รถไฟฟ้าBTSแบกดอกเบี้ยเงินกู้บาน สายสีเหลือง-ชมพูเสร็จช้าทยอยเปิดต.ค.64

ติดส่งมอบพื้นที่ - รถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศไทย สายสีชมพูและสายสีเหลือง ล่าสุดมีการยืนยันจาก รฟม.แล้วแผนการก่อสร้างจะล่าช้าออกไปอย่างน้อย 1 ปี หลังกลุ่มบีทีเอสขอขยายอายุสัญญา คาดเปิดตลอดสายปี'65-66

“บีทีเอส” แบกต้นทุนดอกเบี้ย 3 พันล้าน สร้างรถไฟฟ้าชมพู-เหลืองดีเลย์ร่วมปี รฟม.มอบพื้นที่ให้ไม่ทัน เยียวยาแค่เวลา ปรับแผนเร่งสร้าง ตัดแบ่งเปิดบริการเป็นเฟส “มีนบุรี-วัดพระศรีฯ” และ “สำโรง-ศรีนครินทร์” รับทดสอบระบบรถถึงไทยปลายปีนี้ พร้อมเปิดตลอดสายปี’65-66 คาด พ.ค.-มิ.ย.เซ็นปิดดีลระบบมอเตอร์เวย์และเมืองการบิน 3.4 แสนล้าน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ยื่นหนังสือถึงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติการขยายสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เนื่องจากติดเรื่องการเข้าพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่ง รฟม.ส่งมอบให้ล่าช้า จากเดิมจะต้องสร้างเสร็จภายในปลายปี 2563 เปิดบริการตลอดสายในเดือน ต.ค. 2564

“เป็นการขอขยายสัญญาก่อนที่จะมีเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขอไปตามที่เราประเมิน แต่การอนุมัติจะให้เท่าไหร่อยู่ที่ รฟม.เป็นผู้พิจารณา อาจจะได้รับการขยายเวลาไม่เท่ากับที่เราขอไป แต่เราก็ต้องปรับแผนให้สอดรับกับระยะเวลา และขบวนรถที่จะมาถึงปลายปีนี้ เพราะการขยายเวลาจะกระทบต่อภาระดอกเบี้ยที่เรากู้เงินมาลงทุนโครงการ จะต้องเปิดบางช่วงที่พร้อมก่อนเพื่อนำรายได้มาชดเชยภาระดอกเบี้ยเงินกู้”

ทั้งนี้ รฟม.อนุมัติขยายเวลาของสายสีเหลืองให้ 265 วัน หรือประมาณ 9 เดือน ทำให้แผนการเปิดบริการตลอดสายขยับไปเป็นภายในปี 2565 แต่จะพยายามเร่งรัดงานโยธาเพื่อให้เปิดบริการบางส่วนได้ก่อน โดยอาจจะเปิดจากปลายทางที่สถานีสำโรงมายังศรีนครินทร์เชื่อมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ส่วนสายสีชมพูยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติขยายสัญญาก่อสร้าง แต่เนื่องจากยังติดเรื่องการส่งมอบพื้นที่อยู่หลายจุดและมีการขยับตำแหน่งสถานี อาจจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการงาน ทำให้การก่อสร้างจะล่าช้ากว่าสายสีเหลืองร่วมปี และกระทบต่อแผนการเปิดบริการตลอดสายขยับไปเป็นภายในปี 2566 ทั้งนี้ จะเร่งเปิดบริการช่วงสถานีมีนบุรี-สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ แหล่งข่าวจาก รฟม.เปิดเผยว่า กลุ่มบีทีเอสได้ยื่นขอเวลาก่อสร้างสายสีชมพูออกไปอีกประมาณ 1 ปี เนื่องจากติดเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งเอกชนจะรับภาระค่าใช้จ่ายต้นทุนก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเองทั้งหมด เช่น ภาระดอกเบี้ยเงินกู้แสนล้านที่เอกชนกู้มาลงทุนทั้ง 2 สายทาง จะมีดอกเบี้ย 3% หรือประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น

นายสุรพงษ์ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทรอเซ็นสัญญาจ้าง 30 ปี ติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงินมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงินรวม 39,138 ล้านบาท และโครงการพัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภาบนพื้นที่ 6,500 ไร่ ที่ร่วมกับบางกอกแอร์เวย์ส และซิโน-ไทยฯ ชนะการประมูลโดยให้ผลตอบแทนรัฐดีที่สุดตลอดอายุสัมปทาน 50 ปี มูลค่าร่วม 3 แสนล้านบาท คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะได้เซ็นสัญญาภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้ เนื่องจากต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ โดยงานระบบมอเตอร์เวย์จะใช้เงินลงทุนเบื้องต้นทั้ง 2 สายติดตั้งระบบและสร้างด่านเก็บเงิน ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท จะทยอยลงทุนภายใน 3 ปีนี้ และเริ่มงานไม่พร้อมกัน จะเริ่มสายบางปะอิน-นครราชสีมาก่อน จะใช้เงินลงทุนไม่มากหลัก 1,000 ล้านบาท ส่วนบางใหญ่-กาญจนบุรี คาดว่าจะเริ่มในปี 2564

สำหรับเมืองการบินอู่ตะเภา จะใช้เงินลงทุนในเฟสแรกประมาณ 40,000 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 รองรับผู้โดยสาร 16 ล้านคนต่อปี มากกว่าที่กำหนดไว้ 12 ล้านคนต่อปี พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และสร้างระบบต่อเชื่อมการเดินทางภายในโครงการ อาคารผู้โดยสารกับถนนด้านนอกโครงการและรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2565 เนื่องจากต้องรอการส่งมอบพื้นที่และรอการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอจะเตรียมการออกแบบรายละเอียดโครงการและหารือกับพันธมิตรถึงแผนการพัฒนาแต่ละกิจกรรม ในเฟสแรกจะใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี คาดว่าจะเปิดบริการในปี 2567 จากนั้นถึงจะดำเนินการในเฟส 2 ต่อไป ซึ่งจะมีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า APM เชื่อมต่อการเดินทางภายในโครงการด้วย

สำหรับแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีทั้งหมด 6 กิจกรรม ได้แก่ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ศูนย์การค้าและการขนส่งภาคพื้น ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่องการบิน ศูนย์ธุรกิจขนส่งทางอากาศและโลจิสติกส์ และศูนย์ฝึกอบรมการบิน