18 ปี เปิดบริการรถไฟฟ้าเมืองไทย ปี′63 สร้างครบ 7 สายเชื่อมกทม.-ปริมณฑล

คอลัมน์ ดาต้าเบส

ร่วม 18 ปีนับจากปี 2542 ที่ “บีทีเอส” รถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทยได้เปิดบริการ ถึงขณะนี้มีรถไฟฟ้าสายใหม่เปิดใช้เพิ่ม 3 สายทาง ยังไม่ถึงครึ่งทางที่แผนแม่บทกำหนดไว้ 10 สายทาง คาดว่าถึงปี 2563 จะมีรถไฟฟ้าเปิด 7 สายทาง

ต่อจากรถไฟฟ้าลอยฟ้าของ “คีรี กาญจนพาสน์” เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน (หัวลำโพง-บางซื่อ) ที่ “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” รับสัมปทานบริหารโครงการในปี 2547

จากนั้นไม่นาน “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท สร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์จากพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ เริ่มลงเสาเข็มต้นแรกปี 2549 เปิดใช้ปี 2553

สุดท้าย “สายสีม่วง” ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ที่ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” เพิ่งเปิดใช้เมื่อ ส.ค. 2559

ในปี 2561 ถึงคิวของ “สายสีเขียวต่อขยาย” ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ จากปัจจุบันทดลองเปิดใช้ 1 สถานีถึงสำโรง

Advertisment

เสร็จจากสีเขียวใต้ เป็นสายสีน้ำเงินต่อขยาย “บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค” และสายสีเขียวต่อขยายไปทางด้านเหนือ “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” ที่จะทยอยเปิดใช้ตั้งแต่ปี 2562 เร็วขึ้นจากแผน 1 ปี ส่วนสายสีแดง “บางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน” หากไม่มีเหตุการณ์อะไรเข้าแทรก คาดเปิดหวูดภายในปี 2563

Advertisment

ขณะที่สายสีส้ม “ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี” สายสีชมพู “แคราย-มีนบุรี” และสายสีเหลือง “ลาดพร้าว-สำโรง” กำลังจะเริ่มก่อสร้างในปีนี้ มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2563-2566 ส่วนที่เหลือรอ “ครม.-คณะรัฐมนตรี” อนุมัติโครงการ

สำหรับระบบรถไฟฟ้าทั้งบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน แอร์พอร์ตลิงก์ และสายสีม่วง ใช้ระบบรถไฟฟ้าขนาดหนัก (Heavy Rail) รองรับความจุได้ 10,000-20,000 คน/ทิศทาง/ชั่วโมง

แต่อีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีระบบรถไฟฟ้าขนาดเบา (Mono Rail) เพิ่มเติม หลังสายสีชมพูและสีเหลืองเปิดให้บริการ โดยระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลรองรับความจุได้ 2,000-3,000 คน/ทิศทาง/ชั่วโมง