“ศักดิ์สยาม” ปลื้มดันแบริเออร์ยางพาราถึงฝั่ง เซ็น MOU “เกษตร” 12 มิ.ย.นี้

แฟ้มภาพ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้จะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้เชิญพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี โดยจะจัดขึ้นที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ได้เห็นชอบไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนรายละเอียดใน MOU จะเปิดเผยในวันลงนาม

สำหรับในส่วนของกระทรวงคมนาคมมีกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เป็นผู้ดำเนินการ โดยจะเป็นการดำเนินการใน 2 ลักษณะคือ 1.การผลิตหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) โดยอุปกรณ์นี้จะลดแรงกระแทกจากมอเตอร์ไซค์ลง ทำให้สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดลง และขอย้ำว่าจะไม่มีการทุบหลักนำทางคอนกรีตแบบเดิม เพียงแต่จะนำไปใช้ในบริเวณที่ยังไม่มีหลักนำทางก่อน ประโยชน์ของการติดตั้งคือ เป็นการย้ำเตือนถึงความระมัดระวังในการขับขี่

และ 2.การใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) นำมาใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางทางถนนมากขึ้น โดยมีการศึกษาร่วมกับ ม.สงขลานครินทร์ โดยจะนำมาใช้กับถนนที่มีขนาด 4 เลนขึ้นไป และจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่ที่ยังไม่มีเกาะกลางถนนก่อน ส่วนถนนอื่นๆ ที่มีเกาะกลางอยู่แล้ว ก็จะไม่เข้าไปรื้อออกแต่อย่างใด ซึ่งแบริเออร์หุ้มยางพาราได้รับทดสอบแล้วว่า สามารถรับแรงกระแทกจากรถยนต์ได้สูงสุดถึง 120-130 กม./ชม. และไม่เกิดปรากฎการณ์กำแพงระเบิดแล้วพุ่งไปชนกับรถอีกเลนหนึ่งแน่นอน อีกทั้งรถที่ชนกับแบริเออร์นี้จะไม่พลิกคว่ำด้วย

@เตรียมของบ 8.5 หมื่นล้าน

สิ่งที่จะดำเนินการต่อหลังจากนี้ กระทรวงอยู่ระหว่างเตรียมการของบประมาณดำเนินการในระยะเวลา 3 ปี (2563-2565) รวม 85,623 ล้านบาท (ปี 2563 2,454 ล้านบาท/ ปี 2564 39,175 ล้านบาท/ ปี 2565 43,994 ล้านบาท) ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะต้องกำหนดความต้องการใช้ยางพาราและแผนก่อสร้างต่างๆ ให้ชัดเจนก่อนจะของบประมาณ และ ทล.-ทช. จะต้องเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้เกษตรกรด้วย ส่วนกระทรวงเกษตรฯ จะต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆโดยตรงกับ ทล.และ ทช. โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางเด็ดขาด เพื่อเม็ดเงินถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง ส่วนเกษตรกรใดจะเข้าข่ายนั้น ต้องขึ้นอยู่การกำหนดของกระทรวงเกษตรฯ

@3 ปี ทุ่ม 4.2 หมื่นล้าน

โดยมีการตั้งเป้าหมายเพื่อวางแผนการใช้งาน RFB และ RGP ไว้แล้ว สำหรับ RFB ในระยะ 3 ปี (2563-2565) ทั้ง ทล.-ทช. มีเป้าหมายที่จะใช้งาน RFB รวม 12,282.35 กม. วงเงินดำเนินการรวม 40,545.308 ล้านบาท แบ่งเป็นปีแรก 250 กม. วงเงิน 825.250 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 5,742.81 กม. วงเงิน 18,957.019 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 6,289.92 กม. วงเงิน 20,763.039 ล้านบาท

ขณะที่ตัวหลักนำทาง เป้าหมาย 3 ปี (2563-2565) จะมีการใช้งานรวม 1,063,381 ต้น วงเงินดำเนินการรวม 1,818.382 ล้านบาท แบ่งเป็นปีแรก 289,365 ต้น วงเงิน 494.814 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 334,452 ต้น วงเงิน 571.913 ล้านบาท และปี 2565 จำนวน 439,564 ต้น วงเงิน 751.654 ล้านบาท และตลอดระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี เกษตรกรจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้คิดเป้นจำนวนเงินรวม 30,108.463 ล้านบาท โดยมีจำนวนยางพาราที่ต้องใช้ทั้งหมด แบ่งได้เป็น 1.ยางแห้ง 302,385.403 ตัน และ 2. น้ำยางสด 1.007 ล้านตัน