ลุ้นสร้างปี’64 “หมอชิตคอมเพล็กซ์” มิกซ์ยูส 2.6 หมื่นล้านใต้ปีก “เสี่ยน้ำ”

ออกแบบแล้วเสร็จพร้อมเดินหน้าปัดฝุ่นโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส “หมอชิตคอมเพล็กซ์” หลัง “เสี่ยน้ำ มหฐิติรัฐ” เจ้าของ “บจ.ซันทาวเวอร์ส” และ “BKT-บจ.บางกอกเทอร์มินอล” เจรจาปิดดีลมหากาพย์กับกรมธนารักษ์คู่สัญญา

กว่าจะลงตัวใช้เวลากว่า 20 ปีเคาะอายุสัมปทานจบที่ 30 ปี ต่อสัญญาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี และเขย่ามูลค่าลงทุนใหม่มาหยุดสุดท้าย 26,916 ล้านบาท

โดยจ่ายผลตอบแทนให้กรมธนารักษ์ 550 ล้านบาท และค่าตอบแทนการใช้ที่ดินระหว่างก่อสร้าง 509,300 บาท ค่าเช่า 5 ปีแรกคิด 5.35 ล้านบาทต่อปี ปรับขึ้น 15% ทุก 5 ปี

สถานภาพโครงการล่าสุดอยู่ระหว่างทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติมตามมติ “ครม.-คณะรัฐมนตรี” แต่เพราะ “โควิด-19” ทำให้เลื่อนประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนออกไปจากเดิมในเดือน มี.ค.ออกไปไม่มีกำหนด

ส่งผลกระทบต่อไทม์ไลน์การเซ็นสัญญาเลื่อนตามไปด้วย เพราะภายใต้เงื่อนไขจะต้องให้ EIA ได้รับไฟเขียวก่อนถึงจะจดปากกา

ขณะเดียวกันในวงการกำลังเป็นที่จับตาการกลับมาของ “เสี่ยน้ำ” ฟื้นโปรเจ็กต์หมอชิตคอมเพล็กซ์บนที่ดิน 63 ไร่ จะดึงใครเข้าร่วมลงทุนด้วยหรือไม่ ด้วยทำเลมีศักยภาพ ใกล้บีทีเอสของเจ้าพ่อรถไฟฟ้า “คีรี กาญจนพาสน์” และแหล่งงาน

ก่อนหน้านี้ “ค่ายสิงห์เอสเตท” เคยสนใจหลังซื้ออาคารสำนักงาน “ซันทาวเวอร์ส” ด้วยวงเงิน 4,500 ล้านบาทเมื่อปี 2558

ล่าสุดมีเสียงยืนยันจาก “นริศ เชยกลิ่น” บอสใหญ่สิงห์เอสเตท “ยังไม่สนใจ เพราะเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และช่วงนี้บริษัทยังไม่มีแผนลงทุนโครงการใหญ่”

ด้าน “คีรี” กล่าวสั้น ๆ “ไม่สนใจ เพราะเป็นการพัฒนาบนที่เช่า ไม่คุ้มกับการลงทุน”

สำหรับรูปแบบโมเดลการพัฒนาวางเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมและคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ มี 1 อาคาร แบ่งเป็นอาคารด้านทิศเหนือสูง 36 ชั้น และอาคารด้านทิศใต้สูง 32 ชั้น มีใต้ดิน 4 ชั้น และพื้นที่ใช้สอยรวม 810,000 ตร.ม.

ภายในประกอบด้วย อาคารสำนักงาน อาคารที่พักอาศัย โรงแรม ศูนย์การค้า อาคารจอดรถ ศูนย์ประชุมและสถานีรับส่งผู้โดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด ที่มีข้อตกลงไว้จะกันพื้นที่ไว้ให้ 112,000 ตร.ม.ก่อนที่ บขส.จะย้ายไปจตุจักร

“สถานีขนส่งผู้โดยสาร” ตามที่ออกแบบไว้ จะเป็นสถานีจอดรับ-ส่งผู้โดยสารรูปแบบใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ใช้บริการชานชาลาร่วมกัน ลักษณะเดียวกับสนามบิน มีกำหนดเวลาเข้า-ออกสถานีของรถโดยสารตามตารางเวลา มีระบบการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้โดยสารโดยการแสดงข้อมูลรถโดยสารและชานชาลาด้วยระบบสารสนเทศ มีระบบการตรวจสอบตั๋วและตรวจความปลอดภัยที่ชานชาลาก่อนโดยสาร มีระบบตู้ขายตั๋วอัตโนมัติและออนไลน์

นอกจากนี้ยังสร้างทางเชื่อมต่อการเดินทางรอบทิศ แก้ปัญหาการจราจรโดยรอบ จำนวน 3 โครงการ 1.ทางยกระดับบนถนนพหลโยธินฝั่งขาออก สำหรับรถที่ออกจากโครงการมุ่งหน้าไปยังห้าแยกลาดพร้าว อำนวยความสะดวกกับผู้ที่ต้องการมุ่งไปทางทิศเหนือ สามารถบรรเทาผลกระทบด้านการจราจรของจุดกลับรถบริเวณแยกกำแพงเพชร และช่วยแบ่งเบาปริมาณจราจรถนนวิภาวดีรังสิต และเพื่อลดผลกระทบจราจรบริเวณห้าแยกลาดพร้าวยังมีแนวคิดจะขยายทางยกระดับไปลงบนถนนวิภาวดีรังสิตก่อนถึงด่านโทลล์เวย์ลาดพร้าว

2.ทางเชื่อมยกระดับด้านถนนพหลโยธิน ฝั่งมุ่งหน้าสะพานควาย เป็นทางยกระดับที่บูรณาการกับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงบริเวณถนนพหลโยธินและถนนกำแพงเพชร ผู้ที่เดินทางมาจากสะพานควายสามารถเลี้ยวซ้ายไปขึ้นทางยกระดับจากถนนกำแพงเพชร 2 เข้าสู่โครงการ ช่วยบรรเทาผลกระทบการจราจรของจุดกลับรถห้าแยกลาดพร้าว และยังเชื่อมต่อโครงข่ายกับพื้นที่ด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ

3.ทางเชื่อมยกระดับด้านถนนวิภาวดีรังสิตและดอนเมืองโทลล์เวย์ เป็นทางยกระดับเพื่อเชื่อมพื้นที่สถานีขนส่งในอาคารกับถนนวิภาวดีรังสิตกับโทลล์เวย์ รองรับรถโดยสารและรถยนต์ที่ใช้โทลล์เวย์เข้าออกโครงการ จะมีทางขึ้น-ลงเชื่อมกับถนนวิภาวดีรังสิตสำหรับรถที่ไม่ต้องการใช้ทางด่วน ช่วยบรรเทาผลกระทบด้านการจราจรที่เกิดจากรถโดยสารขนาดใหญ่ให้แยกใช้ทางยกระดับเข้า-ออกพื้นที่


โดยมีเป้าหมายจะเริ่มสร้างในปี 2564 ใช้เวลาสร้าง 5 ปี ถ้าไม่มีอะไรผิดแผน โปรเจ็กต์นี้จะแล้วเสร็จในปี 2568