การบินไทย เหลือเงินหมื่นล้าน “ศักดิ์สยาม” ตั้งทีมการเมืองส่องแผนฟื้นฟู

“ศักดิ์สยาม” ร่ายยาวอัด”คลัง-อุตตม”ไม่ยอมแก้มติครม.ก่อนใช้อำนาจผู้ถือหุ้นให้”คมนาคม”กำกับแผนฟื้นฟู หวั่นคลังลดหุ้นน้อยกว่า 50% เสี่ยงขัดมติครม. ร้อนถึง”บิ๊กตู่”ส่ง”วิษณุ”ตั้งคณะทำงาน”หย่าศึก-กรองชื่อผู้ทำแผน” ดัน 4 อรหันต์ร่วมโต๊ะเนติบริกร ลุ้น ‪24 พ.ค.‬นี้ “บินไทย”ส่งรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟู เผยสถาพคล่องเหลือหมื่นล้าน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้บมจ.การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยศาลล้มละลายนั้น การมอบให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้กำกับดูแลแผนฟื้นฟู ต้องเกิดจากกระทรวงการคลังเป็นผู้เสนอความเห็นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) แล้วเสนอต่อจนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบด้วย

คมนาคมไร้อำนาจ

“กระทรวงไม่ได้มีปัญหาอะไร เพียงแต่มีข้อกังวลว่า หากกระทรวงการคลังลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% สถานภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจของการบินไทยจะสิ้นสุดลงทันทีและจะทำให้กระทรวงไม่มีอำนาจกำกับดูแลอีกต่อไป “

จึงได้เสนอให้กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้น ใหญ่ ทำหนังสือมอบฉันทะให้กระทรวงคมนาคม ดูแล เหมือนกรณีบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) โดยทางกระทรวงการคลัง ตอบกลับมาว่า จะใช้สิทธิ์ในฐานะผู้ถือหุ้น ใหญ่ เสนอประเด็นดังกล่าวเอง

แต่เราก็ได้ทวงเพิ่มไปว่า ควรจะแก้มติครม.ก่อน โดยตัดความเห็นที่จะเสนอให้กระทรวงคมนาคมเป็นผู้กำกับแผนฟื้นฟูออกเสียก่อน แล้วค่อยใช้อำนาจผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่กระทรวงการคลัง ขอนำเรื่องนี้หารือพลเอกประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อน ซึ่งนายกฯให้ตนและนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหารือร่วมกัน

“หลังหารือ ท่านรัฐมนตรีอุตตม สาวนายน ยืนยันว่าจะใช้สิทธิ์ดังกล่าวเองอีกครั้ง ตนจึงแย้งว่า ถ้าจะใช้สิทธิ์แล้วมติครม.จะทำยังไง ถ้าท่านไปซี้ซั้ว ทำแบบนั้น จะผิดมติครม. ผมเองก็จะถูกล็อก แม้มติครม.ให้กระทรวงผมทำ แต่ผมไม่มีอำนาจ เพราะไม่มีกฎหมายตัวไหนให้กระทรวงคมนาคมไปกำกับบริษัทมหาชนได้”

นายกมอบ”วิษณุ”หย่าศึก

จากความขัดแย้งดังกล่าว ท่านนายกจึงให้ทั้งสองกระทรวงหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในช่วงเที่ยงวานนี้ (21 พ.ค.) พร้อมกับสั่งให้รองวิษณุตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด คล้ายๆซูเปอร์บอร์ดเพื่อกลั่นกรองประเด็นต่างๆก่อนเสนอให้นายกฯพิจารณา ซึ่งรองวิษณุก็เห็นไปในทางเดียวกับกระทรวงการคลังคือไม่จำเป็นต้องแก้มติครม.

โดยกระทรวงคมนาคมจะเสนอบุคคล 4 รายชื่อเข้าไปเป็นคณะทำงานของรองวิษณุ เพื่อร่วมเสนอและกลั่นกรองรายชื่อคณะผู้ทำแผนก่อนเสนอนายกรัฐมนตรี และกำหนดแผนงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง ประกอบด้วย 1.นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 2. นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม 3.นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ 4. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

สั่งบินไทยเช็คสภาพคล่อง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้การบินไทยยังเป็นรัฐวิสาหกิจ อยู่ จนกว่ากระทรวงการคลัง จะขายหุ้นให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นเหลือร้อยกว่า 50% จึงให้การบ้านกับฝ่ายบริหารและคณะกรรมการ (บอร์ด) ไป 5 ข้อเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563

ประกอบด้วย 1.จัดทำบัญชีทรัพย์สิน และบัญชีหนี้สิน 2.จัดทำร่างทีโออาร์จัดจ้างที่ปรึกษาด้านการเงินและด้านกฎหมาย โดยเน้นย้ำว่าต้องมีธรรมาภิบาล 3.จัดทำแผนการบริหารสภาพคล่องของบริษัท 4. ให้ฝ่ายบริหารการบินไทยให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลต่อคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารงานกิจการ และปัญหาการทุจริต ที่นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แต่งตั้งขึ้น และ 5. เสนอบัญชีรายชื่อคณะผู้จัดทำแผนและผู้บริหารแผน

จี้ส่งรายชื่อผู้ทำแผน ‪24 พ.ค.‬

ในส่วนของการเสนอรายชื่อผู้จัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทยนั้น การบินไทยแจ้งว่าวันที่ ‪24 พ.ค.‬นี้ จะนำรายชื่อเสนอมาที่ตน ก่อนจะนำเสนอคณะทำงานของรองวิษณุต่อไป แต่ยังไม่ทราบว่าจะเสนอมากี่คน ส่วนท่านนายกฯจะเอาด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่ดุลยพินิจ ของท่านนายกฯ

ส่วนเรื่องสภาพคล่องของการบินไทย คณะทำงานของรองวิษณุจะเป็นผู้เสนอแนวทางกับนายกฯเอง อีกทางหนึ่งตนก็ให้บอร์ดและนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ไปคุยกับพนักงานว่า แผนฟื้นฟูนี้จะพาองค์กรไปในทิศทางไหนและจะพอเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกันได้หรือไม่ โดยขอให้คิดบนความจริงด้วยว่า การจะได้เงินเดือนและผลตอบแทนเต็มๆแบบเดิมทำได้หรือไม่

ขณะนี้การบินไทยมีสภาพคล่องเหลืออยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายสูงสุดรวมทุกรายการประมาณ 6,000 ล้านบาท/เดือน ซึ่งตอนนี้ค่าใช้จ่ายกังกล่าวไม่จำเป็นต้องจ่ายเต็มแล้ว เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ไม่เกิดขึ้นในช่วงที่หยุดทำการบิน

ส่วนดีลที่จะครบกำหนดชำระในเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ อยู่ระหว่างให้บอร์ดรวบรวมบัญชีเจ้าหนี้ทั้งหมดอยู่ โดยต้องแยกให้ชัดว่า หนี้ใดที่ครบกำหนดชำระและหนี้ใดที่ทำสัญญาไว้บ้าง ซึ่งส่วนนี้คณะทำแผนฟื้นฟูจะเข้ามาตรวจสอบอีกรอบหนึ่ง นอกจากนี้ยังให้ไปตรวจสอบบัญชีลูกหนี้ของการบินไทยด้วยว่ามีเท่าไหร่บ้าง ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องที่มีได้ด้วย


สำหรับการปลดพนักงาน 6,000 คน เป็นเรื่องคณะทำแผนฟื้นฟูจะเป็นพิจารณา