รายได้ กทม.วูบยาวถึงปี’65 ดึงเอกชนลงทุน”รถไฟฟ้า”แสนล้าน

รายได้วูบ - สภาพเศรษฐกิจไม่ดี แถมถูกโควิด-19 รุมเร้า ทำให้ กทม.รื้อเป้ารายได้และการลงทุนทั้งหมด หลังเก็บภาษีพลาดเป้าในปีนี้คาดว่าจะหายไป 1.5 หมื่นล้าน จาก 8.3 หมื่นล้าน เหลือ 6.8 หมื่นล้าน

พิษเศรษฐกิจในนอก-โควิดรุมเร้า ทุบรายได้ กทม.วูบ 1.5 หมื่นล้าน เก็บภาษีไม่เข้าเป้า เลื่อนเก็บค่าขยะ ภาษีที่ดินใหม่ หั่นเป้าทั้งปี’63 จาก 8.3 หมื่นล้าน เหลือ 6.8 หมื่นล้าน รื้อแผนปี’64-65 คัดโครงการเกิน 500 ล้าน เปิดให้เอกชนลงทุน PPP แสนล้าน โรงบำบัดน้ำเสีย รถไฟฟ้า

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้รับรายงานจากสำนักการคลัง คาดการณ์ว่ารายได้ของ กทม. ประจำปีงบประมาณ 2563 จะจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.07% จากเป้า 83,000 ล้านบาท ปรับลดเหลือ 68,000 ล้านบาท

เศรษฐกิจโลก-โควิดทุบรายได้วูบ

เนื่องจากจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยชะลอตัวตามไปด้วย ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในการจัดเก็บภาษี จาก พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน 2475 เป็น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของ กทม.เป็นอย่างมาก

“ต้องปรับเป้ารายได้และการใช้งบประมาณใหม่ เพราะยังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วยังเก็บได้ตามที่ประมาณการไว้ใหม่หรือไม่ โดยเป้าเดิม 83,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้ กทม.จัดเก็บเอง ประมาณ 20,500 ล้านบาท และเป็นรายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ ประมาณ 62,500 ล้านบาท”

เลื่อนเก็บค่าขยะ-ภาษีที่ดินฯ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แต่เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนและมีการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ ที่ทำให้รายได้ที่ กทม.จัดเก็บเองลดลง เช่น การเลื่อนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค. 2563 การปรับปรุงรายละเอียดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเปลี่ยนวิธีการคำนวณและการเลื่อนกำหนดชำระภาษีจากภายในเดือน มิ.ย. เป็น ส.ค. 2563 มีผลทำให้รายได้ที่ กทม.จัดเก็บเอง ไม่สามารถจัดเก็บได้ตามที่ประมาณการไว้

สำหรับรายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ ในช่วงไตรมาสแรกรายได้ยังคงอยู่ในจำนวนเงินที่ได้ประมาณการไว้ เนื่องจากรายได้ดังกล่าวเป็นรายได้ที่มาจากการจัดเก็บภาษีในช่วงปลายปีงบประมาณ 2563 แต่รายได้ที่ กทม.จะได้รับหลังจากนั้น จะต้องมีการติดตามจากส่วนราชการต่าง ๆ ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และโควิด-19 หรือไม่ เช่น การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ให้ผ่อนชำระภาษี 6 เดือน

ทั้งนี้ กทม.ให้ฝ่ายรายได้และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เร่งติดตามและทวงถามลูกหนี้ภาษีที่ค้างชำระ รวมถึงการวางแผนจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เข้มงวดในการจัดเก็บรายได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่ภาษี

“ผู้ค้างภาษี ทางผู้ว่าฯ กทม.อนุมัติในหลักการให้ผู้อำนวยการเขตเป็นผู้อนุมัติให้ผู้ค้างภาษี ได้รับอนุมัติให้ชำระภาษีค้างเป็นงวดรายเดือนแล้ว ตามระเบียบ กทม.ว่าด้วยการบริหารการชำระภาษีค้าง 2547 ผ่อนผันชำระหนี้ได้ตามหลักเกณฑ์ คือ ผู้ค้างภาษีต้องเป็นเจ้าของสถานประกอบกิจการหรือสถานที่ หรือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก กทม.สั่งปิดสถานที่ชั่วคราวช่วงโควิด-19 ให้ผ่อนผันได้ไม่เกิน 6 เดือน หากมีอายุความฟ้องคดีในหนี้ค่าภาษีค้างหลังสิ้นสุดระยะผ่อนผัน รวมกับระยะเวลาที่อนุมัติให้ไม่น้อยกว่า 1 ปี”

