ท่าอากาศยานไทยวืดรับโอน-บริหาร 4 สนามบินภูธร

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การหารือกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการโอนสนามบินของ ทย.ไปให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) บริหารยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

โดยอยู่ระหว่างรอประกาศกระทรวงคมนาคม ที่จะแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการโอนสนามบิน จะมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ส่วนกรรมการจะประกอบไปด้วยตัวแทนจาก ทย., ทอท., คณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงบประมาณ และกรมธนารักษ์ เป็นต้น ซึ่งการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวสืบเนื่องจากการหารือระหว่างตนกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะเริ่มประชุมกันภายในสัปดาห์นี้

@เปิด 3 โมเดลโอนสนามบิน

สำหรับแนวทางการโอนสนามบินให้ ทอท.บริหาร ตามที่ ทย.เคยศึกษาไว้มี 3 โมเดล ประกอบด้วย

1.โอนให้ ทอท.เป็นผู้บริหารสนามบินทั้ง 4 แห่งทันที ประกอบด้วย สนามบินบุรีรัมย์ สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และสนามบินแม่สอด ซึ่งทำไม่ได้ เพราะสถานะหนึ่งของ ทอท.เป็นบริษัทเอกชนไปแล้ว การจะนำทรัพย์สินของราชการไปให้เอกชนบริหารมีความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย

2.การจ้าง ทอท.บริหาร ทางเลือกนี้ดูไม่เหมาะสม เพราะยังต้องใช้คนและทรัพยากรของ ทย. ในการบริหารจัดการ ซึ่งอาจจะทำให้ต้นทุนต่างๆ ของ ทย. สูงขึ้น

และ 3.การเปิดให้เช่าสนามบิน ซึ่งทรัพย์สินต่างๆ ยังเป็นของ ทย.บุคลากรที่ขาดก็สามารถเพิ่มเติมเข้ามาใช้ในเนื้องานที่ ทย. ยังขาดแคลนได้ พร้อมกันนี้ยังได้ค่าเช่าเพื่อนำไปใช้พัฒนาสนามบินอื่นๆของ ทย.ได้ด้วย

ทั้งนี้ สิ่งที่ตนอยากจะฝากกับคณะกรรมการที่จะแต่งตั้งนี้ 1.นโยบายการพัฒนามีความสำคัญ จะคิดมุมใดมุมหนึ่งไม่ได้ การบริหารของรัฐจะต้องยึดกฎหมายเป็นสำคัญ 2.การโอนสนามบินจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ไว้เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2561 คือต้องถูกกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ขอย้ำว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งให้ตีเช็คเปล่าทำอะไรก็ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง ส่วนจะศึกษาเสร็จเมื่อใดนั้นคาดว่าคงไม่เกินปีนี้

@เปิดกว้าง PPP โมเดล “อู่ตะเภา”

ส่วนทั้ง 3 รูปแบบที่ได้มา เป็นเพียงผลศึกษาเบื้องต้นโดย ทย.เท่านั้น ยังไม่ได้สรุปเป็นทางการ คณะกรรมการชุดดังกล่าวอาจจะมีทางเลือกที่ 4 ขึ้นมาก็ได้ เช่น ถ้าผลการศึกษาให้ทำ PPP ทอท.ก็ยังเข้ามาร่วมแข่งขันได้ เพราะไม่มีกฎหมายจำกัดเอาไว้ หรืออาจจะเปิด PPP แบบ International Bidding เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ของอีอีซีก็ได้ เพราะรัฐได้ผลประโยชน์จากเอกชนสูงถึง 305,555 ล้านบาท เป็นต้น แต่เมื่อมีข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้โอนสนามบินให้กับ ทอท. เท่านั้น ก็อาจจะพลิกแพลงไปใช้วิธีที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น แต่ต้องดูกฎหมายให้รอบคอบ

@ชงนายกฯภายใน 1-2 เดือน

ด้านนายทวี เกศิสำอาง อธิบดี ทย. กล่าวว่า ทางเลือกการเช่ามีข้อดีคือ ทรัพย์สินเมื่อดำเนินการเช่าแล้วเสร็จก็จะเป็นของ ทย.เหมือนเดิม และเบื้องต้นวางไว้ว่าจะเช่าในระยะยาว โดยผู้เช่าจะต้องลงทุนในการดำเนินการ เช่น กรณีขยายสนามบิน หรือการพัฒนาด้านอื่น เช่น การหารายได้ต่างๆ ซึ่ง ทย.ทำได้จำกัดมาก เนื่องจากไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ จึงติดข้อกฎหมายหลายฉบับ การเปิดให้เช่าจะทำให้การพัฒนาคล่องตัวกว่า คาดว่าจะดำเนินการศึกษารูปแบบการโอนสนามบินให้ชัดเจนก่อน จึงจะต้องนำเรียนนายกรัฐมนตรีรับทราบ โดยคาดว่าจะเวลาไม่เกิน 1-2 เดือนนับจากนี้ โดยจะมีการประชุมนัดแรกวันที่ 29 พ.ค.นี้ โดย ทย.ก็มีการศึกษาไว้บ้างแล้ว