คมนาคม ชงขอเอี่ยวเงินกู้ 1.4 แสนล้าน ผ่านอนุมัติแค่ 7 โครงการ

คมนาคมมึน! ของบฟื้นฟูไป 1.4 แสนล้านผ่านอนุมัติแค่ 7 โครงการ ‘ซ่อมถ.ลาดยาง-สร้างสะพานลอย’

หลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) พิจารณาโครงการภายใต้การดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 กรอบวงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท มี 213 โครงการ วงเงิน 101,482 ล้านบาทผ่านการอนุมัติแล้ว เตรียมเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณา วันที่ 1 ก.ค. และเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 8 ก.ค.นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย”ประชาชาติธุรุกิจ”ว่า ได้รับแจ้งผลประเมินแผนงานโครงการเบื้องต้นว่าผ่านการพิจารณา 7 โครงการ ภายใต้แผนงาน 3.2 ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน

ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก 1 โครงการ จัดระเบียบและพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน จ.ตรัง

กรมเจ้าท่า 1 โครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล ที่ร่องน้ำอ่างศิลา อ.เมือง จ.ชลบุรี ของกรมเจ้าท่า

กรมทางหลวง 1 โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจ.ชัยนาท ของกรมทางหลวง วงเงินประมาณ 5 ล้านบาท

กรมทางหลวงชนบท 3 โครงการ ได้แก่ ปรับปรุงถนนลาดยางสายบ้านตาด-พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์(หลวงตามหาบัว) ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ,พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวหลักและแหล่งท่องเที่ยวรอง อ.บ่อทอง หนองใหญ่ เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี และโครงการซ่อมสร้างผิวทางแอสฟัลติกคอนกรีตสามแยกถนน3010 -รอยพระพุทธบางหลวง อ.เขาคิขฌกูฎ จ.จันทบุรี

และการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย 1 โครงการ เป็นการปรีบปรุงภูมิทัศน์สถานีรถไฟมหาชัย จ.สมทุรสาคร

ก่อนหน้านี้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ยื่นของบประมาณไปทั้งสิ้น 137,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.วงเงิน 7,000 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งทางบก ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และผู้ประกอบการรถแท็กซี่เป็นหลัก เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการทำมาตรการ social distancing

2. วงเงิน 90,000 ล้านบาท ก่อสร้างเส้นทางคมนาคม สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางการเกษตรและส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งประเทศ โดยรายละเอียดตนยังไม่เห็น แต่ไม่ใช่โครงการใหญ่มาก เป็นโครงการเล็ก ๆ กระจายไปทั่วประเทศ


และ 3.วงเงิน 40,000 ล้านบาท ใช้ในโครงการก่อสร้างอุปกรณ์ที่เพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนโดยใช้ยางพารา ได้แก่ แผ่นยางหุ้มแบริเออร์ (RFB) และหลักนำทางยางพารา (RGP)