เปิดไทม์ไลน์รถไฟฟ้าสายใหม่ ปีนี้ได้นั่งชัวร์ สีเขียว-สีทอง

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

หลังรัฐบาลทุ่มเม็ดเงินมหาศาล โหมสร้างรถไฟฟ้าสารพัดสีกันมาหลายสาย-นานหลายปี

ในปี 2563 นี้ มีคิวทยอยเปิดหวูด เพื่อเพิ่มทางเลือกให้คนกรุงได้ใช้บริการหลีกเลี่ยงรถติดบนท้องถนน

4 มิ.ย.เปิดสีเขียวถึงวัดพระศรีฯ

เปิดบริการแน่วันที่ 4 มิ.ย.นี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” เชื่อมการเดินทางจากชานเมืองยิงยาวเข้าสู่ใจกลางเมือง มี “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกดปุ่ม

หลัง “กทม.-กรุงเทพมหานคร” เจ้าของโครงการ และ “BTS-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” ซึ่งปัจจุบันยังมีสถานะเป็นผู้รับจ้างเดินรถก่อนจะเป็นผู้ครอบครองสัมปทานสายสีเขียวทั้งโครงการในอนาคต จากการทุ่มเงินแสนล้านร่วมลงทุนรับภาระหนี้แทน กทม.

ที่ผ่านมาไล่ทยอยเปิดมาถึง “สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ล่าสุดกำลังทดสอบระบบให้พร้อมเปิดเพิ่ม 4 สถานี ได้แก่ สถานีกรมป่าไม้ สถานีบางบัว สถานีกรมทหารราบที่ 11 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และเปิดตลอดสายถึงปลายทางสถานีคูคตครบ 16 สถานีภายในปลายปี 2563 ส่วนค่าโดยสารคิดตามระยะทางจ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียวในอัตรา 15-65 บาท

ต.ค.สายสีทองปลุกฝั่งธนฯคึก

ตามมาติด ๆ “รถไฟฟ้าสายสีทอง” ที่กลุ่มไอคอนสยามทุ่มเงิน 2,000 ล้านบาท จับมือ กทม.เนรมิตเฟสแรก จากกรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน ระยะทาง 1.7 กม. ขณะนี้อาศัยจังหวะโควิด-19 โหมสร้าง 24 ชั่วโมง ให้เสร็จพร้อมรับการทดสอบระบบ

ไล่จากไทม์ไลน์ที่ “KT-บจ.กรุงเทพธนาคม” เซตไว้ร่วมกับ BTS ผู้รับจ้างจัดหาระบบและเดินรถ หลังขบวนรถสั่งผลิตจากจีน มาถึงประเทศไทย ประมาณวันที่ 10-11 มิ.ย. จะเริ่มทดสอบภายในเดือน มิ.ย. จากนั้นเดินรถเสมือนจริงในเดือน ก.ย. และเปิดบริการอย่างเป็นทางการในเดือน ต.ค. 2563 เก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย รับกับสถานการณ์ที่รัฐคลายล็อกดาวน์เปิดเมืองเต็มรูปแบบพอดี

มี 3 สถานี ได้แก่ 1.สถานีกรุงธนบุรี เชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส 2.สถานีเจริญนคร (ไอคอนสยาม) อยู่บริเวณเจริญนคร 6 และ 3.สถานีคลองสาน เยื้องกับโรงพยาบาลตากสิน พร้อมทางเดิน sky walk

สายสีแดงเลื่อนเปิดยาวถึงปี’65

ที่ยังลุ้นกันต่อไป “รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง” ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต หลัง “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ปักหมุดเป็นมั่นเป็นเหมาะจะเปิดบริการในเดือน ม.ค. 2564 ล่าสุดต้องยอมจำนนเลื่อนยาว 1 ปี เป็นในปี 2565 หลังรับเหมาแท็กทีมขอต่อเวลาออกไปอีก โดยเฉพาะสัญญาที่ 3 งานระบบที่ขอยืดเวลาจากสิ้นสุดสัญญาในเดือน มิ.ย.นี้ ไปถึงเดือน ต.ค. 2564

