“ศักดิ์สยาม” เปิดแผนลงทุน 4 มิติ ดึงเอกชน PPP รถไฟ-รถไฟฟ้า-มอเตอร์เวย์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวบรรยายพิเศษในงานสัมมนา “ลงทุน 2020 ฟื้นเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างงาน”ว่า การดำเนินการของกระทรวงคมนาคมอยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีวางไว้ หากทำตามนี้ประเทศไทยจะกลับมาเป็นมหาอำนาจแห่งทวีปเอเชียเลยทีเดียว

“ส่วนตัวแล้วมีอาจารย์ในชีวิตอยู่ 2 คน คือ คุณพ่อ-นายชัย ชิดชอบ ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ท่านสอนว่าเจออะไรให้หายใจลึกๆ ทำสมาธิก่อน และพี่ชาย-นายเนวิน ชิดชอบ ที่ปัจจุบันล้างมือในอ่างทองคำ เลิกเล่นการเมืองแล้ว แต่เป็นต้นแบบสำคัญในการทำงานของผม”

เผชิญปัญหางบฯช้า-ฝุ่น-โควิด

ในปีที่ผ่านมาเกิดเรื่องไม่คาดคิด 2 เรื่อง 1. การเข้าดำรงตำแหน่งที่ล่าช้าของรัฐบาล ส่งผลกระทบกับการพิจารณาพ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี 2563 ล่าช้า ซึ่งโชคดีว่าแก้ไขได้ 2. เจอปัญหาฝุ่นPM2.5 และโควิด-19 ซึ่งไทยมีลักษณะพิเศษหลากหลายในความคิดและแนวทางปฏิบัติแบบวิถีไทยๆจนผ่านมาได้

“ตอนมาร่วมรัฐบาลใหม่ๆไม่ค่อยมั่นใจ เพราะท่านนายกฯเป็นทหารมาก่อน แต่พอมาทำงานด้วยกันแล้วก็ทราบมากขึ้นว่า ท่านมีความเข้าใจในภาพรวมดีมาก และหลายเรื่องที่เป็นปัญหาที่รัฐบาลผ่านมาไม่ตัดสินใจ ท่านกลับเป็นคนที่ตัดสินใจ” นายศักดิ์สยามกล่าวและว่า

แม้จะเข้ามาสานงานต่อ แต่ในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องมีงานที่เป็นนโยบายของพรรค หลายอย่างที่ติดเรื่องข้อกฎหมายก็บอกกับข้าราชการกระทรวงแล้วว่า ให้ศึกษาและปรับให้สอดคล้องเสีย โดยในยุคสมัยของตนแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 มิติ

เดินหน้าลงทุนครบทุก 4 มิติ

ด้านขนส่งทางบก เป็นเนื้องานของกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปรียบเสมือนสายเลือดหลักในการขนส่งคนและสินค้า สิ่งที่จำเป็นคือต้องปลอดภัย สะดวก และเชื่อมโยงครอบคลุมทุกพื้นที่

“แต่งบประมาณของประเทศมีจำกัด เวลาไปประชุมสภาจะเจอคนขอให้สร้างถนนในพื้นที่ ผมอยากสร้างให้ทุกคน แต่ทุกครั้งที่มีการของบประมาณจะได้รับอนุมัติเพียง 40% จากที่ขอไป 100% จึงต้องบริหารจัดการให้ดีที่สุดแทน โดยรัฐจะต้องแบ่งเบาภาระงานด้านการบำรุงรักษา (O&M) ให้เอกชนรับภาระแทน”

ปลื้มแก้รถติดถ.พระราม 2

ทั้งนี้หลายประเทศในโลกนี้มีถนน Local Road และมอเตอร์เวย์ ซึ่งหลายประเทศใช้มอเตอร์เวย์ในการเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งทางบก ตอนนี้ กระทรวงคมนาคมทำหลายเรื่องและต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้วมาทั้งหมด

“ผมเข้ามากระทรวงคมนาคมช่วงแรกต้องเจอกับถ.พระราม 2 ยังใช้วิธีบริหารแบบเดิม วางแบริเออร์เป็นแนวปิดกั้นถนน แต่ไม่มีเครื่องจักรทำงาน ซึ่งตอนนั้นอ้างว่าเพราะดินอ่อนตัว ต้องค่อยๆถมทรายสร้างแบบสนามบินสุวรรณภูมิ จึงได้ปรึกษากับนายอนุทิน ซึ่งเป็นเจ้าของซิโน-ไทยมาก่อน จึงมีวิธีการใหม่และให้แก้ไขจนคืนผิวจราจรได้ทั้งหมดและทำความเร็วเพิ่มเป็น 53 กม./ชม. และมีความพร้อมที่สร้างทางยกระดับต่อ กำชับนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวงไปแล้วอย่าให้มีปัญหาอีก”

