เอ็มดี BEM มองธุรกิจหลังโควิด ครึ่งปีหลังพ้นจุดต่ำสุด-ปีหน้าโตสนั่น

สัมภาษณ์

กว่า 20 ปีที่ “สมบัติ กิจจาลักษณ์” ทำงานภายใต้ชายคา “บมจ. ช.การช่าง” กลั่นประสบการณ์ สางงานหินมาอย่างยาวนาน

ปัจจุบันได้รับความไว้วางใจจาก “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” ให้นั่งเป็นเอ็มดี “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” คุมธุรกิจรถไฟฟ้าคู่กับ “พเยาว์ มริตตนะพร” ที่คุมธุรกิจทางด่วน

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค “โควิด-19” ที่เขย่าขวัญไปทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจ “ทางด่วน-รถไฟฟ้า” เพราะการจะหยุดเชื้อได้ต้องหยุดอยู่บ้าน ทำให้การเดินทางทุกโหมดชะงัก ยิ่งรัฐออก “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-มาตรการเคอร์ฟิว” ทำให้การเดินทางยิ่งลดน้อยลงไปจากปกติหลายเท่าตัว

“สมบัติ” ฉายภาพผลกระทบจากโควิดต่อธุรกิจรถไฟฟ้าและทางด่วน รวมถึงการบริหารจัดการภายในองค์กรและผู้โดยสารท่ามกลางวิกฤตปัญหาไว้อย่างชัดเจน

สมบัติ กิจจาลักษณ์ เอ็มดี BEM บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ
สมบัติ กิจจาลักษณ์ เอ็มดี BEM บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ

Q : การบริหารจัดการช่วงโควิด

ตอนนี้รัฐบาลกำลังบาลานซ์การแก้ปัญหาของโรคกับการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ไปด้วยกันได้ ในส่วนของบริษัทที่ผ่านมาให้ความร่วมมือกับรัฐเป็นอย่างดีเรื่องมาตรการคุมการระบาดของโรค เพราะเราเป็นผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ มีคนใช้บริการจำนวนมาก

เช่น ทำความสะดวกฉีดพ่นรถไฟฟ้าทุก 30 นาที สถานีปลายทางที่หลักสอง เตาปูน คลองบางไผ่ และภายในสถานีจัดระเบียบผู้โดยสารก่อนเข้าใช้บริการ ให้สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง 1 เมตร ลดการใช้เงินสด เติมเงินบัตรโดยสารผ่านทรูวอลเลต และแบงก์กรุงไทย ล่าสุดแจกหน้ากากผ้าฟรี 1 ล้านชิ้น ที่ 53 สถานีสายสีน้ำเงิน และสีม่วง

ยังมีมาตรการหลังบ้านดูแลพนักงานบริษัท ดูแลสุขอนามัยให้มีไมนด์เซตที่ดีเท่ากับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะมีหน้าที่ทำงานเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก ต้องดูแลตัวเองหลังกลับบ้าน ไม่ออกไปสถานที่เสี่ยง รวมถึงต่างประเทศ มาทำงานต้องตรวจวัดอุณหภูมิ ทำความสะอาดมือทุกครั้ง สวมหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ เรายังซื้อประกันโควิดให้พนักงานทุกคนเพิ่มจากปกติมีประกันสุขภาพอยู่แล้ว

Q : สถานการณ์บริษัทในปัจจุบัน

โควิดส่งผลกระทบต่อธุรกิจบริษัท ทุกที่ได้รับผลกระทบหมด คาดว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ โดยบริษัทได้รับผลกระทบรายได้ลดแต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น เพราะถึงจะมีโควิด คนทำงานที่บ้าน เวลาการให้บริการสั้นลงเพราะมีเคอร์ฟิว แต่คนยังเดินทาง เราก็ต้องเตรียมการบริการรองรับการเดินทางเท่ากับเวลาปกติ เพราะไม่มีโหมดอื่นทดแทน เราต้องปรับตัวสอดรับกับสถานการณ์

หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ระยะ 3-4 จะกลับมาดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป ขณะนี้ทางด่วนคนเริ่มใช้มากขึ้นใกล้แตะ 1 ล้านเที่ยวคันต่อวัน รถไฟฟ้าอยู่ที่ 2 แสนเที่ยวคนต่อวัน อาจจะช้าหน่อยเพราะยังถูกจำกัดเว้นระยะห่างทางสังคม แต่วันที่ 1 ก.ค.เปิดเทอม เมืองเปิด ธุรกิจคลายล็อกดาวน์ คาดว่าปลายปีนี้น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอยู่ที่ 4 แสนเที่ยวคนต่อวัน จากเดือน เม.ย.ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว เป็น เม.ย. 2563 มีครั้งเดียวในชีวิตเรา

ถึงปีนี้เราจะเดินรถสายสีน้ำเงินครบลูปแต่เจอโควิด ทำให้ผู้โดยสารลดลง 50-70% โดยเฉลี่ยปี 2563 อยู่ที่ 3 แสนเที่ยวคน ต่ำจากเป้า 4.5 แสนเที่ยวคน ขึ้นอยู่ที่ไตรมาส 3-4 รัฐจะยกเลิกมาตรการเว้นระยะห่างหรือไม่ ถ้าเลิกปริมาณผู้โดยสารจะกลับมาแน่นอน เพราะดีมานด์มีอยู่แล้ว แต่ถ้ายังคงไว้ถึงจะมีรถวิ่งครบ 49 ขบวน แต่คาพาซิตี้หายไป 75% จาก 15,000 เที่ยวคนต่อชั่วโมงต่อระยะทาง เหลือ 4,000 เที่ยวคนต่อชั่วโมงต่อระยะทาง

