หยุดยาวเกิดอุบัติเหตุ 239 ครั้ง ชลบุรีสูงสุด “คมนาคม” สั่งรับมือคนกลับกรุงพรุ่งนี้

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สถานการณ์การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคล ระหว่างวันที่ 3 – 5 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ข้อมูล ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2563 เวลา 08.00 น. พบว่ามีประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 5,570,909 เที่ยวคน

ส่วนการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลมีปริมาณจราจรเข้า-ออกกรุงเทพฯ 7,441,758 คัน และเกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม 239 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 36 ราย ได้รับบาดเจ็บ 252 ราย โดยเกิดขึ้นบนถนนที่เป็นทางตรงมากที่สุด คิดเป็น 57.81% รถปิกอัพเกิดอุบัติเหตุสูงสุด คิดเป็น 37.97% สาเหตุของอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากขับรถเร็วเกินกำหนด คิดเป็น 67.78% และ จ.ชลบุรี เกิดอุบัติเหตุสูงสุด จำนวน 17 ครั้ง

จากข้อมูลสถิติดังกล่าว พบว่าภาพรวมการเดินทางของทุกระบบมีจำนวนผู้เดินทางสูงกว่าที่ประมาณการ โดยเฉพาะการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ส่งผลให้ถนนสายหลักที่ออกจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัดบางช่วงเกิดปัญหาการจราจรติดขัด และคาดว่าวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของวันหยุดจะมีปริมาณเดินทางขากลับสูงกว่าที่ประมาณการไว้

จึงได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้สอดคล้องกับปริมาณการเดินทางกลับของประชาชนทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ

โดยกรมทางหลวงได้ร่วมกับกองทัพอากาศใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในการสำรวจสภาพการจราจรบนเส้นทางบริเวณทางต่างระดับสระบุรี ถนนมิตรภาพ และถนนสายเอเชีย เพื่อควบคุมและสั่งการให้การบริหารจัดการจราจรมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด เน้นสุขลักษณะและความปลอดภัยของทั้งผู้ปฏิบัติงานให้บริการและผู้โดยสารด้วยมาตรการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ทั้งภายในรถโดยสารและที่นั่งคอยภายในสถานีฯ ตรวจวัดอุณหภูมิของผู้โดยสารต้องไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส

ควบคุมการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ให้ผู้โดยสารลงทะเบียนเช็กอิน-เช็กเอาต์ผ่านแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ทุกครั้งที่ใช้บริการและที่สถานีฯ กรณีที่ไม่สามารถสแกน QR Code ได้ ให้กรอกแบบฟอร์ม ต.8-คค จัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ให้บริการแก่ผู้โดยสาร ทำความสะอาดยานพาหนะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งก่อนและหลังการให้บริการเป็นประจำ

สำหรับการให้บริการภายในสถานีขนส่ง ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า และท่าเรือโดยสารทุกแห่ง ได้เน้นย้ำให้ทำความสะอาดสิ่งอำนวยความสะดวกภายในอาคารด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะจุดที่สัมผัสบ่อยครั้ง รวมทั้งได้ติดตั้งที่กั้นแผ่นใสบริเวณเคาน์เตอร์ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการด้วย