อิตาเลียนไทย รื้อลงทุน “ทวายโปรเจ็กต์” 8 พันไร่ แบ่งพัฒนา 5 เฟส

งานในมือทะลัก - ปีนี้ บมจ.อิตาเลียนไทยฯพี่ใหญ่วงการรับเหมาก่อสร้างยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่ง 30% ขณะที่งานในมือปีนี้มีล้นทะลักจาก 3 แสนล้านบาท เป็น 5 แสนล้านบาท จากงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟไทย-จีน ทางด่วน ถนน อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า จะเริ่มเซ็นสัญญาในครึ่งปีหลังเป็นต้นไป

ครึ่งปีหลัง “อิตาเลียนไทย” ลุยเซ็นงานใหญ่ ไฮสปีด 3 สนามบิน รถไฟไทย-จีน ทางด่วนพระราม 3 ฟลัดเวย์บางบาล-บางไทร ศูนย์การค้า ดันรายได้ปีนี้พุ่ง 6.7 หมื่นล้าน งานในมือทะยาน 5 แสนล้าน ทยอยรับรู้รายได้ 4 ปี ส.ค.เตรียมนำเข้าแรงงานต่างด้าว 1.5 หมื่นคน แก้ปัญหาขาดแคลน เจรจาพันธมิตรชิงดำประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ผ่าทางตัน “ทวายโปรเจ็กต์” รัฐบาลเมียนมา เดินหน้าประมูลสร้างถนนเชื่อมชายแดนไทย 4.5 พันล้าน ตัดแบ่งพื้นที่ใหม่ 8 พันไร่ ซอยย่อย 5 เฟส นำร่องเฟสแรก 500 ไร่ ลงทุน 1.5 พันล้าน หวังปลดล็อกเงินทุน หลังหยุดไซต์ 4 ปี

นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศมีการแข่งขันสูง ทั้งคู่แข่งจากบริษัทรับเหมาในประเทศและต่างประเทศ มีการยื่นเสนอราคาประมูลต่ำ ขณะเดียวกันประสบปัญหาความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการก่อสร้าง ส่งผลต่อมูลค่างานก่อสร้าง ทำให้กำไรต่อโครงการลดลงจากปกติทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 5-7%

“ผมเองก็เครียด ที่บางงานมีการผิดพลาดหลาย ๆ เรื่องทำให้ขาดทุนมาก ๆ แต่ก็ถัวเฉลี่ยกันไป ยังมีกำไรอยู่บ้าง ถึงจะน้อยลงก็ตาม ต่อไปเราจะปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ ต้องระมัดระวังการยื่นประมูลโครงการที่มีความเสี่ยงสูง เลือกรับงานที่ไม่เสี่ยงมาก ถึงจะมีกำไรน้อยก็ตาม”

นายเปรมชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดมาต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ยังส่งผลกระทบต่อการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ทำให้เกิดภาวะขาดแคลน โดยบริษัทมีความต้องการแรงงานต่างด้าวประมาณ 15,000 คน โดยเป็นแรงงานจากประเทศเมียนมาเป็นหลัก จากที่มีอยู่ในระบบประมาณ 40,000-50,000 คน กระจายตามไซต์ก่อสร้างทั่วประเทศ

“ในเดือน ส.ค.นี้ ภาครัฐจะผ่อนปรนมาตรการให้สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวได้ เราจะทยอยนำเข้ามา ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของภาครัฐ กักตัว 14 วัน เราจะรับภาระค่าใช้จ่ายการตรวจเชื้อโรคให้ อย่างไรก็ตามจะเจรจาว่าเรามีที่พัก มีอาหารให้พร้อม แต่ยังไม่ขอจ่ายค่าแรง จนกว่าจะเริ่มงาน คาดว่า ส.ค.นี้ สถานการณ์จะบรรเทาลง เพราะในช่วงครึ่งปีหลัง งานก่อสร้างที่รอเซ็นสัญญาจะเริ่มงานก่อสร้างอีกหลายโครงการต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า ต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน”

นายเปรมชัยกล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทในปีนี้ คาดว่าจะมีงานในมือที่เป็นงานก่อสร้างและสัมปทานเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 300,000 ล้านบาท เป็น 500,000 ล้านบาท จะสามารถรับรู้รายได้อีกประมาณ 4 ปี เฉลี่ยปีละ 70,000-80,000 ล้านบาท

โดยมีงานใหม่ที่เซ็นสัญญาแล้ว 18,328 ล้านบาท มีงานเสนอราคาต่ำสุดรอเซ็นสัญญาอีก 168,463 ล้านบาท เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่บริษัทจะเป็นผู้ก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด 95,880 ล้านบาท รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน 4 สัญญา รวม 29,749 ล้านบาท

ทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตกสัญญา 3 วงเงิน 6,284 ล้านบาท โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร สัญญา 2 วงเงิน 2,612 ล้านบาท งานโครงสร้างใต้ดินโครงการบางกอกมอลล์ วงเงิน 1,640 ล้านบาท ทางต่างระดับจุดตัดแยกสนามบิน จ.สุราษฎร์ธานี 1,238 ล้านบาท