Q : ภาพรวมรายได้ทั้งปีนี้

ปีนี้เป็นปีพิเศษ มีโควิดเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะกระทบต่อการรับรู้รายได้โดยรวมทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้าลดลง15% หรือหายไป2,000 ล้านบาท อยู่ที่ 13,000 ล้านบาท จากปีที่แล้วอยู่ที่ 15,000-16,000 ล้านบาท แยกเป็นทางด่วน 9,000 ล้านบาท ลดลง 10% จากปีที่แล้ว รถไฟฟ้า 3,000 ล้านบาท ถึงสายสีน้ำเงินรายได้จะลด 50% แต่มีค่าจ้างเดินรถสายสีม่วง 1,800 ล้านบาท และพัฒนาเชิงพาณิชย์ 700 ล้านบาท แม้ว่ารายได้จะลดลงแต่ยังมีกำไรแต่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ในปีนี้คาดว่าจะมีกำไร 2,000 ล้านบาท จากปีที่แล้ว 3,000 ล้านบาท ในครึ่งปีแรกผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วกำไรปิดบวก และครึ่งปีหลังจะกลับมาเป็นปกติใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

Q : คาดการณ์ปี 2564

หากไตรมาส 4 เข้าสู่ปกติ จะเริ่มรีคัฟเวอร์ตั้งแต่ปลายปีนี้ และทำให้ปี 2564 รีคัฟเวอร์ทั้งปี ซึ่งผู้โดยสารรถไฟฟ้าน่าจะโตจากที่ประมาณการไว้ 4.5 แสนเที่ยวคนต่อวัน จากปกติจะโต 5-10% เพราะในเส้นทางจะมีการพัฒนาใหม่ ๆ เกิดขึ้น ทำให้เกิดกิจกรรมในการเดินทาง

เช่น ศูนย์การค้ายังได้แรงหนุนการเปิดสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เปิดตลอดสายปลายปีนี้ มีการเชื่อมต่อการเดินทางที่สถานีห้าแยกลาดพร้าวและจตุจักร จะทำให้ผู้โดยสารเข้ามาในระบบสายสีน้ำเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน เหมือนสายสีม่วงที่ป้อนคนเข้าระบบสายสีน้ำเงินที่สถานีเตาปูนมากกว่า 70% ยังมีสายสีชมพู และสายสีเหลืองที่จะเปิดบริการในเดือน ต.ค.ปีหน้า ในปี 2564 เป็นปีที่น่าสนใจมาก เพราะหากปีนี้ฐานผู้โดยสารต่ำจะทำให้ปีหน้าการเติบโตของรายได้จะมากกว่า 20%

Q : แผนการลงทุนปีนี้

ภายในต้นเดือน มิ.ย.จะออกหุ้นกู้ 3,000 ล้านบาท ชำระหนี้ 2,500 ล้านบาท อีก 500 ล้านบาทเก็บไว้เป็นทุน ถึงจะมีโควิดแต่เราไม่กลัวการลงทุน ขอให้มีโปรเจ็กต์ดี ๆ หลังเซ็นสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินร่วมกับ ซี.พี. ในปีนี้จะมีประมูล PPP รถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.28 แสนล้านบาทจะร่วมกับ ช.การช่างบริษัทแม่เข้าประมูล เตรียมพร้อมแล้วทั้งพันธมิตรซัพพลายเออร์ เช่น

ซีเมนส์ ญี่ปุ่น ด้านแหล่งเงินทุนที่เจรจากับแบงก์ไว้หลายแห่ง ประเมินแล้วจากโควิดน่าจะมีการแข่งขันสูง ทุกคนหลังพิงฝา อะไรก็เกิดขึ้นได้ปีหน้าจะร่วมประมูลสายสีม่วงใต้อีกกว่า 1 แสนล้านบาท ปัจจุบันถึงประเทศจะประสบปัญหาเศรษฐกิจ แต่รัฐยังคงมีโครงการลงทุนระบบรางต่อเนื่อง และใช้ PPP ให้เอกชนลงทุนให้ก่อน ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต การพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ทุกโครงการเป็นโอกาสการลงทุนของเอกชนทั้งหมด แต่เราก็ต้องเลือก อะไรที่ทำแล้วขาดทุนเราไม่ทำ

Q : แนวโน้มธุรกิจทางด่วนและรถไฟฟ้า


ทางด่วนยังดีอยู่ ปัจจุบันมีปริมาณจราจรทั้งระบบ 1.2 ล้านเที่ยวคันต่อวัน การเติบโตจะต่ำเพราะฐานใหญ่ขึ้น แต่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ตอนนี้รัฐเริ่มลงทุนสร้างมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่างเมืองมากขึ้น เราก็ต้องขยายการลงทุนเข้าไปรองรับ ส่วนรถไฟฟ้าการลงทุนยังอยู่ในเมืองเป็นหลัก อีก 3 ปีข้างหน้าแลนด์สเคปเมืองจะเปลี่ยนโฉม เห็นชัดบนถนนพระราม 4 มีโครงการ “วันแบงค็อก” จะมีทางเชื่อมใต้ดินเข้ากับสถานีรถไฟฟ้า ยังมีสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่ปิดซ่อม 3 ปี มีผู้โดยสารใช้สถานีนี้ปีละ 1 ล้านเที่ยวคน แต่หลังปรับปรุงเสร็จจะใหญ่ขึ้นเป็น 3 เท่า ทำให้ผู้โดยสารเราเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน