท่านั้น เพราะติดเงื่อนไขเคอร์ฟิว และเพื่อให้ประชาชนได้เผื่อเวลาเดินต่อไปให้ทันจุดหมายก่อนเคอร์ฟิวด้วย

“ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนศึกษาเงื่อนไขของแต่ละจังหวัดที่ท่านจะเดินทางว่ามีข้อกำหนดอะไรบ้าง บางจังหวัดอาจมีมาตรการควบคุมการเข้าจังหวัด ต้องใช้เอกสารรับรอง หรือบางจังหวัดต้องกักตัว ก็ขอให้ศึกษาข้อมูล ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมมีสายด่วน  1356 สำหรับรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ และถ้าเป็นบริการด้านขนส่งทางถนน สามารถติดต่อที่กรมการขนส่งทางบกสายด่วน 1584 ได้”