มิ.ย.เซ็น 3 แสนล้าน “เมืองการบิน” เร่งเคลียร์ EHIA

สนามบินอู่ตะเภา
ภาพ: การท่าอากาศยานอู่ตะเภา

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2563 มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อนุมัติร่างสัญญาและผลการเจรจาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เนื้อที่ 6,500 ไร่ มูลค่าโครงการ 290,000 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ได้รับคัดเลือกแล้ว ซึ่งไม่มีการนำข้อเสนอซองที่ 4 ข้อเสนอเพิ่มประสิทธิภาพโครงการมารวมด้วย ขั้นตอนจากนี้จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเพื่อนำไปสู่การลงนามในสัญญา ภายในต้นเดือน มิ.ย. 2563

“หลังเซ็นสัญญาจะเข้าสู่กระบวนการส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เริ่มต้นงาน หรือ NTP มีกรอบเวลาวางไว้ 1 ปีครึ่งนับจากเซ็นสัญญา โดยจะเสนอให้คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ช่วยดูการส่งมอบพื้นที่เหมือนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อออกแบบให้ทั้ง 2 โครงการมีความเชื่อมต่อกัน”

ทั้งนี้ กลุ่ม BBS เสนอผลตอบแทนโครงการคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV 3%) อยู่ที่ 305,555 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้จะนำไปจ่ายให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งรัฐจะต้องร่วมลงทุนตามวงเงินคิดราคาปัจจุบัน 117,227 ล้านบาท เหลือเงินคืนรัฐได้ 188,328 ล้านบาท ทำให้ไม่เป็นภาระงบประมาณของรัฐแต่อย่างใด

สำหรับอุปสรรคการส่งมอบพื้นที่ ยังมีปัญหาการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) โครงการรันเวย์ที่ 2 และทางขับขนาน สนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 17,768 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่กองทัพเรือ (ทร.) จะต้องดำเนินการในโครงการนี้และได้ผู้รับเหมาแล้ว แต่รอการอนุมัติ EHIA คาดว่าจะเสนอรายงานให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาในเดือน พ.ค.นี้


“การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่มีผลกระทบกับโครงการ เพราะตามกำหนดจะสร้างเสร็จปี 2566-2567 เป็นช่วงเวลาที่สมาคมขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ประเมินสถานการณ์การบินจะกลับสู่ภาวะปกติพอดี ส่วนการขนส่งสินค้าทางอากาศจะกลับมาใน 1 ปีครึ่ง เร็วกว่าขนส่งคน”