4 รัฐมนตรีถกแผนฟื้นฟูการบินไทย เข้าสู่กระบวนการ ‘ล้มละลาย’

FILE PHOTO: Photo by Behrouz MEHRI / AFP

วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 เวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงคมนาคม มีการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงแผนฟื้นฟู บมจ.การบินไทย โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะกำกับกระทรวงคมนาคม, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกำกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเข้าร่วมประชุมด้วย แต่สุดท้ายทั้งสองคนไม่ได้มาร่วมประชุมด้วยแต่อย่างใด สำหรับการประชุมครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. ครึ่งจึงเลิกประชุม

ทั้งนี้ หลังการประชุม รัฐมนตรีทั้งหมดปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใด ๆ กับสื่อมวลชน โดยนายอนุทินกล่าวเพียงว่า การหารือในครั้งนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ในส่วนของกระทรวงคมนาคม เพื่อหาแนวทางที่จะทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ส่วนจะเลือกแนวทางการฟื้นฟูแบบใดนั้น ยังพูดไม่ได้เพราะบางเรื่องต้องผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) และการบินไทยเป็นบริษัทมหาชน จะไปพูดแทนไม่ได้

ขณะที่การให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 54,000 ล้านบาท ยังไม่มีการพูดถึงและส่วนตัวเชื่อว่าทำไม่ได้หรอก แต่จะหาแนวทางอื่นที่ทำให้เสียหายน้อยที่สุด สรุปคือมานั่งฟังแนวทางต่าง ๆ ก่อน ยังไม่ได้ตัดสินใจอะไร และทุกอย่างต้องรายงานพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก่อน เพราะเป็นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่

สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ที่ประชุมได้มีมติเกี่ยวกับแนวทางฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย 2 ประเด็นสำคัญ และจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจาณาในวันที่ 18 พ.ค.นี้ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 19 พ.ค.นี้ ประกอบด้วย

1.ให้เสนอ คนร.เพื่อให้มีมติให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท การบินไทย ให้ต่ำกว่า 50% เพื่อให้บริษัท การบินไทย พ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ

2.ให้เสนอ คนร.ทบทวนแผนฟื้นฟูกิจกการฯบริษัท การบินไทย ที่ คนร.เคยมีมติก่อนหน้า โดยเสนอให้ยกเลิกการค้ำประกันเงินกู้ระยะสั้นของบริษัท การบินไทย วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท รวมถึงยกเลิกการเพิ่มทุนบริษัท การบินไทย วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท และให้บริษัท การบินไทย ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯตามพ.ร.บ.ล้มละลายต่อไป

“เมื่อบริษัท การบินไทยยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯกิจการแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่กระทรวงการคลังต้องเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ของการบินไทยอีก รวมทั้งไม่จำเป็นต้องใส่เงินเพิ่มทุนแต่อย่างไร อย่างไรก็ตาม บริษัท การบินไทยจะต้องเสนอเสนอรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูฯต่อศาลและศาลจะมีคำสั่งเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาผู้ทำแผนต่อไป ส่วนการที่กระทรวงการคลังจะถือหุ้นในการบินไทยต่อไปหรือไม่ สัดส่วนเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับแผนฟื้นฟฯ” แหล่งข่าวกล่าว