1 เดือน Learning Curve “อนันดา คอมมิวนิตี้” ต้นแบบคอนโดอยู่ร่วมกับโควิด…ทำได้จริง

ภาพ : pixabay

ไม่มีใครรู้โควิด-19 จะกลับมาพีก ระลอกสองในประเทศไทยหรือไม่ สถานการณ์ ณ ต้นเดือนมิถุนายน 2563 เป็นช่วงต้อนรับมาตรการคลายล็อกเฟส 4 ของรัฐบาล

ขวัญและกำลังใจคนไทยดีขึ้นเป็นลำดับจากผลงานป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

#หยุดเชื้อ เพื่อชาติ การ์ดอย่าตก

ในช่วงพีกของเดือนมีนาคม-เมษายนดังกล่าว #อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ กระหึ่มไปทั้งแผ่นดิน

หลังจากประเทศไทยทำสถิติพบผู้ติดเชื้อใหม่หลักพัน, ผู้ป่วยหลักร้อย, ผู้เสียชีวิตหลักสิบ ความจำเป็นเรื่องปากท้องเริ่มเข้ามาแทนที่ เสียงเรียกร้องให้ผู้คนออกนอกบ้าน ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขตามแบบวิถีใหม่ (new normal) ดังกลบมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ

โหมดของการรณรงค์ต้านภัยโควิด-19 จึงเปลี่ยนใหม่ในท่วงทำนอง #หยุดเชื้อ เพื่อชาติ การ์ดอย่าตก แทน

ข่าวล่ามาเร็ว “จรัญ เกษร” เอ็มดี Strategic Property Management บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เพิ่งสรุปประสบการณ์บริหารจัดการนิติบุคคลในเครืออนันดาฯช่วงโรคระบาดกำลังพีกระลอกแรก

บนความโกลาหลและความหวาดกลัว “ประชาคมอนันดาฯ” สู้ไปด้วยกันจนกระทั่งมี learning curve ในช่วง 1 เดือนเศษ การพักอาศัยในคอนโดมิเนียมที่มี 5 ชีวิตที่เป็นผู้ป่วย กับ 16 ชีวิตต้องเก็บกักตัวบนตึกสูงทำได้จริง ๆ

ทุกชีวิตสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติสุขได้ ผู้ป่วยรักษาพยาบาลจนหายป่วย ผู้เก็บกักตัวก็ไม่พบเชื้อ ยังมีส่วนผสมสำคัญที่สุดคือสมาชิกผู้พักอาศัยภายใต้หลังคาเดียวกัน จากบรรยากาศตึงเครียดเล็ก ๆ ในช่วงแรกพัฒนาไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ

สิ่งนี้พวกเขาประกาศว่าเป็น “ยกแรกแห่งชัยชนะ”

“สื่อสาร” สร้างการมีส่วนร่วม

learning curve ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบชุมชนคอนโดฯอยู่ร่วมกับโควิด-19 มีจุดโฟกัส 2 กลุ่มหลักคือ 1.ผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วย 2.ผู้เสี่ยงที่ต้องกักตัว 14 วัน (ดูตารางประกอบ)

แน่นอนว่าดีกรีของความหวาดระแวงในกลุ่มผู้เสี่ยงมีน้อยกว่าผู้ติดเชื้อ โซ่ข้อกลางที่ทำให้สมาชิกคลายกังวลเป็นเรื่อง “การสื่อสาร” ระหว่าง “นิติบุคคล-กรรมการ-เจ้าของร่วม”

โมเดลในการสื่อสารไม่มีอะไรซับซ้อน ทุกอย่างถูกบริหารจัดการอย่างโปร่งใสและเป็นมืออาชีพ เริ่มจาก 1.การให้ข้อมูลข่าวสารสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