เดินหน้า “มอเตอร์เวย์” 4 สาย

ส่วนโครงการอื่นๆกำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง มอเตอร์เวย์บางใหญ่ – กาญจนบุรี กำลังเดินหน้าตามแผนจากที่ผ่านมาติดปัญหาเวนคืนได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว อีกสายช่วงบางปะอิน – นครราชสีมา คาดว่าต้นปี 2566 จะเปิดใช้ได้ ถือว่าทุกอย่างยังเดินตามไทม์ไลน์ ส่วนจะเปิดให้ทดลองวิ่งก่อนหรือไม่ ยังเหลืองาน O&M และถนนต้องเชื่อมต่อกัน จึงขอให้ใจเย็นๆรอสักนิดนึง

ขณะเดียวกัน กระทรวงมีแผนจะทำมอเตอร์เวย์เพิ่ม ในส่วนของถ.พระราม 2 มีแผนจะก่อสร้างมอเตอร์เวย์เพิ่มเติมจากเอกชัย – บ้านแพ้ว โดยใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ที่มีรายได้ปีละ 10,000 ล้านบาทมาก่อสร้างใช้เวลา 3 ปี

อีกสายมอเตอร์เวย์นครปฐม – ชะอำ ติดปัญหาประชาชนจ.เพชรบุรีอยากให้ทบทวนแนวก่อสร้าง ซึ่งแนวเดิมเกรงว่าจะมีปัญหา จึงต้องลงไปรับฟังความเห็นประชาชนทำความเข้าใจ หากสามารถเจรจาลงตัวคาดว่ากลางปีหน้าจะสามารถเดินหน้าโครงการได้ แต่ถ้าไม่ยอมอาจจะทำเป็นช่วงๆแทน

“ยืนยันว่าพลเอกประยุทธ์ให้ความสำคัญทั้งประเทศไทย ผมเองก็เป็นรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน ไม่ใช่ของพรรคภูมิใจไทยนอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์มีแผนให้ต่อขยายมอเตอร์เวย์สาย 7 พัทยา-มาบตาพุดเข้าไปในสนาบินอู่ตะเภา อยู่ระหว่างประสานงานกับอีอีซีเพื่อเดินหน้าก่อสร้าง”

บูมลงทุนระราง

การขนส่งทางราง ซึ่งไทยมีศักยภาพที่จะทำ แต่การใช้รางไม่เต็มประสิทธิภาพ รถไฟที่วิ่งก็อย่างที่เห็น แต่ที่เป็นแบบนี้เพราะมีข้อจำกัดจากการขาดทุนสะสม จึงให่้นโยบายกับคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ว่าปัจจุบันมีการใช้งานระบบรางทั้งหมดเท่าไหร่และเหลือกี่เปอร์เซ็น

“เพราะจากข้อมูลยังเหลืออีกมาก และให้สหภาพรถไฟไปช่วยคิดหาช่องทางใช้ระบบรางเพิ่มเติมควรทำอย่างไร ถ้าทำได้จะให้สหภาพดำเนินการ แต่หากทำไม่ได้ก็ถามต่อว่า แล้วถึงเวลาหรือยังที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมเดินรถในรูปแบบ PPP ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งทางบก เพิ่มการขนส่งทางรางได้ 30% เป็นการลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการคนไทยด้วย “

นอกจากนี้ยังพิจารณาต่อขยายโครงข่ายรถไฟออกไป กำลังสร้างรถไฟทางคู่เฟสแรก 7 สาย และรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 อีก 9 เส้นทาง ขยายเส้นทางเดิม 7 สาย และมี2 สายใหม่ เชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน คาดว่าจะเริ่มเห็นผลปี 2568

ส่วนรถไฟฟ้า ตอนนี้สายสีน้ำเงินเปิดครบโครงข่ายวิ่งเป็นวงแหวน อีกสายคือสายสีเขียว วิ่งจากสมุทรปราการไปลำลูกกา โดยให้กรมการขนส่งทางราง (ขบ.) เป็นผู้กำกับดูแล

