เลื่อนแล้ว เลื่อนอีก! 3 อีเวนต์ใหญ่วงการอสังหาฯ ขยับยาวถึงปีหน้า

โควิด-19 พ่นพิษใส่อีเวนต์อสังหาริมทรัพย์อย่างจังอัพเดตล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม 2563 ผลกระทบไวรัสระบาดทำให้ 3 งานใหญ่แห่งปีจาก 3 ธุรกิจต้องประกาศเลื่อนจัดงานแบบ “เลื่อนแล้วเลื่อนอีก”

สถาปนิก’63 เลื่อนข้ามปี

เริ่มจากงานแรกที่สถาปนิกในประเทศไทยตั้งตารอคอย “งานสถาปนิก’63” ครั้งที่ 34 เดิมกำหนดจัดงานระหว่าง 28 เมษายน-3 พฤษภาคม 2563 ภายใต้ธีมงาน “มองเก่า ให้ใหม่ : Refocus Heritage” ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

งานนี้ทางผู้จัดงาน “นีโอ-บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด” จั่วหัวว่าเป็นงานแสดงสินค้าสถาปัตยกรรม วัสดุ และเทคโนโลยีการก่อสร้างใหญ่ที่สุดในอาเซียน

โดย “ดร.วสุ โปษยะนันทน์” ประธานจัดงานสถาปนิก”63 กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีความชัดเจนแล้วที่ปีนี้ไม่มีการจัดงานสถาปนิก”63 จากหลายสาเหตุ โดยเลื่อนไปจัดปีหน้าแทน และใช้ชื่อว่างานสถาปนิก”64 แทน

ดร.วสุ โปษยะนันทน์

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าเบื้องหลังการทำงาน อีเวนต์ใหญ่ต้องมีการจองพื้นที่ขนาดใหญ่เกิน 10,000 ตารางเมตร ทำให้เป็นการจองในลักษณะ “จองข้ามปี” เมื่อมีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถจัดงานได้ ดีลธุรกิจไม่สามารถขอเงินคืนจากเจ้าของพื้นที่ ดีที่สุดคือเลื่อนเวลาเท่านั้น

ปรากฏว่าจังหวะดีที่สุดคณะกรรมการจัดงานสถาปนิก”63 ต้องการเลื่อนไปช่วงปลายปี เพราะคาดว่าผลกระทบโควิดน่าจะเบาบางลง ประกอบกับเป็นช่วงไฮซีซั่น แต่มาสะดุดตารางการจองพื้นที่งานอื่น เรียกว่าโควตาพื้นที่เต็มแล้วในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

พื้นที่หด-ซัพพลายเออร์กังวล

ที่สำคัญ งานสถาปนิกทุกปีเป็นงานซูเปอร์แกรนด์ ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ เมื่อมีเหตุต้องเลื่อนทำให้หาที่ลงลำบากกว่างานขนาดเล็กกว่า ตารางเวลาที่พอจะเลื่อนมาจัดใหม่จึงอยู่ในเดือนกรกฎาคมแทน ซึ่งเป็นช่วงหน้าฝน

เหตุผลสำคัญกว่านั้นคือถูกลดพื้นที่ลง จากชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 หรือมี 3 ห้องใหญ่ เหลือเพียง 2 ห้องใหญ่ กลายเป็นเหตุผลมีน้ำหนักมากที่สุดที่ทำให้ตัดสินใจเลื่อนไปจัดปีหน้าเลยดีกว่า

“ตอนแรกที่ประกาศว่าจะจัดงานในเดือนกรกฎาคมก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่เราอยากได้มากนัก มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่จัดงาน ที่ว่างมันไม่มีเลย เรื่องเวลาช่วงกรกฎาคมจริง ๆ พอจะจัดได้แต่ต้องลดไซซ์ลงมาเหลือแค่ 2 ใน 3 พื้นที่หายไปเลย 1 ห้องใหญ่ ๆ จึงไม่ใช่เป็นทางเลือกที่แฮปปี้เท่าไร”

