แจ้งเกิด “บัสเลน” ถนน 6 สาย นำร่อง “พระรามที่ 4-เพชรบุรีตัดใหม่”

การจัดช่องทางพิเศษสำหรับรถโดยสารประจำทางหรือบัสเลน ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย ในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็นจะเห็นตำรวจจราจรนำมาใช้เพื่อระบายรถ ยังไม่มีการหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของประเทศอย่างจริงจัง

แม้หลายปีที่ผ่านมา “กทม.-กรุงเทพมหานคร” จะผลักดันโครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) เส้นทางสาทร-ราชพฤกษ์ มี “บีทีเอส-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” เป็นผู้เดินรถ

แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ด้วยสภาพพื้นที่และการจราจรไม่เอื้ออำนวยที่จะเปิดทางเฉพาะให้รถบีอาร์ทีวิ่ง ยังมีรถอื่นวิ่งแทรกเข้ามาในเลนที่กั้นไว้

คมนาคมคัดพื้นที่นำร่อง

จนมาถึงยุค “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สังกัดพรรคภูมิใจไทย มีไอเดียจะแจ้งเกิดบัสเลนอีกครั้ง ใช้โมเดลประเทศเกาหลีใต้เป็นต้นแบบ หลังไปดูงานเมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา สั่ง “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” ศึกษาคัดพื้นที่โครงการนำร่องและให้เห็นเป็นรูปธรรมภายในปีนี้

“ผมไปดูของจริงมาแล้ว แก้ปัญหารถติดได้จริงทั้งรถส่วนตัวและรถสาธารณะ เพราะจะอยู่ตรงกลาง ห่างจากไฟแดงไม่เกิน 100 เมตร ไม่ต้องลงทุนมาก มีทาสีบนพื้นถนน ไม่ได้อยู่ด้านซ้ายเหมือนบ้านเรา ถ้าเรานำมาใช้ในถนนที่มีศักยภาพในกรุงเทพฯน่าจะทำได้ เพราะ กทม.ทำอยู่แล้วที่ถนนนราธิวาส ผมคิดว่าถนนที่น่าจะทำได้ เช่น ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ สุขุมวิท พระรามที่ 4 พระรามที่ 6” นายศักดิ์สยามระบุ

เปิดโผ 6 ถนนเหมาะทำบัสเลน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สนข.กำลังสำรวจพื้นที่จริงเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ มีถนนที่เหมาะสำหรับพัฒนาบัสเลนอยู่ 6 เส้นทาง ได้แก่ 1.ถ.พระรามที่ 4 ช่วงหัวลำโพง-แยกพระโขนง ระยะทาง 9.2 กม. 2.ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ ช่วงแยกประตูน้ำ-แยกคลองตัน ระยะทาง 6.6 กม. 3.ถ.พหลโยธิน ช่วงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ถ.ลำลูกกา ระยะทาง 22.45 กม.

4.ถ.วิภาวดีรังสิต ช่วงดินแดง-ดอนเมือง ระยะทาง 23.5 กม. 5.ถ.เพชรเกษม-ถ.อินทรพิทักษ์ ช่วงพุทธมณฑลสาย 4-วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 18 กม. และ 6.ถ.บรมราชชนนี ช่วงพุทธมณฑลสาย 4-อรุณอมรินทร์ ระยะทาง 19 กม.

“เพราะทั้ง 6 สาย เข้าตามหลักเกณฑ์ที่ สนข.ศึกษาคือ 1.เป็นถนนสายหลักมีความกว้างของทางเดินรถอย่างน้อย 3 เลน 2.ต้องมีรถประจำทางวิ่งอย่างน้อย 100 คัน/ชม. หรือมีผู้โดยสารเฉลี่ย 10,000 คน/ชม. 3.เลนถนนจะนำมาทำบัสเลนต้องมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 3.5 เมตร และ 4.เป็นถนนที่มีความยาวอย่างน้อย 3 กม. คาดว่าจะนำร่องถนนพระรามที่ 4 กับเพชรบุรีตัดใหม่ก่อน” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

พ.ค.ศึกษาเสร็จเสนอ คจร.อนุมัติ

ภายในเดือน พ.ค.นี้จะสำรวจพื้นที่ครบทั้งหมด หลังจากนั้นสรุปรายละเอียดและความเป็นไปได้เสนอ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่จะประชุมในวันที่ 29 พ.ค.นี้ให้ความเห็นชอบต่อไป

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า รูปแบบกำหนดตำแหน่งของบัสเลนจะอยู่เลนขวาสุดติดกับเกาะกลาง รูปแบบเดียวกับที่ประเทศโคลอมเบีย เกาหลีใต้ ตุรกี และไต้หวัน มีข้อดีเป็นการแยกช่องเดินรถออกจากทางเท้าและช่องเดินรถอื่นชัดเจน ไม่เกิดปัญหาจราจรในช่องของตัวเองด้วย

แต่มีข้อเสียเช่นกัน เวลาที่รถเมล์จะต้องเลี้ยวซ้าย ทำให้เกิดปัญหาจราจรขึ้น, ต้นทุนการก่อสร้างสูง และอาจทำให้ประชาชนเสี่ยงอันตรายได้เนื่องจากประตูรถเมล์ของประเทศไทยอยู่ฝั่งซ้าย หากจอดบริเวณป้ายรถเมล์ ซึ่งอยู่ชิดเกาะกลาง อาจทำให้ประชาชนเกิดอุบัติเหตุได้

“สนข.กำลังศึกษาแนวทางแก้ปัญหา เช่น ขยับการจอดป้ายรถเมล์ให้อยู่บริเวณสี่แยกหรือให้อยู่ใกล้กับทางม้าลายมากขึ้น ให้สะดวกกับการเดินข้ามถนน หรือจอดใกล้สถานีรถไฟฟ้าที่อยู่ใกล้เคียง เป็นฟีดเดอร์ส่งต่อผู้โดยสารไปด้วย

ส่วนการบริหารจัดการบัสเลนมีข้อกำหนด 5 ข้อ ได้แก่ 1.หยุดรถบนช่องบัสเลนก่อนถึงแยกไม่น้อยกว่า 60 เมตร 2.กำหนดใช้ในชั่วโมงเร่งด่วน เช่น 06.30-09.30 น. และ 15.30-19.00 น.ของทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ 3.การตีเส้นแบ่งบัสเลนให้รถประเภทอื่นเข้า-ออกถนนหรือปากซอย ต้องมีระยะไม่น้อยกว่า 15 เมตร 4.ต้องติดตั้งป้ายบอก “เริ่มช่องเดินรถประจำทาง” และป้ายระบุ “ช่องเดินรถประจำทาง” เป็นระยะ ๆ และ 5.ถนนที่มีจำนวนรถเมล์ผ่านน้อยกว่า 250 คัน/ชม. และเหลือช่องเดินรถอื่นมากกว่า 2 เลน สามารถจัดทำบัสเลน 2 เลนได้

ประสาน กทม.ปรับปรุงถนน

“หาก คจร.เห็นชอบแล้วต้องประสานไปยัง กทม. กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เพื่อดำเนินการปรับปรุงด้านกายภาพ เช่น ตัดเกาะกลางถนน ตีเส้นเหลืองสำหรับบัสเลน ติดตั้งสัญญาณไฟและราวกั้นบัสเลน ทำทางขึ้น-ลงและที่พักผู้โดยสาร”

นอกจากนี้ ต้องประสานไปที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อจัดสายรถเมล์ต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนเส้นทางบางส่วนด้วย และงานด้านกฎหมายจะต้องประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรเพิ่มเติมและกำกับการใช้บัสเลนต่อไป