2.ประชาสัมพันธ์ขั้นตอนดำเนินการละเอียดยิบ บนแนวทางกระทรวงสาธารณสุข

3.ทุกคำถามมีคำตอบตรงไปตรงมาคำตอบอ้างอิงข้อมูลทางการแพทย์

ทั้งนี้ ประสบการณ์ตรงที่ทำสำเร็จมาแล้ว ผู้ติดเชื้อภายในคอนโดฯ และอยู่ระหว่างส่งตัวไปโรงพยาบาล มีการแจ้งให้ผู้พักอาศัยในชั้นเดียวกันรับทราบ

นั่นคือต้องแจ้งทั้งหมดทุกห้อง แจ้งทั้งอาคาร ซึ่งหมายถึงต้องแจ้งทั้งโครงการได้รับทราบแต่จะไม่ระบุห้อง-ชื่อเจ้าของห้อง จากนั้นเป็นการอัพเดตข้อมูลโดยตลอดผ่านช่องทางไลน์ เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายในโครงการ

โดยข้อมูลในการสื่อสารจะต้องเป็นข้อเท็จจริงจากผู้กักตัวหรือผู้ติดเชื้อโดยตรง

4.การมีส่วนร่วม ทั้งฝ่ายจัดการ (นิติบุคคล)-บริษัทพันธมิตรต่าง ๆ-กรรมการนิติฯ-เจ้าของร่วม

คีย์เวิร์ดคือ “การใช้ชีวิตในคอนโดฯที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมากต้องเพิ่มความระมัดระวัง” และ “มาตรฐานดูแลความปลอดภัยโรคระบาดเป็นหัวใจของการห่างไกลจากโควิด-19”

คู่มือมนุษย์คอนโดฯ-กักตัว 14 วัน

หนึ่งในโควิด experience เป็นเรื่องหลักปฏิบัติในการดูแลผู้กักตัวที่เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นช่วงรอยต่อปลายมีนาคม-เมษายน 2563 และแจ้งความประสงค์เข้าพักในห้องชุด

การสื่อสารเริ่มต้น ณ จุดนั้น โดยนิติบุคคล แจ้งรายละเอียดการปฏิบัติตน

อาทิ การลงทะเบียนผู้กักตัว, แอดไลน์เพื่อใช้เป็นช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสาร

ทันทีที่ผู้กักตัวลงทะเบียนกับนิติบุคคลฯ จะได้รับแจ้งการปฏิบัติตัวช่วง 14 วัน และมาตรการติดตามผลในแต่ละวัน

กิจกรรมประจำวันมีตารางปฏิบัติชัดเจน 1.นำปรอทวัดไข้และถุงแดง (สำหรับทิ้งขยะติดเชื้อ) แขวนที่ประตูห้องชุด ปฏิบัติวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้า 09.00-12.00 น. กับช่วงบ่าย 13.00-16.00 น.

2.ติดตามข้อมูลทางไลน์เพื่อสอบถามอาการเบื้องต้น และให้ผู้กักตัวส่งภาพถ่ายการวัดอุณหภูมิโดยปรอทวัดไข้ สำหรับเก็บสถิติ 14 วัน

3.อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ส่งข้อมูลการกักตัว, วิธีปฏิบัติ, การสั่งอาหารออนไลน์, การจัดการเก็บขยะจากห้องชุด ฯลฯ รวมถึงบทบาทเป็นที่ปรึกษาและให้กำลังใจ

“ผ่านมาครึ่งทาง เข้าสู่วันที่ 6-7 ผู้กักตัวเริ่มมีความเครียด สังเกตจากผู้กักตัวเริ่มตั้งคำถามทำไมต้องกักตัว ทำไมออกไปข้างนอกไม่ได้ และอื่น ๆ ฝ่ายจัดการพูดคุยอธิบายเหตุผลต่าง ๆที่จำเป็นต้องปฏิบัติ ผู้กักตัวก็เข้าใจและปฏิบัติตามด้วยดี”

ไม่มีใครรู้โควิด-19 จะกลับมาพีก ระลอกสองในประเทศไทยหรือไม่ สิ่งที่รู้ตอนนี้คือมนุษย์คอนโดฯมีคู่มือที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้จริง ๆ