ต่อมา ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลื่อนงานยังรวมถึงเมื่อมีการซาวเสียงพันธมิตรวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งที่เป็นผู้ออกบูท เสียงตอบรับจากซัพพลายเออร์ก็ยังไม่มั่นใจสถานการณ์โควิดว่าจะคลี่คลายหรือไม่ ทำให้การจัดงานใหญ่พื้นที่ 2-3 หมื่นตารางเมตร ดูเหมือนไม่มีพื้นที่ว่างให้ลงตารางเวลาได้อีกแล้วในปีนี้ นำมาสู่การเลื่อนไปปี 2564 แทน

“งานสถาปนิก’64 เราจะไปทำให้เต็มที่ในปีหน้าไปเลย เพราะถ้าทำแล้วไม่เต็มที่ก็รู้สึกว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน โดยใช้เนื้อหาคอนเทนต์และการเตรียมงานจากแผนงานเดิมแล้วอัพเดตข้อมูลต่าง ๆ ให้ทันสมัย มี case study ของเรื่องราวตามช่วงเวลาที่เกิดขึ้น รวมถึงชื่องานจะมองในเรื่องของวิถีชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์โควิด กระทบต่อการก่อสร้าง ดีไซน์ที่เกี่ยวข้องกับสถาปนิกทั้งหมด เราจะมานำเสนอในงานนี้ด้วย คล้าย ๆ กับมองเก่าให้ใหม่ในวิถีใหม่ประมาณนี้”

เพิ่มบทบาทออนไลน์มากขึ้น

“ดร.วสุ” ระบุด้วยว่า วิถีการใช้ชีวิตสังคมไทยจะไม่เหมือนเดิม รูปแบบการจัดงานจึงคำนึง social distancing ต้องเป็น criteria ในการออกแบบงานด้วย

รวมทั้งการเพิ่มบทบาทช่องทางสื่อสารบนออนไลน์ เพราะสถานการณ์แบบนี้จำเป็นต้องคิดระบบอื่นเข้ามารองรับด้วย ปัจจุบันมีการประชุมออนไลน์อยู่แล้ว งานสถาปนิก”64 อาจจะ create แพลตฟอร์มในการซื้อขายที่สามารถติดต่อกับผู้ที่อยู่ในเครือข่ายของสมาคมสถาปนิกฯได้ทันที เช่น การจัดเวทีทอล์กโชว์ตามหัวข้อต่าง ๆ

“ส่วนหนึ่งภารกิจของสมาคมสถาปนิกฯก็คือเป็นการบริการทางด้านวิชาชีพ เราส่งเสริมให้สังคมหันมาเห็นคุณค่าและบทบาทสถาปนิกในมิติต่าง ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ได้แค่เฉพาะเป็นงานขายสินค้าอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราก็คงมุ่งในตรงนี้เป็นหลัก ทำอย่างไรที่สังคมกับสถาปนิกจะมาอยู่ใกล้กัน ทำความรู้จัก ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน”

รัฐจัดกลุ่มอีเวนต์ “โซนสีแดง”

ถัดมา “วรวุฒิ กาญจนกูล” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA-Home Builder Association) อธิบายว่า ปกติสมาคมจัดงานปีละ 2 ครั้ง แบ่งเป็นครึ่งปีแรกกำหนดจัดเดือนมีนาคม ไซซ์งานเล็กกว่าในชื่องาน Home Builder Focus พื้นที่ 3,000 ตารางเมตร มียอดออร์เดอร์สร้างบ้านในงาน 1,600-1,700 ล้านบาท

กับการจัดงานครึ่งปีหลังช่วงเดือนสิงหาคม ไซซ์งานใหญ่ขึ้นในชื่องาน Home Builder Expo โดยมีพื้นที่เพิ่มเติมรองรับพันธมิตรซัพพลายเออร์วัสดุก่อสร้างและตกแต่ง เช่น SCG รวมทั้งพันธมิตรด้านดีไซน์ต่าง ๆ ร่วมออกบูท เฉลี่ยมีออร์เดอร์สร้างบ้านในงานไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ล่าสุด การจัดงานเดือนมีนาคมได้ถูกยกเลิกออกไป ส่วนการจัดงานในเดือนสิงหาคมมีการเลื่อนเป็นเดือนตุลาคม 2563 แทน โดยจองพื้นที่จัดงานที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

วรวุฒิ กาญจนกูล

เหตุผลหลักที่ตัดสินใจเลื่อนจัดงาน Expo เพราะประเภทการจัดแสดงสินค้าอยู่ในโซนสีแดง เป็นอีเวนต์ที่มีผู้เข้าร่วมชมงานหลักพัน-หลักหมื่นคน ซึ่งหากรัฐบาลมีการปลดล็อกให้กลับมาทำธุรกิจได้เหมือนเดิมจะถูกจัดอันดับสุดท้าย ทำให้เงื่อนไขเวลากลายเป็นข้อจำกัดที่บริหารจัดการได้ยากที่สุด

“เรากลัวว่าถ้าเปิดประเทศจะเหมือนเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ถ้าโควิดกลับมาพีกอีกรอบหนึ่งเราก็จะลำบาก โซนสีแดงรัฐบาลจะอนุมัติเป็นรายสุดท้ายอยู่แล้ว จึงไม่รู้ว่าต้องบวกไปอีกกี่สเต็ป เพราะตอนนี้เพิ่งเปิดให้ธุรกิจสเต็ปแรกที่เป็นสีขาว แต่ละสเต็ปใช้เวลาประเมิน 15-20 วัน กว่าจะถึงรอบพิจารณาโซนสีแดงต้องใช้เวลา 3 เดือนแล้ว คิดว่าผู้ประกอบการเตรียมตัวไม่น่าจะทัน”

“รับสร้างบ้าน” วัดดวงปลายปี

“วรวุฒิ” กล่าวถึงอุปสรรคการเตรียมจัดงานด้วยว่า การจัดงานต้องเตรียมตัวนานพอสมควร ทั้งโปรโมตการตลาดล่วงหน้าหลายเดือน

“ความลำบากเป็นเรื่องการตลาดเพราะสมาชิกส่วนใหญ่เปิดไซต์ก่อสร้างบ้านที่เป็นออร์เดอร์ต่อเนื่องจากปี 2562 เป็นแบ็กล็อกในมือ วงรอบการทำธุรกิจคือไตรมาสสุดท้ายของปีเราต้องมีงานใหม่เข้ามาเพื่อรองรับการเปิดไซต์สร้างบ้านในปีหน้า”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ภาพรวมปี 2563 ดูเหมือนธุรกิจรับสร้างบ้านยังมีการเปิดไซต์ก่อสร้างได้ แต่ถ้าโควิดอยู่ยาวและสมาคมไม่สามารถทำการตลาดได้เต็มที่ ปี 2564 สมาชิกก็จะเริ่มลำบากเพราะไม่มีออร์เดอร์สร้างบ้านตุนในมือ อาจกระทบกับการจ้างงานในอนาคต บริษัทอาจต้องลดค่าใช้จ่าย

“ปกติการจัดงานของสมาคมครึ่งปีแรกมีออร์เดอร์ตุน 40% ครึ่งปีหลัง 60% พฤติกรรมลูกค้าก็เน้นมาดูในช่วงก่อนสิ้นปี แล้วต้นปีสร้างในช่วงหน้าแล้ง เทียบกับธุรกิจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยว โรงแรมโดนไปก่อน แต่ถ้าโควิดจบยังมีผลกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภค ธุรกิจรับสร้างบ้านจะมีปัญหาในเฟสหลัง ๆ ในช่วงท้าย ๆ ของโควิด”

