“waterfall roof park” หนึ่งในไฮไลต์มิกซ์ยูส 3.67 หมื่นล้าน กลุ่มดุสิต-เซ็นทรัล

อวดโฉม “waterfall roof park” หนึ่งในไฮไลต์มิกซ์ยูส 3.67 หมื่นล้าน กลุ่มดุสิต-เซ็นทรัล

นางศุภจี สุธรรมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการมิกซ์ยูสแบรนด์ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” บนทำเลหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนสีลม ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างกลุ่มโรงแรมดุสิตกับเซ็นทรัลกรุ๊ป มูลค่าลงทุน 3.67 หมื่นล้าน นำเสนอยูนีคด้านการดีไซน์โดยต้องการให้เป้นไอคอนิกแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ในอนาคตหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการในปี 2567

ทั้งนี้ ทั้งโครงการพัฒนาบนที่ดินรวม 23 ไร่ โดยแบ่ง 7 ไร่ลงทุนสวนสาธารณะลอยฟ้า 7 ไร่ “รูฟพาร์ค” แนวคิด Infinity park บนดาดฟ้าชั้น 3-4-5-6-7 รวมความสูง 20 เมตร เฉลี่ยต่อชั้นสูง 6 เมตร

โดยได้มอบโจทย์การดีไซน์รูฟพาร์ค 5 ด้านด้วยกัน คือ 1.ดีไซน์ที่ยังคงอัตลักษณ์และจิตวิญญาณของความเป็นดุสิตธานี ที่โดดเด่นในเรื่องพรรณไม้และน้ำตก

2.แบรนด์ดุสิตมีประวัติศาสตร์ยุคก่อตั้งมาจาก “ดุสิตาเทวภูมิ” สวรรค์ชั้นที่ 4 โดยรูฟพาร์คจะต้องสามารถรองรับได้ทั้งแขกโรงแรมและชุมชนสาธารณะ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และสามารถใช้เป็นพื้นที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ

“คอนเซ็ปต์ดีไซน์ทีมงานคิดไปถึงคำว่าสัปปายะ ซึ่งหมายถึงสถานที่ที่คนเข้าไปอยู่แล้วมีความสดชื่นรื่นรมย์ คนเข้าถึงได้ง่าย บรรยากาศเหมือนอยู่ในสวรรค์ นั่นคือสิ่งที่เราอยากให้เป็น”

3.เพิ่มเติมในเรื่องการต่อต้านมลภาวะ จากปัจุบันที่มีปัจจัยปัญหาฝุ่นจิ๋วหรือ PM 2.5 ไอแดดจากปัญหาโลกร้อน ฯลฯ ดังนั้นโจทย์ในการดีไซน์จึงต้องการให้รูฟพาร์คเป็น oasis ใจกลางกรุงเทพฯ ออกแบบอย่างไรให้คนสัมผัสได้ว่าเข้ามาแล้วอุณหภูมิลดลงจากภายนอกโครงการ

4.ตีโจทย์จากในอดีตผู้คนที่เข้าสู่เขตรั้วดุสิตธานีเพราะมีจุดประสงค์ เช่น มางานเลี้ยง งานประชุมสัมมนา ในอนาคตต้องการให้รูฟพาร์คเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน โดยมีระบบ connectivity เพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุดในการเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ

5.มีการนำเทคโนโลยีมาเชื่อมกับสวนธรรมชาติของโครงการ โดยพยายามวิจัยและศึกษาพฤติกรรมสังคมเมือง เช่น เพิ่มเติมโซน dog park เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้มีจุดเน้นคือจะต้องเป็นสวนสีเขียวที่เน้นดีไซน์ sustainabiliy ทางด้านสิ่งแวดล้อม

นายธัชพล สุนทราจารย์ PRINCIPAL บริษัท Landscape Collaboration จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมโครงการมีการพูดถึงทุบตึกเก่าโรงแรมดุสิตธานี แต่เนื่องจากมีคุณค่าเดิมที่ต้องสืบสานต่อ จึงเน้นดีไซน์โดยเก็บรายละเอียดสถาปัตยกรรรมเดิมไว้ให้มากที่สุด

“งานแลนด์สเคปคำนึงความสะดวกสบายในการเข้ามาใช้ อาทิ Dog park, วีลแชร์สามารถเข้าถึงได้ทุกจุด, มีจ๊อกกิ้งแทร็ก 753 เมตร ออกกำลังกายได้, ระดับความสูงแต่ละชั้น 20 เมตรทำให้มุมมองเทกวิวสวนลุมมีความแตกต่างในลักษณะพาโนราม่าวิว และเนรมิตป่าผสมผสานสร้างสังคมพืชขึ้นมาในใจกลางเมือง”

นอกจากนี้ ไฮไลต์อีกเรื่องคือดีไซน์ที่ต้องการสร้างจุดเปลี่ยนการใช้ชีวิตกลางแจ้งของคนไทยเพราะกลัวอากาศร้อน ดังนั้น รูฟพาร์คจึงต้องสัมผัสได้ถึงความเย็นสบายกว่าเมื่อเทียบกับภายนอก มีสังคมพืช มีน้ำตกให้น้ำไหลผ่านรากต้นไม้

นางศุภจีกล่าวเพิ่มเติมว่า ไทม์ไลน์โครงการจะมีส่วนเรสซิเดนซ์ โรงแรม รีเทล วางแผนสร้างเสร็จและเปิดให้บริการภายในปลายปี 2566-2567 ปัจจุบันถึงแม้ยังไม่ได้มีมาสเตอร์แพลนของเรสซิเดนซ์แต่มีผู้สนใจขอวางเงินจองยูนิต 22% แล้ว จากจำนวน 389 ห้อง

สำหรับผลกระทบสถานการณ์โควิด โครงการมีการนำมาเป็นปัจจัยในการออกแบบ เช่น การรักษาระยะห่างอาจมีการใช้พรมน้อยลง, มีระบบรีจิสเตอร์คนเข้า-ออก, ในด้านการขายต้องพิจารณาไทมิ่งที่เหมาะสม โดยศึกษาตลาด ซึ่งเซกเมนต์ที่เราโฟกัสคือซูเปอร์ลักเซอรี่ พบว่า ยุคก่อนโควิดมีการพัฒนาโครงการจำนวนมาก แต่มีการดูดซับเร็วมาก

ดังนั้น ปัจจัยการลงทุนโครงการเรากลายเป็นจุดสนใจ เพราะจุดเด่น 2 เรื่องคือ 1.เวลเนส คนที่ใส่ใจสุขภาพ ดังนั้นจึงมีการร่วมมือเป็นพันธมิตรกับสถานรักษาพยาบาล ดีไซน์พื้นที่ส่วนกลางให้รองรับเวลเนสมากขึ้น

และ 2.แนวโน้มมีดีมานด์จากฮ่องกง ซึ่งภาคการเมืองอาจนำไปสู่การอพยพของประชากร โดยไทยเป็นหนึ่งในจุดโฟกัสของคนฮ่องกง เพราะมีชื่อเสียงด้านสาธารณสุข และทำเลใจกลางเมือง