รมช.คลังลั่นอีกไม่เกิน 45 วัน กมธ.สรุปภาษีที่ดิน เล็งลดมูลค่ายกเว้นภาษีให้บ้านหลังหลักลง พร้อมลดอัตราภาษี สั่งกรมธนารักษ์เร่งเตรียมการประเมินราคาที่ดิน พร้อมให้นโยบายสนับสนุนที่ราชพัสดุใช้ในโครงการนโยบายรัฐ ทั้งการพัฒนาที่ดินแนวรถไฟเร็วสูง-สร้างที่อยู่อาศัยใน EEC-บ้านผู้สูงอายุ-บ้านผู้มีรายได้น้อย
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายผู้บริหารกรมธนารักษ์ ว่า ได้ให้นโยบายเตรียมการรองรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ตัวร่างกฎหมายน่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในปีนี้ แต่จะไปมีผลจัดเก็บภาษีตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ดังนั้นทางกรมธนารักษ์ต้องเตรียมพร้อม สำรวจที่อยู่อาศัย และบูรณาการกับท้องถิ่น กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เตรียมพร้อมภาคสนาม สำรวจราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างล่วงหน้า จะได้ไม่มีปัญหา
“ตอนนี้ก็มีการลงพื้นที่ต่อเนื่อง สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ภาคตะวันออก ต่อไปก็อาจจะเป็นสุราษฎร์ธานี เชียงราย เป็นต้น เพื่อทำความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการประเมินที่ดินรายแปลงน่าจะเสร็จภายในสิ้นปีนี้” นายวิสุทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นกรรมาธิการพิจารณารายละเอียดร่างกฎหมาย โดยน่าจะเสร็จในอีกไม่เกิน 45 วัน ซึ่งขณะนี้เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรจะลดมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัยหลังหลักที่จะได้รับยกเว้นภาษีลงจากเดิมกำหนดเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อขยายฐานภาษีได้กว้างขึ้น ขณะเดียวกันยังเห็นว่าควรจะลดอัตราจัดเก็บภาษีในระยะเริ่มต้นลงด้วย
“เราไม่ได้มุ่งเน้นรายได้ในระยะแรก แต่อยากให้เข้ามาอยู่ในฐานภาษีก่อน โดยเสียในอัตราที่บางอยู่ นอกจากจะมีความสามารถในการชำระแล้ว ก็ต้องให้เต็มใจด้วย แต่ทั้งนี้ ตอนนี้ยังไม่ตกผลึก” นายวิสุทธิ์กล่าว
นายวิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า ยังได้ให้กรมธนารักษ์เตรียมพร้อมในการสนับสนุนที่ดินราชพัสดุมาใช้ในโครงการที่เป็นนโยบายรัฐบาล อย่างเช่น การสร้างบ้านผู้มีรายได้น้อย บ้านผู้สูงอายุ โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน โครงการด้านจราจร เป็นต้น โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงต้องทำงานเชิงรุกในการสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเป็นเมืองอุตสาหกรรม และต้องมีสถานที่รองรับในการสร้างที่อยู่อาศัยให้คนที่ทำงานใน EEC
ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูง ที่จะมีสถานีตามเส้นทาง เป็นระยะ ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมา โดยกรมธนารักษ์ต้องทำงานร่วมกับทางกระทรวงมหาดไทย ในการพัฒนาชุมชนรอบสถานี และ การจัดหาจุดพักสินค้าระหว่างทาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจได้อีกราว 3%
“การพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ ต้องดูตลอดเส้นทาง และตลอดระยะเวลาสัญญา อย่างสัญญา 35 ปี ก่อสร้าง 4 ปี เหลืออีก 31 ปี ก็ต้องไปเตรียมการ โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักดูแลเรื่องผังเมือง การขยายตัวของเส้นทาง ส่วนกรมธนารักษ์ก็เตรียมการไว้ ซึ่งเราก็คิดว่าผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจอาจจะเพิ่มขึ้นได้ ถ้ามีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี เช่น ที่ปากช่อง เป็นต้น มีที่ราชพัสดุอยู่ ก็ไปดูเตรียมการจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร” นายวิสุทธิ์กล่าว