“ประยุทธ์” ปลื้ม “คมนาคม-เกษตร” ร่วมใจช่วยเกษตรสร้าง “แบริเออร์” ยางพารา

“ประยุทธ์” ปลื้ม “คมนาคม-เกษตร” ร่วมใจช่วยเกษตรสร้าง “แบริเออร์-เสาหลักนำทาง” ยางพารา

วันที่ 12 มิถุนายน 2563 เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือด้านอุปกรณ์การจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ดำเนินการกำแพงคอนกรีตหุ้มยางพารา และเสาหลักนำทางยางพารา

ระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมในพิธี

ภายหลังการลงนาม นายกฯได้กล่าวแสดงความยินดีว่า การเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ยางพาราเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะปีๆ หนึ่งผลผลิตออกสู่ท้องตลาดหลายล้านตัน และเน้นไปที่การส่งออกเป็นส่วนใหญ่ จึงได้ให้โจทย์กับทุกหน่วยงานไปคิดมา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมยางของประเทศ ดังนั้น ตนจึงยินดีที่ได้เห็นการนำยางพาราไปผลิตเป็นอุปกรณ์ป้องกันด้านจราจร

การคิดค้นครั้งนี้จะทำให้เกิดผลดี 3 อย่างคือ 1.ทำให้การจราจรมีความปลอดภัย 2.ยกระดับราคายางพารา และ 3.ช่วยแก้ปัญหารายได้เกษตรกรตกต่ำ ตนจึงขอชื่นชมทั้ง 2 กระทรวงที่ร่วมมือกันแบบบูรณาการ รวมไปถึง ม.สงขลานครินทร์ที่ช่วยเหลือด้านการศึกษาวิจัย จนทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วง ก็ขอให้กำลังใจในการศึกษาค้นคว้าในประเด็นอื่นๆ ต่อไป

 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนก็เป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลเน้นย้ำ เชื่อว่าเมื่อมีการใช้ยางพาราแล้ว สถิติอุบัติเหตุจะดีขึ้น แต่ก็อยู่ที่คนด้วยว่าจะขับขี่ปลอดภัยด้วยหรือไม่ เพราะลำพังแค่ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เป็นยางพาราคงจะรับประกันความปลอดภัยไม่ได้

ก่อนย้ำในช่วงท้ายว่า ความร่วมมือร่วมใจเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลหรือรัฐมนตรีก็ต้องทำแบบนี้ แล้วยิ่งโลกหลังพ้นโควิดจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย เพราะฉะนั้นเราต้องเดินหน้าไปสู่ยุคใหม่ “New Covid” ถ้ารัฐบาลทำทางหนึ่ง เกษตรกรทำทางหนึ่ง ประชาชนทำอีกทางหนึ่ง มันก็ไปไม่ได้ ทำให้การใช้งบประมาณก็ใช้ไปๆ ไม่เหลือสำหรับลงทุนในด้านอื่น ทั้งนี้ สุดท้ายขออวยพรให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จทุกประการ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อตกลงความร่วมมือฯ ในส่วนของกระทรวงคมนาคมจะศึกษาและพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา รวมถึงทำการทดสอบเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพ และการจัดทำแบบมาตรฐานและข้อกำหนดคุณสมบัติของวัสดุ การจัดทำแผนงานและการกำหนดความต้องการการใช้ยางตามมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการรับซื้อผลิตภัณฑ์ และนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปติดตั้ง ใช้งบประมาณ 85,624 ล้านบาท โดยใช้ยางพาราสดปริมาณ 1,007,951 ตัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรโดยตรง คิดเป็นผลตอบแทนกว่า 30,108 ล้านบาท

ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหน้าที่กำกับคุณภาพในการผลิตอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา พร้อมทั้งคัดเลือกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง ให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งยังสนับสนุนจัดเตรียมเครื่องมือและวัตถุดิบ ให้เป็นไปตามรูปแบบ มาตรฐาน และราคาตามที่กระทรวงคมนาคมกำหนด ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจยางพารา 661 แห่ง โดยปีที่ผ่านมามีการผลิตยางพารารูปแบบต่าง ๆ ประมาณ 475,058 ตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 57 จากผลผลิตทั้งหมดของสมาชิกสหกรณ์ที่ประกอบอาชีพสวนยางพารารวม 355,181 ราย มีสมาชิกในครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์ จำนวน 1,420,724 ราย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะช่วยเหลือสถาบันเกษตรกร ทั้งในการด้านพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต และการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต โดยพร้อมผลักดันเกษตรกรชาวสวนยางไทยให้ได้รับโอกาสอย่างทั่วถึง ด้วยการสนับสนุนเครื่องมือ รวมถึงวัตถุดิบในการผลิตให้แก่สหกรณ์สวนยางทั่วประเทศที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากกระทรวงคมนาคม และสามารถกระจายรายได้สู่เกษตรกรอย่างทั่วถึง

ความร่วมมือร่วมใจในครั้งนี้ นอกจากจะลดความสูญเสีย สร้างผลตอบแทนเป็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ไม่อาจประเมินค่าได้แล้ว ที่สำคัญยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางไทย ให้สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ และสร้างความมั่นคงทางอาชีพอย่างยั่งยืน