คำนึง Social Distancing

การปรับตัวสามารถไปจัดอีเวนต์บนออนไลน์ได้ ถึงแม้ยอดออร์เดอร์มีสัดส่วนต่ำมากเมื่อเทียบกับการจัดอีเวนต์ออฟไลน์ แต่จำเป็นต้องทำเพื่อให้อย่างน้อยมียอดขายบางส่วนเข้ามาบ้าง เพื่อให้บริษัทรักษาสภาพการมีงานทำของพนักงาน ไม่ต้องปลดคนซึ่งเท่ากับไม่สร้างภาระให้กับประเทศในภาวะโรคระบาดโควิดโดยปริยาย

สำหรับรูปแบบการจัดงานแน่นอนว่าต้องคำนึงหลักการ social distancing เช่น ความแออัดของพื้นที่ การจัดบูทต้องมีสเปซให้เขาสามารถพูดคุย แบบมีระยะห่างพอสมควร จากเดิมการออกแบบบูทมีความถี่อาจจะต้องเพิ่มสเปซให้ห่างมากขึ้น เหมือนกับการนั่งทานอาหารในร้านที่จัดให้นั่งห่างโต๊ะเว้นโต๊ะ

“พื้นที่จัดงานปกติของเราหลวมอยู่แล้ว ทุกครั้งเรามีสเปซในส่วนทางเดินซึ่งเว้นไว้กว้าง ถ้าขยายพื้นที่บูทก็อาจลดพื้นที่ทางเดินได้ซึ่งเว้นกว้าง 6 เมตร พอจะปรับลดได้ ต้องวางผังกันใหม่”

มหกรรมบ้านฯปักหมุดพารากอน

สุดท้าย “ชัยรัตน์ ธรรมพีร” ประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 42 ระบุว่า งานมหกรรมบ้านและคอนโดเป็นอีเวนต์แห่งปีจัดโดย 3 สมาคมวงการพัฒนาที่ดิน ประกอบด้วยสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยกำหนดจัดงานปีละ 2 ครั้งช่วงต้นปีกับปลายปี

“ปี 2563 การจัดงานครั้งแรกเราเลื่อนไปเพราะโควิด ถามว่าจะจัดในเดือนตุลาคมหรือเปล่า ก็ต้องบอกว่าขอดูอีกสัก 1 เดือนก่อน เพราะประเมินสถานการณ์โควิดไม่ถูก ซึ่งเราจัดอีเวนต์ที่สยามพารากอน แล้วหลังจากเปิดแล้วคนจะเดินหรือเปล่าก็ยังไม่รู้อีก ถ้าจัดงานแล้วไม่มีคนมาจะกระทบการจัดงานและภาพลักษณ์มากกว่าไหม ถึงแม้เชื่อว่ายังมีดีมานด์เพราะที่อยู่อาศัยผู้ซื้อเป็นเรียลดีมานด์”

ชัยรัตน์ ธรรมพีร

การปรับตัวทางคณะกรรมการจัดงานกำลังพิจารณาว่ารูปแบบอาจจัดเป็นงานบนออนไลน์มากขึ้น เทรนด์ที่เห็นเริ่มมีการขายบ้านและคอนโดฯ บนออนไลน์มากขึ้น ก็เลยหารือกันว่าทำในนามสมาคมแล้วจัดเป็นแพลตฟอร์มขายออนไลน์ เอาทุกบริษัทมารวมกัน หัวข้อที่เมนต์กันเยอะคือจะเวิร์กหรือไม่เวิร์ก

“ตอนนี้ต้องรออย่างเดียว รอภาครัฐเรื่องของสาธารณสุขว่าควบคุมการแพร่กระจายโรคโควิดได้เท่าไร ถ้าประเมินแล้วการควบคุมวันนี้ดีขึ้นคิดว่าผลกระทบน้อยลง น่าจะมีคนเข้ามาเดินงานมากขึ้น คุ้มกับคนที่มาออกบูท คุ้มกับลูกค้าที่จะมาเดินช็อป เราก็อาจจัดงานตามกำหนด”