ไม่เกินเดือน ธ.ค. 2563 นี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” จะเปิดให้บริการครบตลอดสาย 16 สถานี จากปัจจุบันให้บริการแล้ว 9 สถานี จากสถานีห้าแยกลาดพร้าว-สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
โดย “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ยังเปิดให้บริการฟรีไปจนกว่าสัมปทานสายสีเขียวทั้งโครงการ ที่ “BTSC-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและเซ็นสัญญา ซึ่ง กทม.กำหนดเพดานสูงสุดค่าโดยสารตามโครงสร้างใหม่ไว้ไม่เกิน 65 บาท และเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว
เพื่อความสะดวกในการเข้า-ถึงรถไฟฟ้าได้มากที่สุด มีการทุ่มสร้างทางเดินลอยฟ้าหรือสกายวอล์กเชื่อมการเดินทางระหว่างสะพานลอยคนข้ามและสถานี ให้เดินสะดวก
โดยเฉพาะ “สถานีห้าแยกลาดพร้าว” แหล่งช็อปปิ้งและธุรกิจ มีการสร้างสกายวอล์กเชื่อมจากสถานีไปยังสะพานลอยหน้าเทสโก้ โลตัส และโรงเรียนหอวัง และสร้างเลาะใต้โครงสร้างรถไฟฟ้าไปยังรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีพหลโยธิน และยูเนี่ยน มอลล์ ระยะทาง 560 เมตร ปัจจุบันเปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ยังเหลือในส่วนของ บมจ.ปตท.ที่จะทุ่มงบประมาณ 400 ล้านบาท สร้างสกายวอล์กจากสำนักงานใหญ่เชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีพหลโยธิน และสายสีเขียวหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว ระยะทาง 500 เมตร ตามแบบจะปรับปรุงสะพานลอยเดิมหน้า ปตท.และสร้างเป็นทางลอยฟ้าบนฟุตปาทฝั่งเซ็นทรัลไปเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าหน้าเซ็นทรัล ช่วงผ่านโรงเรียนหอวังจะสร้างเป็นสะพานลอยมาเชื่อม ระยะทาง 500 เมตร อีกแห่งปรับปรุงสะพานลอยหน้า ICAO ไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดิน ระยะทาง 600-700 เมตร
ส่วนสถานีอื่น ๆ จะมีสกายวอล์ก ไม่ว่าจะเป็นสถานีพหลโยธิน 24 สถานีเสนานิคม สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่น่าจะเป็นไฮไลต์คือสถานีรัชโยธินที่ค่ายเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ทุ่มสร้างทางเดินเชื่อมเข้ากับ “เมเจอร์ รัชโยธิน” เพิ่งจะเปิดใช้ไม่กี่วันที่ผ่านมา
สอดรับกับ “มานิต เตชอภิโชค” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมาเปิดเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวจากสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปยังสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จะช่วยแก้ปัญหาจราจรบนถนนพหลโยธินได้เป็นอย่างดี เพราะในเส้นทางมีทั้งสถานศึกษา หน่วยงานราชการ บ้านเรือนและอาคารพักอาศัยหนาแน่นตลอดเส้นทาง ซึ่งสามารถเดินทางเข้ามาใช้บริการรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก
เนื่องจากโครงสร้างงานโยธาของโครงการได้ออกแบบทางเดินสกายวอล์กไปยังซอยย่านชุมชน หรือสถานที่ราชการต่าง ๆ ไม่ต้องเดินบนทางเท้าด้านล่าง เช่น สถานีกรมป่าไม้ มีทางเดินเชื่อมเข้ามาที่สถานีทั้งจากกรมป่าไม้ กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก โรงเรียนสารวิทยา และไปรษณีย์จตุจักร สถานีบางบัวมีทางเดินเชื่อมจากกรมทางหลวงชนบท สถานีกรมทหารราบที่ 11 มีทางเดินเชื่อมจากอู่รถเมล์บางเขน
และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สามารถเดินขึ้นมาเข้าระบบรถไฟฟ้าได้ทุกทิศทาง โดยมีสกายวอล์กรอบบริเวณสถานีรวมระยะทางกว่า 1.7 กม. สามารถเดินทางขึ้นได้ทั้งจากห้างเทสโก้ โลตัส กรมทหารขนส่ง โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ สถานีตำรวจบางเขน สำนักงานเขตบางเขน กรมควบคุมโรค สถานีดับเพลิงบางเขน วัดพระศรีมหาธาตุ และฌาปนสถานกองทัพอากาศ
ขณะที่สถานีที่เหลือจะเปิดใช้ปลายปีนี้ ต่อจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุไปยังสถานีปลายทางคูคตได้มีการทำทางเดินสกายวอล์ก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชุมชนและสถานที่สำคัญ ในเส้นทางใกล้รถไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้อย่างสะดวกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะที่สถานีโรงพยาบาลภูมิพล จะมีทางเดินเชื่อมจากสถานีเข้าไปยังโรงพยาบาลภูมิพล
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีสถานีพหลโยธิน 59 จะมีสกายวอล์กเชื่อมเข้าโครงการคอนโดมิเนียม “ริชพาร์ค เทอร์มินอล @พหลโยธิน 59” เป็นโครงการมิกซ์ยูสของ บมจ.ริชี่ เพลซ 2002 มีทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่รีเทล ซึ่งสกายวอล์กจะเริ่มสร้างในเดือน ส.ค. เสร็จในเดือน ก.ย.แต่จะเปิดใช้พร้อมกับรถไฟฟ้าในเดือน ธ.ค.นี้
ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวออกมาว่า ที่ดินล้อมรั้วบริเวณด้านข้างของคอนโดฯ เนื้อที่กว่า 3 ไร่ อยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้า ทางกลุ่มเซ็นทรัลได้ซุ่มซื้อไว้ เตรียมจะพัฒนาเป็น “คอมมิวนิตี้มอลล์” ขนาด 3 ชั้น รองรับคนอยู่อาศัยในละแวกนั้น เนื่องจากในเส้นทางยังไม่มีแหล่งช็อปปิ้ง ยกเว้นศูนย์การค้าเซ็นทรัลรามอินทรา ที่อยู่ในเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) จะทยอยเปิดบริการในเดือน ต.ค. 2564
ทางด้าน “สถานีสายหยุด” จุดเชื่อมต่อกับถนนเทพรักษ์ ถนนตัดใหม่ของ กทม. “สถานีสะพานใหม่” ตรงหน้าตลาดยิ่งเจริญ “สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ” ไปจนถึง “สถานีแยก คปอ.” จะมีสกายวอล์กให้เดินเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าเช่นกัน