นอกจากนี้จะมีสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในช่วงมีนบุรี – ศูนย์วัฒนธรรม ดำเนินการตามเป้าหมาย ส่วนช่วงตะวันกตก จากบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ขณะนี้การรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย(รฟม.) กำลังขาย TOR ให้เอกชนร่วมลงทุนPPP net cost ทั้งหมดจะเสร็จในปี 2568

ขณะที่สายสีแดงบางซื่อ-ตลิ่งชันและบางซื่อ-รังสิต ปัจจุบันใช้เงินของไจก้า(องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น) ลงทุน และได้ขยายกรอบวงเงินไปถึง 93,000 ล้านบาท และจะมีการขอขยายอีก 10,345 ล้านบาท โดยอาจจะต้องใช้งบประมาณมากขึ้น เพราะเพดานเงินกู้ใกล้จึงเต็มเพดานหนี้สาธารณะ 60% แล้ว จึงต้องใช้ช่องทาง PPP ในการทบทวนรูปแบบลงทุน

ส่วนสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี ก็ยังอยู่ในขั้นดำเนินการ ส่วนในหัวเมืองใหญ่ๆ รฟม.ก็ทยอยก่อสร้างไปตามหัวเมืองต่างๆเช่น ขอนแก่น พิษณุโลก เชียงใหม่ ภูเก็ต จะทำทั้งหมด

ผุดท่าเรือระนอง-ชุมพร บูม SEC

นายศักดิ์สยามกล่าวถึงการขนส่งทางน้ำว่า ด้านหนึ่งก็กำลังพัฒนาท่าเรือหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายอีอีซีจะเสร็จในปี 2568 พร้อมกับโครการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

แต่ในอนาคตจะขยายการลงทุนไปยังพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) จึงต้องวางกรอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ไว้คือการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแบบ Auto ระนอง – ชุมพร ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันทำได้และนายกฯอนุมัติงบสำหรับศึกษาไว้แล้ว

จะให้มีรถไฟทางคู่แบบแลนด์บริดจ์เชื่อมเข้าไปร่วมกับมอเตอร์เวย์ ระยะทาง 120 กม. ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชม. สิ่งเหล่านี้จะเป็นการเปิดประตูประเทศไทย เกิดการพัฒนาด้านโลจิสติกส์อีกเยอะมาก ส่วนการทำคลองคอดกระน่าจะไม่เหมาะสมแล้ว เพราะระดับน้ำทะเลฝั่งอันดามันและอ่าวไทยไม่เท่ากัน ยากจะก่อสร้างและประชาชนต่อต้านมาก

สุดท้าย การขนส่งทางอากาศ มีบมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลสนามบินทั่วประเทศ โดยทอท.ดูแล 6 สนามบิน ส่วนทย.ดูอีก 29 สนามบิน โดยเร็วๆนี้สนามบินเบตง จ.ยะลา จะเปิดใช้แล้ว

แต่ปัจจุบันสนามบินมีไม่พอกับการให้บริการ สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองแน่นทั้ง 2 แห่ง เป้าหมายของตัวเองที่คิดไว้คือ จะทำอย่างไรให้ความสามารถการรองรับผู้โดยสารทางอากาศยานทั่วโลกเพิ่มขึ้นให้ได้ 150 ล้านคน/ปี และเที่ยวบินภายในปรพเทศเพิ่มเป็น 30 ล้านคน/ปี จึงต้องขยายความสาารถการรองรับศักยภาพของสนามบินต่างๆมากขึ้น

ยันดัน “North Expansion” แน่

สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ ปัจจุบันรับผู้โดยสารได้ไม่มากเท่าไหร่ จึงต้องทำอาคารผู้โดยสาร (Terminal) เพิ่มทางด้านเหนือ (North Expansion) ซึ่งเป็นดราม่าอีกว่าไม่ทำตาม Master Plan จึงขอเรียนว่า Master Plan ฉบับเดิมออกมาตั้งแต่ปี 2536 ต้องปรับแก้และรีวิวใหม่ทุกๆ 5 ปี

และทุกวันนี้ความเติบโตของผู้โดยสารก้าวกระโดดมาก ทำตามแผนเดิมไม่ได้ จึงต้องทำ Terminal ใหม่แยกออกมาจากเดิมไปไว้ฝั่งทิศเหนือของสนามบิน แต่ดราม่าเกิดขึ้นเพราะไปบอกว่าเป็น Terminal 2 ทำไมไม่ขยาย Terminal เดิมก่อน

