ครม.อนุมัติ 4,103 ล้านบาท รื้อย้ายสาธารณูปโภครองรับไฮสปีด 3 สนามบิน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถของไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างส่วนต่อขยาย 2 ช่วง คือ สถานีพญาไท-สนามบินดอนเมือง และสถานีลาดกระบัง -สนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมทางเข้าออกสนามบิน รวมระยะทางทั้งโครงการ 220 กิโลเมตร เป็นระยะทางที่ก่อสร้างใหม่ 191 กิโลเมตร ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ-สถานีอู่ตะเภา) และความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง (ช่วงสถานีดอนเมือง-สถานีสุวรรณภูมิ) มีด้วยกัน 9 สถานี ได้แก่ ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา เพื่อเป็นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและกระจายรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้าง 16,000 อัตรา และจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 100,000 อัตรา ในอีก 5 ปีข้างหน้า

“โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 พ.ค.63 ได้อนุมัติแผนงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคและก่อสร้างทดแทนในพื้นที่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน กรอบวงเงิน 4,103.608 ล้านบาท (เฉพาะหน่วยงานรัฐเจ้าของสาธารณูปโภค) โดยให้กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ และหน่วยงานภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ (ค่ายลูกเสือวชิราวุธ) ดำเนินการรื้อย้ายและสร้างทดแทน รวมทั้งสิ้น 349 จุด ส่วน ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และภาคเอกชนอื่นๆ จะดำเนินการรื้อย้ายและสร้างทดแทน โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง”

ทั้งนี้ ครม.ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการบริหารความเสี่ยงในขั้นตอนดำเนินงาน มีการกำกับติดตามการดำเนินงานและการใช้จ่ายงายประมาณให้เป็นไปตามแผน รวมถึงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนทั้งในด้านความเป็นอยู่และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากการดำเนินโครงการด้วย