วีระศักดิ์ วานิชวัฒน์ แจ้งเกิด “ฑีฆาก่อสร้าง”

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “บริษัท ฑีฆาก่อสร้าง จำกัด” ผู้รับเหมางานอาคารถึงจะไม่ใช่บริษัทมหาชน แต่ก็สามารถปาดหน้า “บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” รับเหมาเบอร์หนึ่งของประเทศคว้าโปรเจ็กต์สร้างอาคารศูนย์บริหารทางด่วนของ “กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” ไปครองด้วยวงเงิน 2,543 ล้านบาท

“ฑีฆาก่อสร้าง” เป็นใครมาจากไหน “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “วีระศักดิ์ วานิชวัฒน์” กรรมการผู้จัดการบริษัท วัย 60 ปี ดีกรีวิศวกรรม จากรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และอดีตลูกหม้อเอสซีจี

“ผมเคยทำงานอยู่เอสซีจีมาก่อน 8 ปี ตั้งแต่ปี 2525-2533 เริ่มจากงานการตลาด แล้วมาอยู่บริษัทคอนกรีตผสมเสร็จ หรือซีแพค จากนั้นก็อาศัยความรู้ที่เรียนมาคือวิศวะมาทำธุรกิจของตัวเอง เปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท งานแรกที่รับคือโครงการหมู่บ้านไพลินของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ย่านแจ้งวัฒนะ” จากวันแรกที่เริ่มก่อตั้งบริษัท ถึงขณะนี้ “วีระศักดิ์” บอกว่า ผ่านมา 33 ปีแล้ว จากทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ที่ 150 ล้านบาท และมีรายได้ 1,400 ล้านบาท

นอกจากนี้จากผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ ทำให้วันนี้ได้รับความไว้วางใจจากผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมให้ก่อสร้างโครงการอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าอนันดาฯ เอพี เอสซี แอสเสท แสนสิริ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

“เราถนัดสร้างงานอาคาร และเราไม่ใช่รายกลาง เมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ แล้ว ที่ผ่านมาก็สร้างตึกสูงขนาดใหญ่เยอะ และมีคุณภาพ เช่น คอนโดไอดีโอโมบิสาทร โครงการริทึ่มสุขุมวิท 42 โครงการแอสปายพระราม 9 โตโยต้าพาร์คมอลล์ คิวเฮ้าส์คอนโดสาทร ไลฟ์ ท่าพระ”

“วีระศักดิ์” ฉายภาพว่า ขนาดโครงการที่อยู่ในมือ ที่ผ่านมาใหญ่ที่สุด คือ โครงการคอนโดมิเนียม QUINN (ควินน์) ของเอ็มบีเค มูลค่าโครงการ 1,300 ล้านบาท แต่หลังจากเซ็นสัญญาก่อสร้างงานอาคารศูนย์บริหารทางด่วน มูลค่า 2,543 ล้านบาท ทำให้เป็นโครงการใหญ่สุดในรอบ 33 ปีที่เคยรับงานก่อสร้างมา

“งานอาคารทางด่วน จะทยอยรับรู้รายได้ 2-3 ปีนับจากปี 2561 เฉลี่ยปีละกว่า 1,000 ล้านบาท จะทำให้รายได้รวมของบริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดด ปีหน้าคาดว่ารายได้รวมเราจะอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท จากปีนี้อยู่ที่ 1,400 ล้านบาท เท่ากับเมื่อปีที่แล้ว”

เนื่องจากในปี 2561 นอกจากรายได้งานอาคารทางด่วนแล้ว จะมีรายได้จากโครงการใหม่ที่จะเข้ามาอีกประมาณ 4-5 โครงการ มีคอนโดมิเนียมไอดีโอโมบิของอนันดาฯ ล่าสุดทางเอพีจะให้สร้างโครงการไลฟ์ ลาดพร้าว ในเฟสที่ 2