คัดบิ๊กโปรเจ็กต์ดึงเอกชนลงทุน

นอกจากนี้ ให้สำนักงบประมาณและสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลพิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นของการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อไม่ให้ขาดสภาพคล่อง และให้หน่วยงานของ กทม.มีมาตรการประหยัดพลังงานช่วยลดค่าใช้จ่าย

“งบประมาณของ กทม.ได้อนุมัติเป็นงบฯรายจ่ายปี”63 ไปแล้ว 60,000 ล้านบาท หรือ 72% ของงบประมาณทั้งหมด จ่ายเงินเดือนและค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว และค่าสาธารณูปโภค ขณะเดียวกันให้ติดตามสถานการณ์รายรับ กทม.อย่างใกล้ชิด หาแนวทางในการรองรับสถานการณ์ หากรายได้ กทม.ไม่เป็นไปตามที่ตั้งงบประมาณไว้ และจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่จะดำเนินการในปีนี้ หากงบฯไม่พอ”

ปรับลดเป้าปี’64-65

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากการที่รายได้ไม่เป็นตามเป้า ทำให้ กทม.ปรับเป้างบประมาณปี 2564 และปี 2565 ใหม่ ให้สอดรับกับสถานการณ์ โดยงบประมาณปี 2564 เดิมตั้งไว้ 85,000 ล้านบาท ปรับเป็น 76,000 ล้านบาท ซึ่งในนี้ยังคงสัดส่วนงบฯด้านลงทุนโครงการใหม่ไว้เท่าเดิม 15% หรืออยู่ที่ 11,400 ล้านบาท ให้ความสำคัญโครงการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจเมืองเป็นพิเศษ

ขณะที่งบประมาณปี 2565 ตั้งเป้าไว้ 78,000 ล้านบาท เนื่องจากสำนักการคลัง กทม. คาดการณ์จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 2,000 ล้านบาท มีงบฯสำหรับงานด้านลงทุนใหม่ประมาณ 11,700 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาตามยุทธศาสตร์อนาคต จะพึ่งพางบประมาณอย่างเดียวคงไม่เพียงพอต่อการผลักดันให้เป็นไปตามเป้า จะต้องหาแนวทางวิธีการบริหารจัดการโครงการในรูปแบบอื่นที่จะสามารถดำเนินการโครงการได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของ กทม.

เปิด PPP รถไฟฟ้า-บำบัดน้ำเสีย

เช่น การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของ กทม. โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินลงทุนตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องเสนอให้คณะกรรมการร่วมทุนของ กทม.พิจารณาความเหมาะสมโครงการจะใช้งบประมาณของ กทม. หรือให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ให้หน่วยงานเร่งเสนอโครงการพิจารณาโดยเร็ว เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในปี 2564-2565

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีเสนอโครงการมาบ้างแล้ว คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 114,500 ล้านบาท ได้แก่สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เสนอโครงการ PPP รถไฟฟ้ารางเบาสายบางนา-สุวรรณภูมิ วงเงิน 27,000 ล้านบาท และสายสีเทา วัชรพล-พระราม 9-ทองหล่อ-ท่าพระ วงเงิน 45,000 ล้านบาท แต่จะเริ่มดำเนินการเฟสแรกจากวัชรพล-พระราม 9-ทองหล่อ ระยะทาง 16.25 กม. จำนวน 15 สถานี


ยังมีสำนักการระบายน้ำเสนอโครงการบำบัดน้ำเสียที่คลองเตย วงเงิน 18,000 ล้านบาท บึงหนองบอน 10,000 ล้านบาท เคหะชุมชนร่มเกล้า 1,500 ล้านบาท และธนบุรี 13,000 ล้านบาท