ประมูลถนนแสนล้านปั๊มศก.โค้งท้าย หนีพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่-เร่งเชื่อมต่ออีอีซี

ลุยซ่อมสร้างถนน - กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทจัดงบประมาณร่วม 1 แสนล้านปรับปรุง ตัดถนนโครงข่ายใหม่เชื่อมพื้นที่สำคัญ เช่น เขตเศรฐกิจพิเศษ อีอีซี

กรมทางหลวง-กรมทางหลวงชนบท หนีเดดล็อก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ เทกระจาดประมูลถนนใหม่ปี’61กว่า 5,000 โครงการ วงเงินเฉียดแสนล้าน เร่งเบิกจ่าย 15% ปั๊มเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย การทางพิเศษฯเซ็งตัดด่วนใหม่ 3 หมื่นล้านสะดุด เลื่อนเคาะราคายาวข้ามปี

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2560 ไม่ส่งผลกระทบต่อการประมูลงานของกรม เนื่องจากเปิดประมูลโครงการใหม่ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2561 จำนวน 59 โครงการ มีวงเงินก่อสร้าง 50,422 ล้านบาท แบ่งเป็นงานประมูลกว่า 2,000 โครงการ

ทางหลวงประมูลล่วงหน้า เช่น โครงการทางหลวงสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ, ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี), สะพานข้ามจุดตัดรถไฟ, ก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน, ก่อสร้างทางแยกต่างระดับ สะพานและอุโมงค์, ขยาย 4 ช่องจราจรระยะที่ 2, ทางหลวงเชื่อมระบบขนส่งและเชื่อมโยงระหว่างประเทศ

ขณะนี้ยังเหลืองานจ้างที่ปรึกษาออกแบบและทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อเป็นการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณตั้งแต่

วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป ตามนโยบายของรัฐบาล คาดว่าหลังเซ็นสัญญาและมีการเบิกจ่ายเงิน 15% จะมีเงินไหลเข้าสู่ระบบระยะเริ่มแรกหลังเซ็นสัญญางานก่อสร้างประมาณ 6,000 ล้านบาท

“การประมูลยังเหมือนเดิมเป็นระบบอีบิดดิ้ง เพียงแต่ต้องจัดระเบียบใหม่ โดยมีกรมบัญชีกลางเป็นเซ็นเตอร์ เช่น ขั้นตอนการคิดราคา แก้ไขแบบรายละเอียด การขึ้นทะเบียนผู้รับเหมาของงานแต่ละประเภท เพื่อให้มีความรัดกุมมากขึ้น” นายธานินทร์กล่าวย้ำ

ทช.กดปุ่ม 3,600 โครงการ

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า กรมได้รับงบประมาณจัดสรรปี 2561 จำนวน 47,870 ล้านบาท เป็นงบฯลงทุนประมาณ 45,700 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างทางและซ่อมบำรุงทาง เช่น โครงการสนับสนุนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งสำรวจออกแบบเรียบร้อยแล้ว และมีแผนประมูลโครงการขนาดเล็กมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 3,600 โครงการ ให้แล้วเสร็จ และเซ็นสัญญาให้หมดภายในเดือน ธ.ค. 2560 เพื่อเร่งการเบิกจ่ายตามนโยบายของรัฐบาล

“ภาพรวมงบฯลงทุนปี 2561 วงเงิน 45,700 ล้านบาท แยกเป็นงาน 2 ส่วน คือ 1.งานซ่อมบำรุงและอำนวยความปลอดภัยทางหลวงชนบท วงเงิน 20,125 ล้านบาท คิดเป็น 44% แยกเป็นซ่อมบำรุงรักษาโครงข่ายทางหลวงชนบททั่วประเทศ ระยะทาง 47,308 กม. กับงานป้องกันอำนวยความสะดวกทางหลวงชนบททั่วประเทศ 1,470 แห่ง กับ 2.งานพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท วงเงิน 25,580 ล้านบาท คิดเป็น 56% เช่น ก่อสร้างถนนลูกรังเป็นถนนลาดยาง ระยะทาง 1,060 กม. วงเงิน 6,905 ล้านบาท ถนนแก้ปัญหาจราจรตามผังเมืองรวม 7,100 ล้านบาท”

นายพิศักดิ์กล่าวว่า ทั้งนี้จากการที่กรมบัญชีกลางได้ออก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ทำให้มีโครงการของกรมที่ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายใหม่อยู่กว่า 1,000 โครงการ อาจจะทำให้โครงการสะดุดไปบ้างเล็กน้อย เพราะต้องทำแผนให้รับกับระเบียบใหม่ แต่ไม่ส่งผลกระทบมากนัก คาดว่าจะเซ็นสัญญาก่อสร้างได้หมดภายในเดือน ธ.ค.นี้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เนื่องจากยังมีระยะเวลาดำเนินการอีก 4 เดือน และทางกรมบัญชีกลางได้ออกระเบียบและกฎกระทรวงที่จะรองรับกับ พ.ร.บ.ใหม่นี้แล้ว รอแนวทางขั้นตอนการดำเนินการที่ชัดเจน

“ตอนนี้กรมบัญชีกลางยังให้แต่ละหน่วยงานที่จะประมูลงานใช้บัญชีผู้รับเหมาตามที่แต่ละหน่วยขึ้นทะเบียนไว้ไปก่อน ระหว่างรอกรมบัญชีกลางเปิดให้จดทะเบียนใหม่ที่ผู้รับเหมาจะต้องไปขึ้นตามที่กำหนดไว้ในแต่ละประเภท เช่น งานถนน สะพาน ซึ่งผู้รับเหมาที่ขึ้นบัญชีไว้หากมีคุณสมบัติครบตามที่กำหนดก็สามารถยื่นประมูลงานได้ทุกหน่วย จะต่างจากเดิมที่ผู้รับเหมารายเดียวสามารถขึ้นบัญชีได้หลายหน่วย ขณะที่บทลงโทษจะเพิ่มขึ้นด้วย”

ทางด่วนใหม่เลื่อนยาว

แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า กำลังหารือกับกรมบัญชีกลางจะขอดำเนินการจัดทำบัญชีผู้รับเหมาเพื่อเข้าร่วมประมูลงานก่อสร้างทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก ระยะทาง 17 กม. ค่าก่อสร้าง 30,437 ล้านบาท เพื่อเปิดประมูลได้เร็วขึ้น จากปัจจุบันติดขั้นตอน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ ทำให้โครงการล่าช้า หากได้รับการอนุมัติ จะเริ่มขั้นตอนประมูลได้ภายในต้นปี 2561

มี 5 สัญญา ได้แก่ 1.งานโครงสร้างยกระดับ ระยะทาง 6.9 กม. วงเงิน 7,008 ล้านบาท 2.สร้างยกระดับ ระยะทาง 5.3 กม. วงเงิน 7,153 ล้านบาท 3.สร้างยกระดับ ระยะทาง 5 กม. วงเงิน 6,733 ล้านบาท 4.งานสะพาน ระยะทาง 2 กม. วงเงิน 8,042 ล้านบาท และ 5.งานระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมการจราจรและระบบสื่อสาร วงเงิน 990 ล้านบาท

นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ให้ผู้รับเหมาต้องไปจดทะเบียนกับกรมบัญชีกลางแทนการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงาน รายละเอียดยังไม่ชัดเจน ต้องหารือกรมบัญชีกลาง เช่น คุณสมบัติผู้รับเหมา จำนวนโครงการที่รับงาน