จึงขอเรียนการขยาย Terminal จะส่งผลต่อศักยภาพในการรับผู้โดยสาร ซึ่งตอนนี้เสนอ North Expansion ให้สภาพัฒน์พิจารณาแล้ว นอกจากนี้ เมื่อทำ Terminal แล้ว ก็ต้องมีรันเวย์เพิ่มด้วย ดังนั้นจึงต้องทำรันเวย์ที่ 3 เข้าไปด้วย

ส่วนการพัฒนาสนามบินดอนเมือง ตอนนี้ติดปัญหารายงาน EIA คาดว่าจะแก้ไขภายในปีนี้ ขณะที่สนามบินอีก 28 แห่ง ของทย. ต้องนำสนามบินทั้งหมดมาดูว่า มีที่ใดสามารถพัฒนาเป็นสนามบินนานาชาติ (International) ได้บ้าง

ถ้า ทย.ไม่มีศักยภาพพอที่จะทำได้ ต้องร่วมมือกับ ทอท. ในรูปแบบร่วงมบริหารแล้วแบ่งรายได้กัน ซึ่งมีหลายสนามบินที่มีประสิทธิภาพ เช่น อุดรธานี ขอนแก่น บุรีรัมย์ เป็นต้น ถ้าบูรณาการได้ทางอากาศเราจะเข้มแข็ง

นอกจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแล้ว การจัดการจราจรทางอากาศก็สำคัญ จึงให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ดำเนินการให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ทำระบบจราจรทางอากาศให้มีประสิทธิภาพ

“สิ่งเหล่านี้ เราต้องพัฒนาไว้ก่อน เพราะรายได้หลักของประเทศมาจากการท่องเที่ยว และกว่า 80% ของนักท่องเที่ยวมาจากทางอากาศ มีคนบอกผมว่า จะเร่งพัฒนาตอนนี้ทำไม เพราะคนยังไม่เข้ามา แต่ผมเชื่อว่าโควิดต้องจบแน่ๆสักวันหนึ่ง เราจึงต้องพัฒนาสิ่งเหล่านี้รอไว้เลย” นายศักดิ์สยามกล่าว

ถม 8.5 หมื่นล้าน “ยางพาราช่วยชาติ”

นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนารายได้ของประชาชนโดยการนำผลิตภัณฑ์ยางพารามาทำแผ่นยางหุ้มแบริเออร์และหลักนำทาง เพื่อสร้างดีมานด์ให้กับชาวสวนยาง ซึ่งได้อุปกรณ์ทั้งหมดไปทดสอบที่ประเทศเกาหลีใต้แล้ว

โดยจะมีการปรับเปลี่ยนจากการใช้”พาราเอซี” ให้เหลือเพียง “เอซี” อย่างเดียวแต่ละปีมีผลผลิตยางพาราออกมาประมาณ 300,000 ตัน/ปี โดยล่าสุดรัฐบาลได้จัดสรรงบมาให้แล้ว 1,700 ล้านบาท โดยกระจายไปทั่วประเทศ จำนวน 12 จังหวัด

จุดที่จะสร้าง จะเริ่มที่จุดที่มีอุบัติเหตุเยอะๆ และในปี 2564 จะของบกลางอีก และปี 2565 จะของบประมาณดำเนินการให้ครบตามที่วางแผนไว้ 3 ปี วงเงินรวม 85,000 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งจะเป็นแผ่นหุ้มแบริเออร์แลัอีกครึ่งหนึ่งเป็นหลักนำทาง จะซื้อตรงจากสหกรณ์การเกษตร ไม่ผ่านคนกลาง

และทล.-ทช.จะไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ เชื่อว่าเงินจะถึงมือพี่น้องมากขึ้น 71% หรือเป็นจำนวนเงินง่ายๆก็คือ เงิน 100 บาทจะถึงมือเกษตรกร 71 บาทเลยทีเดียว และราคาผลผลิตจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็คาดว่าถนนเป้าหมาย 12,000 กม.ทั่วประเทศก็จะได้เห็น แต่จะไม่รื้อเกาะกลางเดิมออกเด็ดขาด แต่จะใช้การปรับปรุงแทน


“เมื่อโครงการนี้ทำสำเร็จจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ ใน 3 ปีเงินถึงมือชาวสวนยาง 3 หมื่นล้านบาท ”นายศักดิ์สยามกล่าว