‘ศักดิ์สยาม’จับมือชาวสวนยาง ดึงงบ 8.5 หมื่นล้านปักหมุดแบริเออร์ถนน

แบริเออร์ถนนทำจากยางพารา

12 มิ.ย. คมนาคม-เกษตรฯ เซ็น MOU เพิ่มมูลค่ายางพารา ทุ่ม 8.5 หมื่นล้านแปรรูปครอบกำแพงคอนกรีตเกาะกลางเสาหลักนำทางถนนทั่วประเทศ 1.2 หมื่น กม. ทดแทนปูผิวถนนที่ต้นทุนสูง คิกออฟปีนี้ เสร็จปี’65 มั่นใจเงินถึงมือเกษตรกร 70% กยท.เผยยอดใช้ในประเทศยังอืด ครึ่งปีไม่ถึง 1 พันตัน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 12 มิ.ย. 2563 จะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง อุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา นำไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาล

เพื่อบูรณาการร่วมกันนำยางพารามาใช้ในการนำแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีตเกาะกลางถนนที่สร้างขึ้นมาใหม่ และผลิตเป็นเสาหลักนำทางยางธรรมชาติเพื่อลดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยทางถนน เพราะสามารถรองรับการกันกระแทกรถที่วิ่งด้วยความเร็ว 120 กม./ชม. ซึ่งได้ทดสอบมาแล้วที่ประเทศเกาหลีใต้ และยังเป็นการยกระดับราคายางพารา เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง เพราะเงินจะถึงมือเกษตรกร 71.07% มากกว่าการนำมาปูผิวถนนจะได้แค่ 5.1% สร้างความมั่นใจให้ชาวสวนยางว่าราคายางจะมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

มีถนนกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จะต้องดำเนินการเกาะกลางถนนเป็นแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต 12,282 กม. และหลักนำทางยางธรรมชาติ 1,063,651 ต้น ใช้เวลา 3 ปี ตั้งแต่ 2563-2565 งบประมาณรวม 85,623 ล้านบาทปี 2563 ประมาณ 2,454 ล้านบาท ปี 2564 วงเงิน 39,175 ล้านบาท ปี 2565 วงเงิน 43,995 ล้านบาท คิดเป็นประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ 30,108 ล้านบาท เป็นปริมาณยางแห้ง 302,385 ตัน และน้ำยางสดกว่า 1 ล้านตัน

“สิ่งที่จะดำเนินการต่อจากนี้ ของบฯมาดำเนินการ คมนาคมจะเป็นผู้กำหนดอุปทาน ของบฯจากรัฐ กระทรวงเกษตรฯมีหน้าที่สร้างผลิตภัณฑ์ขายตรงให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง หรืออาจจะซื้อเฉพาะเจาะจงกับสหกรณ์การเกษตรที่กระทรวงเกษตรฯรับรองก็ได้ โดยกรมทางหลวงชนบท และกรมทางหลวงจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ กำลังขอจดสิทธิบัตร ซึ่งไทยจะเป็นที่แรกของโลกมีนวัตกรรมนี้”

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า MOU มีระยะเวลา 5 ปี คมนาคมจะถ่ายทอดเทคโนโลยี และมาตรฐานให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ร้านค้าที่กระทรวงเกษตรฯรับรอง ตามประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการออกหนังสือรับรองเป็น ร้านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง พ.ศ. 2563 เป็นผู้ผลิต โดยกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทจะซื้อแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีตและหลักนำทางยางธรรมชาติมาใช้ในงานถนนต่อไป มีอายุการใช้ประมาณ 5-7 ปี

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สรุปผลใช้ยาง 6 เดือนแรกปี 2563 มี 8 กระทรวงเข้าร่วม แต่มียอดการใช้จริง 3 กระทรวง ได้แก่ 1.กระทรวงยุติธรรม ใช้น้ำยางสด 482.180 ตัน แปรรูปเป็นที่นอน พื้นสนามงบฯ 51 ล้านบาท

2.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แปรรูปทำถนนแล้ว 201 ตัน งบฯ 2,119 ล้านบาท 3.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แปรรูปเป็นถุงมือ หมอน ที่นอน รองเท้าบู๊ต ยางรถ0.138 ตัน งบฯ 0.270 ล้านบาท

ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ กระทรวงคมนาคม แปรรูปถนน อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย 5,268.04 ตัน งบฯ38,558 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข แปรรูปถุงมือยาง สายยาง ถุงยางอนามัย หมอน ที่นอน หุ่นช่วยชีวิตพื้นฐาน29,714.58 ตัน งบฯ 228 ล้านบาท