เคลียร์ปมเวนคืน 3 รถไฟฟ้า ปิดทางรับเหมายืดเวลา-ค่าก่อสร้างบาน

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

 

นับจากวันที่ 16 มิ.ย. 2560 ที่ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ได้เซ็นสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง สร้าง 2 โมโนเรล 88,868 ล้านบาท

แยกเป็นสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) 34.5 กม. 45,764 ล้านบาท กับบจ. นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 30.5 กม. 43,104 ล้านบาท กับ บจ.อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล

จนถึงขณะนี้ผู้รับเหมายังไม่ได้รับการส่งมอบพื้นที่จาก “รฟม.” เพราะยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมทางหลวง (ทล.) ขณะที่ “รฟม.” ก็ติดหล่มเวนคืนที่ดิน

ล่าสุด “ครม.-คณะรัฐมนตรี” วันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา อนุมัติออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน และประกาศเรื่องกำหนดให้การเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน 3 เส้นทาง ได้แก่ สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) 21.2 กม. สีชมพูและสีเหลือง เป็นกรณีที่มีความจำเป็นและเร่งด่วน

เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาในเดือน ธ.ค.นี้ และก่อสร้างให้เสร็จตามกำหนด โดย “สีชมพู-สีเหลือง” เปิดปี 2564 และ “สายสีส้ม” ในปี 2566

“ออกประกาศเร่งด่วน เพื่อให้การเวนคืนที่ดินรวดเร็ว เพราะมีที่ดินเอกชนไม่ยอมมาตกลงราคากับ รฟม.ในเวลา 60 วัน ทำให้ส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาช้าและอาจจะกระทบการก่อสร้าง เพราะหากดำเนินการตาม พ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน จะใช้เวลา 1-2 ปี กว่าจะแล้วเสร็จ” แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ในส่วนของสายสีส้ม ทางผู้รับเหมาสามารถเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีนี้ได้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างก่อสร้างขั้นต่ำ 0.0025% ต่อวัน ของวงเงินค่าจ้างแต่ละสัญญา

ส่วนสายสีชมพูและสีเหลือง ซึ่งเอกชนลงทุน PPP ทั้งโครงการ ไม่มีค่าปรับกรณีส่งมอบพื้นที่ล่าช้า แต่ รฟม.จะต้องส่งมอบพื้นที่ให้ผู้ร่วมลงทุนดำเนินการก่อสร้างได้ในวันแจ้งเริ่มงาน ซึ่งการเวนคืนต้องอาศัยประกาศการเวนคืนเร่งด่วนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 9 เดือน ซึ่งสายสีเหลืองต้องส่งมอบให้ก่อน 109 แปลง และสีชมพู 193 แปลง

“เอกชนที่รับสัมปทานลงทุนก็กังวลว่า รฟม.จะส่งมอบพื้นที่ล่าช้า เพราะมีต้นทุนดอกเบี้ยในการกู้เงินมาลงทุน ตามสัญญาต้องสร้างเสร็จ 3 ปี 3 เดือน”

นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เกรงอาจเกิดภาระทางการเงินการคลัง

สำหรับการเวนคืนที่ดิน อยู่ระหว่างสำรวจประเมินราคาอสังหาฯและกำหนดราคา ซึ่งมีแล้วเสร็จบางส่วน โดยสายสีชมพูมีผู้ถูกเวนคืน 434 ราย เป็นที่ดิน 640 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 761 หลัง ค่าเวนคืน 6,847 ล้านบาท มียินยอมทำสัญญา 2 ราย ไม่ยินยอม 44 ราย ในพื้นที่เขตมีนบุรี


สายสีเหลืองมีผู้ถูกเวนคืน 198 ราย เป็นที่ดิน 298 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 284 หลัง ค่าเวนคืน 6,013 ล้านบาท มียินยอมทำสัญญา 25 ราย ไม่ยินยอม 28 ราย พื้นที่เขตประเวศ สวนหลวง และ อ.บางพลี และสายสีส้มมีผู้ถูกเวนคืน 329 ราย เป็นที่ดิน 518 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 412 หลัง วงเงิน 9,625 ล้านบาท จ่ายค่าเวนคืนแล้ว 22 ราย เป็นที่ดิน 27 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 17 หลัง มีผู้ไม่ยอมรับการเวนคืนและกำหนดราคา 188 ราย กระจายในแนวเส้นทาง แต่จุดใหญ่อยู่บริเวณศูนย์วัฒนธรรม