ขณะที่นโยบายการเดินรถยังไม่นิ่ง จะเป็นบริษัทลูกโดย “บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด” ที่มีประสบการณ์เดินรถแอร์พอร์ตลิงก์มารับไม้ต่อสายสีแดง หรือจะเปิดให้เอกชนมืออาชีพมาร่วมลงทุนทั้งสายสีแดงสายหลักที่ยังต้องการเงินอัดฉีดเพิ่มกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท และส่วนต่อขยายใหม่ แลกสัมปทานเดินรถ

ตามที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” มีความปรารถนาอยากใช้โมเดลนี้ทะลวงการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ท่ามกลางสถานการณ์งบประมาณรัฐที่หมดไปกับการถอนพิษโควิด-19

ถึงแม้หลายคนจะปรามาสแนวคิดของบิ๊กคมนาคม ว่าสุดโต่ง ทั้งที่ขบวนรถมาจอดรอออกวิ่งอยู่แล้ว โดยตามแผนเดิมของ ร.ฟ.ท.วางไว้ในเดือน ธ.ค.นี้ จะทดสอบเดินรถเสมือนจริง จากนั้นประมาณเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2564 จะเปิดทดลองใช้บริการฟรี 3-5 เดือน

รอเคาะผู้เดินรถ

แต่หากย้อนดูความเป็นมาของรถไฟฟ้าสายนี้จริง ๆ กว่าจะเข็นงานก่อสร้างออกมาเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เห็นปัจจุบันเจอสารพัดปัญหา ต้องปรับเพิ่มงบประมาณไปถึง 5 ครั้ง และกำลังขอคณะรัฐมนตรีขยายกรอบวงเงินก่อสร้างอีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท

หากได้รับไฟเขียวนับเป็นครั้งที่ 6 จากเนื้องานที่เพิ่มและค่าเคลมของผู้รับเหมาที่ขยายเวลา เป็นภาระงบประมาณของรัฐและเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะของประเทศ

ที่สำคัญ ร.ฟ.ท.ยังเคลียร์ปัญหาไม่จบ ไม่ว่าจะเป็นกระแสไฟฟ้าที่จะนำมาจ่าย ศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้) ที่ยังสร้างไม่เสร็จ การบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อยังไม่รู้จะไปทิศทางไหน และอื่น ๆ อีกจิปาถะ หากเคลียร์ไม่จบอาจจะมีน้ำลดตอผุดตามมาภายหลัง

สีชมพูแบ่งเปิด 3 เฟส

ที่ไม่ต้องลุ้นให้เหนื่อย เพราะมาตามสัญญาแน่ ๆ แม้งานก่อสร้างจะล่าช้า นั่นคือรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศไทย “สายสีชมพูแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง” ได้กลุ่มบีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ-ราชกรุ๊ป ทุ่มทุนสร้างแสนล้าน แลกสัมปทาน 30 ปี

ความก้าวหน้า “สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม. วันที่ 20 พ.ค. 2563 อนุมัติขยายระยะเวลาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูให้กับเอกชนผู้รับสัมปทานออกไปอีก 365 วัน หรือ 1 ปี จากเดิมสัญญาสิ้นสุดเดือน ต.ค. 2564 เป็นเดือน ต.ค. 2565

มีปัญหาส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง 8 จุด ในแนวถนนติวานนท์และแจ้งวัฒนะจุดใหญ่อยู่ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ติดการใช้พื้นที่ของกรมทางหลวงที่ให้สถานีตำรวจบางเขนใช้พื้นที่บริเวณลานจอดรถ จะต้องจัดหาพื้นที่ใหม่เป็นการทดแทน ซึ่งเอกชนขอขยายเวลามา 430 วัน แต่บอร์ดอนุมัติให้ทั้งโครงการ 365 วัน