และยังมีงานใหม่ที่กำลังจะเปิดประมูลส่วนใหญ่เป็นงานภาครัฐ มีมูลค่าร่วม 500,000 ล้านบาท จะทยอยเปิดประมูลในช่วงไตรมาส 3 ต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า เช่น รถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-นครพนม รถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี ที่ซื้อซองประมูลแล้วอยู่ระหว่างเจรจาหาพันธมิตรร่วมลงทุน ยังมีรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ สายสีแดง ส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ และตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา เป็นต้น จากสถิติที่ผ่านมาบริษัทจะได้งานคิดเป็นสัดส่วน 30% ของมูลค่างานที่ออกมาทั้งหมด หรืออยู่ที่ประมาณ 150,000 ล้านบาท

“ภาพรวมปีนี้งานในประเทศดีเลย์ เซ็นสัญญาช้า แต่อีก 1-2 เดือน คาดว่าจะเริ่มทยอยเซ็นสัญญาและรับรู้รายได้ ส่วนงานต่างประเทศต้องรอสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีรายได้รวมอยู่ที่ 67,000 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้วมีรายได้รวม 63,007 ล้านบาท และเรายังครองส่วนแบ่งการตลาดมากสุดอยู่ที่ 30% และปีหน้ารายได้จะสูงขึ้นอีก เพราะจะเริ่มงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ล่าสุดเราได้เตรียมความพร้อมด้านการก่อสร้างไว้แล้ว”

นายเปรมชัยยังกล่าวถึงโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายที่เข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมาว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้เงินลงทุนสำหรับจ่ายค่าสิทธิเช่าที่ดินและพัฒนาโครงการในปี 2561 จำนวน 7,738 ล้านบาท และปี 2562 จำนวน 7,804 ล้านบาท ขณะนี้โครงการหยุดการก่อสร้างไปร่วม 4 ปี เนื่องจากรอความชัดเจนเรื่องการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างชายแดนไทยที่บ้านพุน้ำร้อนกับโครงการทวาย

ล่าสุดได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วจะเดินหน้าก่อสร้างถนนขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทาง 148 กม. ค่าก่อสร้าง 4,500 ล้านบาท โดยจะเปิดประมูลปลายปีนี้ คาดว่าจะสร้างเสร็จใน 2 ปี หรือในปี 2565 โดยรัฐบาลเมียนมาเห็นชอบในหลักการและเงื่อนไขเงินกู้เงื่อนไขแบบผ่อนปรนพิเศษจากรัฐบาลไทยแล้ว

“ที่ต้องหยุดก่อสร้างเพื่อรอความชัดเจน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ซึ่งเราในฐานะผู้ลงทุนก็ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยต่าง ๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่ก็ได้อธิบายกับธนาคารที่ปล่อยกู้ว่าโครงการมีผลตอบแทนในระยะยาว เพียงแต่รอการอนุมัติให้โครงการเดินหน้าต่อ เมื่อได้รับไฟเขียวเราพร้อมเดินหน้าในทันที ซึ่งได้เจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ให้ยืดการชำระหนี้ให้บ้าง”

ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการได้เดินหน้าต่อโดยเร็ว ทางรัฐบาลเมียนมาได้แบ่งการพัฒนาโครงการใหม่ มีพื้นที่ 8,000 ไร่ ใช้เงินพัฒนาประมาณ 20,000 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคภายในโครงการ โดยแบ่งพื้นที่ให้มีขนาดเล็กลง แบ่งการพัฒนาเป็น 5 เฟส โดยเฟสแรกจะพัฒนา 500 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท เมื่อขายพื้นที่นิคมได้ 60% ถึงจะพัฒนาเฟสที่ 2 อีก 1,500 ไร่

“เฟสแรกใช้เวลาพัฒนา 5 ปี ยังมีการแบ่งย่อยพัฒนาลงไปอีก เพื่อให้บริหารจัดการเงินลงทุนได้ง่าย ซึ่งโครงการนี้เรารอมาหลายปี เมื่อโครงการถนนซึ่งเป็นหัวใจหลักของโครงการได้เดินหน้า จะทำให้ดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุน จากนั้นจะเริ่มทำการตลาดขายพื้นที่พัฒนาให้กับนักลงทุน เราเป็นผู้ก่อสร้าง ส่วนโรจนะจะเป็นผู้ทำการขายพื้นที่”


สำหรับโครงการทวายได้ลงนามสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2559 พัฒนาพื้นที่ 27 ตร.กม. ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมเฟสแรกและถนน 2 ช่องจราจรเชื่อมชายแดนไทย, ท่าเรือขนาดเล็ก, เขตที่อยู่อาศัย, อ่างเก็บน้ำและระบบประปา, โรงไฟฟ้าชั่วคราว, โรงไฟฟ้า, ระบบโทรคมนาคมและท่าเรือ LNG แต่จากความล่าช้าของโครงการทำให้ที่ผ่านมาโครงการทวายจัดอยู่ในปัจจัยความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจบริษัท