“ศักดิ์สยาม” ติวเข้มบิ๊กคมนาคมเร่งผลงาน-จัดทัพลงทุนรับ ครม.ใหม่

หลังทำงานครบรอบ 1 ปี 3 รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม นำทีมโดย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวง “ถาวร เสนเนียม” และ ”อธิรัฐ รัตนเศรษฐ”

ปฎิบัติการติวเข้มผู้บริหารกระทรวงคมนาคมทุกหน่วยทุกโหมด ถอดบทเรียน ปัญหา อุปสรรคที่ผ่านมา “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคม 4 มิติ สู่การปฏิบัติ” ให้เป็นในทิศทางเดียวกัน สร้างผลงานในปีที่ 2 รับคณะรัฐมนตรีประยุทธ์ 2/2

เดินหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติ

“ศักดิ์สยาม” กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่ง ยึดหลักการบริหารงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และนโยบายรัฐบาล ให้ความสำคัญกับทุกนโยบาย ทุกโครงการ

“กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทางถนน” ที่ผ่านมาได้แก้ไขปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้า ใช้หลักการ 5 มิติมาบริหาร มาดำเนินการให้โครงการเดินหน้าตามแผน เช่น โครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 มีทั้งการขยายช่องจราจร สร้างทางยกระดับและทางด่วน, แก้ปัญหาเวนคืนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี

แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 กำหนดอัตราความเร็วถนน 4 ช่องทางจราจรขึ้นไป ให้ใช้อัตราความเร็วได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อระบายการจราจรให้คล่องตัวยิ่งขึ้น ในปีนี้จะนำร่องถนนสายเอเชีย จะบูรณการร่วมกับตำรวจ

ลดปัญหาการจราจรหนาแน่นด่านเก็บค่าผ่านทางทางด่วน และมอเตอร์เวย์ โดยให้ศึกษายกเลิกไม้กั้นรวมถึงลดค่าผ่านทางทางด่วน มอเตอร์เวย์ โทลล์เวย์ 5-10 บาท โดยไม่กระทบต่อสัญญากับเอกชน

“การแก้ยกเลิกไม้กั้น จะสอดรับกับการพัฒนาระบบเก็บเงินที่เป็นฟรีโฟลว์มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราชและบางใหญ่-กาญจนบุรีที่ให้เอกชนมาบริหารโครงการให้”

ถาวร เสนเนียม

สร้างมอเตอร์เวย์สายใหม่

นอกจากนี้จะลงทุนสร้างส่วนต่อขยายมอเตอร์เวย์สาย 7 พัทยา-มาบตาพุด ที่จะเชิญนายกรัฐมนตรีเปิดบริการอย่างเป็นทางการในเดือน ก.ย.นี้แล้ว มีแผนจะสร้างเชื่อมสนามบินอู่ตะเภารับเมืองการบินภาคตะวันออก และต่อขยายทางยกระดับพระราม 2 จากเอกชัย-บ้านแพ้ว ที่มีแผนจะให้เอกชนมาบริหารเก็บค่าผ่านทางและปรับเป็นมอเตอร์เวย์ในอนาคต และเร่งสร้างสายนครปฐม-ชะอำเชื่อมต่อกับบางใหญ่-กาญจนบุรี เสริมการเดินทางพื้นที่ภาคใต้

ยังส่งเสริมการใช้วัสดุทดแทนที่ผลิต จากยางพาราในโครงการต่างๆ เช่น วัสดุกั้นถนน หลักเขตบอกทาง หมอนรางรถไฟ เพิ่มความปลอดภัย ในการใช้รถใช้ถนน และยกระดับราคายางพารา แก้ปัญหารายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง จะเชิญนายกรัฐมนตรีมาคิกออฟโครงการนำร่องที่ จ.จันทรบุรี วันที่ 24 ส.ค.นี้

“กลุ่มการขนส่งทางบก” จะมีกรมการขนส่งทางบกทำหน้าที่เป็นเรกูเรเตอร์ จะเร่งโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และระบบโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้า การพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
มีแผนงานที่จะดาเนินการในปี 2564 – 2565 ที่สำคัญ คือ โครงการศึกษาบูรณาการ แบบการพัฒนาสถานีเปลี่ยนถ่ายและกระจายสินค้าของประเทศเชื่อมต่อการขนส่งหลายรูปแบบ เพื่อขยายสถานีขนส่งสินค้าชานเมือง

ซื้อรถเมล์ใหม่-เปลี่ยนรถตู้เป็นมินิบัส

ด้านการขนส่งผู้โดยสาร การเปลี่ยนรถตู้โดยสารอายุไม่เกิน 10 ปี เป็นรถมินิบัสสำหรับเส้นทางระยะยาวและระหว่างจังหวัด ส่วนในเมืองเป็นภาคสมัครใจ

รวมถึงยกระดับการใช้บริการรถแท็กซี่เพื่อไปสู่การเป็น Smart Taxi โครงการยกระดับ Smart Bus Terminal เพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ การบริการรถโดยสารเชื่อมต่อระบบ Feeder Services และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เป็นต้น รวมถึงเร่งนโยบาย ”แกร๊บถูกกฎหมาย” ให้เป็นรูปธรรมปลายปีนี้ โดยจะเพิ่มแอปพลิเคชั่นของแกร๊บเข้าไปในกฎกระทรวงเพิ่ม