“ตลาดหลักของเรายังเป็นงานอาคารขนาดใหญ่คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า โดยภาพรวมตลาดชะลอ เพราะราคาที่ดินสูงขึ้น ทำให้ลูกค้ายังไม่ตัดสินใจซื้อพัฒนาโครงการ สะดุดไปพักหนึ่งช่วงปีที่แล้ว เราก็มีงานน้อยลง แต่ยังมีการพัฒนาโครงการ แนวโน้มปีนี้ไปถึงปีหน้างานจะมากขึ้น เพราะลูกค้าเริ่มตัดสินใจเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงการแล้ว”

ขณะที่การแข่งขันของผู้รับเหมาอาคารก็มีอย่างต่อเนื่องและมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการของหน่วยงานราชการ ทำให้ต้องปรับลดราคาลงมาเพื่อสู้กับคู่แข่ง ล่าสุดงานอาคารบริหารทางด่วนที่เราปรับลดราคาลงมาเกือบ 15% จากราคากลาง 2,900 ล้านบาท อยู่ที่ 2,543 ล้านบาท

บริษัทก็ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อลดต้นทุนการก่อสร้างคู่กับคู่แข่ง ที่ผ่านมามีปรับเปลี่ยนไปมาก เน้นงานที่เราเชี่ยวชาญ เน้นการก่อสร้างให้อยู่ในขั้นตอน ทำงานมีคุณภาพไม่ย้อนกลับมาแก้อีก ทำให้เราลดเวลาก่อสร้างและต้นทุนก่อสร้าง เช่น นำระบบผนังและห้องน้ำสำเร็จรูปมาก่อสร้าง ซึ่งแนวทางการก่อสร้างในอนาคตจะเป็นสำเร็จรูปมากขึ้น เพราะมีปัญหาแรงงานก่อสร้าง

นอกจากนี้ต้องประเมินต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ปัจจุบันมีการผันผวนสูง ล่าสุดเหล็กก็เพิ่งปรับราคาขึ้น เพราะบิลเลตที่ซื้อจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น อีกทั้งมีงานก่อสร้างจากโครงการภาครัฐเกิดขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่ามอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้า ทำให้วัสดุก่อสร้างขาดตลาดและมีการปรับราคาสูงขึ้น

บริษัทก็ต้องดีลกับซัพพลายเออร์สั่งซื้อล่วงหน้าและสั่งเป็นลอตใหญ่เพื่อลดต้นทุน และให้มีกำไรจากการก่อสร้าง เนื่องจากปัจจุบันลดลงจากเมื่อก่อนอยู่พอสมควร จาก 8% เหลือประมาณ 5-6%

ด้านแรงงานในมือ “วีระศักดิ์” บอกว่า บริษัทมีอยู่หลาย 1,000 คน เพื่อรองรับงานก่อสร้างที่มากขึ้น ส่วนใหญ่ 80% พึ่งพาแรงงานต่างด้าวทั้งพม่า เขมร ลาว หลังเกิดปัญหาก่อนหน้านี้ ทำให้แรงงานต่างด้าวหายไป 20-30% ตอนนี้เริ่มกลับเข้ามาแล้ว

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลใช้มาตรา 44 ชะลอการจัดระเบียบออกไปถึงเดือน ม.ค. 2561 ซึ่งบริษัทเตรียมทำให้ถูกต้องทั้งหมด แต่อยากจะขอให้รัฐลดขั้นตอนและรวมศูนย์การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเป็นวันสต็อปเซอร์วิส เพื่อความสะดวก เนื่องจากมีขั้นตอนมาก

หลังคลุกคลีงานอาคารมานานกว่า 3 ทศวรรษ ล่าสุด “วีระศักดิ์” แย้มเตรียมจะแตกไลน์สู่ธุรกิจให้เช่าเครื่องจักรและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อความยั่งยืน สมกับชื่อ “ฑีฆาก่อสร้าง”