“เคลียร์ปัญหาพื้นที่จบแล้ว เอกชนก็เดินหน้าก่อสร้าง ซึ่งปลายปีนี้รถขบวนแรกจะมาถึงประเทศไทย จะทำการทดสอบก่อนเปิดบริการ 6 เดือน คาดว่าเริ่มในเดือน เม.ย. และทดสอบเสมือนจริงเดือน ส.ค. 2564”

แต่เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของเอกชนและปัญหาการจราจร จะทยอยเปิดบริการเป็น 3 ช่วง ในเดือน ต.ค. 2564 จะเปิดจากสถานีมีนบุรี-สถานีศูนย์ราชการ เชื่อมกับสายสีแดงที่สถานีหลักสี่ แต่จะไม่จอดทุกสถานี เช่น สถานีนพรัตน์ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เป็นต้น อีก 6 เดือน หรือในเดือน เม.ย. 2565 เปิดจากสถานีศูนย์ราชการ-สถานีกรมชลประทาน และเปิดตลอดสายถึงแคราย ต.ค. 2565

สีเหลืองแบ่งเปิด 2 เฟส

สำหรับ “สายสีเหลือง” นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. อัพเดตว่า บอร์ด รฟม.อนุมัติการขยายเวลาก่อสร้างให้ไปแล้ว จำนวน 265 วัน ติดการส่งมอบพื้นที่ทำให้สร้างช้ากว่าแผนงานที่จะเสร็จเปิดบริการในเดือน ต.ค. 2564 เป็นในเดือน ก.ค. 2565

เช่น แยกบางกะปิพื้นที่ทับซ้อนกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องปรับแบบรื้อสะพานสร้างใหม่ การรื้อย้ายสาธารณูปโภค เช่น ประปา ไฟฟ้า การเข้าใช้พื้นที่ถนนของกรมทางหลวง (ทล.) ช่วงศรีนครินทร์-สมุทรปราการ ปรับแบบอาคารจอดรถและศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้) ที่สถานีวัดศรีเอี่ยม เป็นต้น

“สายสีเหลืองเพื่อช่วยเอกชนผู้รับสัมปทานให้มีรายได้ จะทยอยเปิดบริการเป็น 2 ช่วง เพราะรถขบวนแรกจะมาพร้อมสายสีชมพูปลายปีนี้ ในช่วงแรกจะเปิดตามสัญญาในเดือน ต.ค. 2564 จากสถานีสำโรง-พัฒนาการ เชื่อมกับแอร์พอร์ตลิงก์ และในเดือน ก.ค. 2565 เปิดตลอดสายถึงสถานีลาดพร้าวเชื่อมกับสายสีน้ำเงิน โดยค่าโดยสารทั้ง 2 สายนี้ ทางเอกชนมีสิทธิจะเก็บได้ทันทีที่เปิดบริการ”

สีส้มตะวันออกคืบ 60%

ปิดท้าย “สายสีส้มตะวันออก” ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี งานก่อสร้างโดยรวมทั้ง 6 สัญญา คืบหน้ากว่า 60% ส่วนการเปิดบริการเนื่องจากงานระบบและจัดหาขบวนรถไปติดพันอยู่กับการเปิด PPP net cost ช่วงตะวันตกบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม

โดย รฟม.จะเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนกว่า 1.28 แสนล้านบาท ก่อสร้างช่วงตะวันตกและรับสัมปทานเดินรถตลอดสาย 30 ปี โดยรัฐลงทุนค่าเวนคืนที่ดิน 1.4 หมื่นล้านบาท และอุดหนุนเอกชนไม่เกินค่างานโยธา

ขณะนี้รอประกาศราชกิจจานุเบกษาหลักเกณฑ์ PPP จากนั้นออกประกาศเชิญชวนเอกชนมาซื้อซองประมูล ตามแผนจะให้ได้เอกชนภายในสิ้นปีนี้

จากความล่าช้าทำให้ รฟม.ขยับไทม์ไลน์การเปิดบริการสายสีส้มตะวันออกใหม่จากเดิมในปี 2566 เป็นปี 2567 และเปิดตลอดสายพร้อมกับสีส้มช่วงตะวันตกในปี 2569