และเร่งรัดแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หลังมีข้อสรุปรายละเอียดเรื่องภาระหนี้กับกระทรวงการคลังแล้วจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายใน ส.ค.นี้ จากนั้นจะเริ่มประมูลหาเอกชนจัดหารถใหม่ 2,511 คัน ภายในปี 2565 วิ่งบนเส้นทางที่ปฎิรูปใหม่ เก็บค่าโดยสาร 30 บาทนั่งได้ไม่จำกัด

ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเปิดวิ่งสายใหม่

“กลุ่มการขนส่งทางราง“ มีแผนงานโครงการที่สาคัญ ได้แก่ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลกำลังประมูลมีสายสีส้มตะวันตก จะได้เอกชนลงทุนในปีนี้ และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและรถไฟไทย-จีน ยังเดินหน้าตามแผน

“ที่ผ่านมาได้ลดอัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีม่วง แอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ ตรึงราคาสายสีน้าเงิน จนถึงสิ้นปีนี้ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และจะเร่งผลักดันระบบตั๋วร่วมให้ใช้บัตรใบเดียวเชื่อมต่อกันได้ในปีนี้ระหว่างบีทีเอส สายสีน้ำเงินและสีม่วง” นายศักดิ์สยามกล่าวและว่า

ในปี 2564 จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายใหม่ คือ สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ได้บางส่วน

อธิรัฐ รัตนเศรษฐ

เดินหน้าสถานีเรือเชื่อมเดินทาง

“กลุ่มการขนส่งทางน้ำ” มีการพัฒนายกระดับมาตรฐานท่าเรือ ในแม่น้าเจ้าพระยาให้มีความสะดวก ปลอดภัย และเตรียมความพร้อมเพื่อเชื่อมโยงระบบขนส่ง พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อเป็นประตูการขนส่งสินค้าสู่กลุ่มประเทศ BIMSTEC เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับสินค้า การพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ และท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) สนับสนุนท่าเรือแหลมฉบัง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมทางน้ำ ร่องน้ำ และการเดินเรือภายในประเทศ เช่น พัฒนาร่องน้ำป่าสักให้การเดินเรือในลาน้ำภายในประเทศ การขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำเศรษฐกิจ

ในปี 2564 จะผลักดันโครงการสาคัญ ตามนโยบายรัฐบาล เพิ่มประสิทธิภาพ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และในปี 2564 – 2565 พัฒนาท่าเรือเกียกกาย ท่าบางโพ รวมทั้งศึกษาแนวทางการพัฒนาท่าเรือเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) และขุดลอกร่องน้ำฟื้นคืนสภาพร่องน้ำแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งและจะพัฒนาสถานีและนำเรือไฟฟ้ามาวิ่งบริหารในแม่น้ำเจ้าพระยา คลองแสนแสบ จะเริ่มวันที่ 5 ส.ค.นี้

ยังพัฒนาท่าเรือในแม่น้าเจ้าพระยา เช่น ท่าเรือพระราม 5 ท่าเรือพระราม 7 ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นท่าเรืออัจฉริยะ และโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย เป็น Smart Community

ไม่หยุดพัฒนาทางอากาศ

และ ”กลุ่มการขนส่งทางอากาศ” มีโครงการสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาระบบขนส่งทางอากาศเพิ่มศักยภาพสนามบินหลักของประเทศ คือ สุวรรณภูมิ และดอนเมือง รวมถึงสนามบินภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน 29 แห่ง ให้สามารถรองรับผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 150 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบิน 1.2 ล้านเที่ยวบิน

อาทิ พัฒนาสนามบินแห่งใหม่ของ บมจ.ท่ากาศยานไทย (ทอท.) ที่เชียงใหม่และภูเก็ตแห่งที่ 2 เพื่อขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินรวมถึงสนับสนุนสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airlines) ให้สามารถบริการประชาชนในภูมิภาคได้เพิ่มขึ้นในเส้นทางบินใหม่ ได้แก่ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) – นครศรีธรรมราช / นครศรีธรรมราช – ขอนแก่น / อุดรธานี – สุราษฎร์ธานี / หัวหิน – อุดรธานี / หัวหิน – เชียงใหม่ รูปแบบการพัฒนาอาจจะให้เอกชนร่วม PPP

“จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารในปีนี้ลดลงจากปี 2562 อยู่ที่ 165 ล้านคนเหลือ 41 ล้านคน ซึ่งเป็นกันทั้่วโลก เราต้องเตรียมพร้อมหลังสถานการณ์การบินคาดว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้วในปี 2565”

ปี’63 เบิกจ่ายทะลุเป้า

นายศักดิ์สยามกล่าวย้ำว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จะให้ประเมินผลงานออกมาเป็นคะแนนคงไม่ได้ แต่การทำงานที่ผ่านมาก็ทำให้สามารถแปรแผนงานไปสู่การปฎิบัติงานได้ตามเป้า ซึ่งในปี 2562 มีปัญหารการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่ติดเวนคืนบางใหญ่-กาญจนบุรี เข้าปี 2563 ยังไม่มีปัญหาอะไร และคาดว่าจะเบิกจ่ายงบประมาณโดยรวมของกระทรวง 2 แสนล้านบาท ได้เกิน 90% และเดินหน้าการลงทุนทุกโครงการ