ขนส่ง เปิดตัวแอป-ตู้จ่ายภาษีรถยนต์ดีเดย์ 20 ส.ค. ยันไม่เลิก “ใบขับขี่ตลอดชีพ”

ขนส่ง เปิดตัว “ตู้คีย์ออส-แอป” จ่ายภาษีรถรายปี ‪20 ส.ค.‬ได้ใช้แน่ นำร่องรถอายุไม่เกิน 7 ปี-มอเตอร์ไซด์อายุไม่เกิน 5 ปี เล็งประสาน คปภ.-ตรอ. ปรับระบบ “คีย์ข้อมูล-ผนวกรถเก่า” เข้าระบบ ด้าน “ศักดิ์สยาม” แจงไม่มีนโยบายเลิกใบขับขี่ตลอดชีพ

เมื่อ‪เวลา 15.00 น.‬ ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในงานครบรอบ 79 ปี วันสถาปนากรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ว่า ถือเป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด 1 ปีที่ได้เข้ามากำกับกระทรวงคมนาคม ได้พยายามแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนและการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งกรมก็ทำมาได้ดีโดยตลอด

เปิด 2 ช่องทางชำระภาษีรถยนต์

“ครั้งนี้ได้รับทราบกรมจะเปิดตัวช่องทางการชำระค่าภาษีรถยนต์ประจำปีใน 2 ช่องทาง ได้แก่ 1.การติดตั้งตู้รับชำระภาษีอัตโนมัติ (Kiosk) และ 2. การพัฒนาแอปพลิเคชัน “DLT Vehicle Tax”เพื่อชำระภาษีรถยนต์โดยเฉพาะ ซึ่งทั้งสองช่องทาง กรมฯยืนยันว่าได้มีการศึกษามาอย่างดีแล้ว แต่ส่วนตัวก็ยังห่วงอยู่เรื่องเดียว คือการแปรผลการศึกษาไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงช่องทางดังกล่าวและขั้นตอนวิธีการใช้ด้วย และต้องติดตามผลด้วยว่า มีอะไรที่เราต้องปรับปรุงบ้าง แต่คาดว่าประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายขึ้น”

ส่วนในอนาคต อาจจะมีการร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อบูรณาการเรื่องการชำระค่าปรับตามใบสั่ง หรือการจ่ายค่าผ่านทางของมอเตอร์เวย์และทางด่วน เป็นต้น ตามลำดับ

ยันไม่ยึดใบขับขี่ตลอดชีพ

ผู้สื่อข่าวสอบถามกรณีที่ ขบ.มีแนวคิดจะเรียกคืนใบขับขี่ตลอดชีพและดำเนินการสอบใหม่นั้น นายศักดิ์สยามระบุว่า เท่าที่สอบถามกับ ขบ. ทราบว่า ขบ.มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนใบขับขี่แบบเดิมให้เป็นดิจิทัลเท่านั้น

ส่วนการยึดคืนใบขับขี่จริงๆก็มีระบบตัดแต้มอยู่แล้ว ถ้าขับขี่ไม่ถูกตามกฎจราจรก็ต้องถูกตัดแต้ม ส่วนการจำกัดอายุผู้ขับขี่ อายุไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะการเกิดอุบัติเหตุไม่ได้มาจากเรื่องอายุเสมอไป จึงขอชี้แจงว่า เป็นเพียงแนวคิดที่จะเปลี่ยนใบขับขี่แบบกระดาษให้เป็นใบขับขี่แบบดิจิทัลเท่านั้น

20 ส.ค.‬เปิดใช้งานตู้คีย์ออส

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ในส่วนของตู้ Kiosk ขณะนี้ได้นำร่องติดตั้งแล้ว 7 จุด ได้แก่ กระทรวงคมนาคม, สำนักงานขนส่งกรุงเทพฯพื้นที่ 1 บางขุนเทียน, สำนักงานขนส่งกรุงเทพฯพื้นที่ 2 ตลิ่งชัน, สำนักงานขนส่งกรุงเทพฯพื้นที่ 3 สุขุมวิท, สำนักงานขนส่งกรุงเทพฯพื้นที่ 4 มีนบุรี, สำนักงานขนส่งกรุงเทพฯพื้นที่ 5 จตุจักร และศูนย์บริการร่วมคมนาคม บริเวณเชิงสะพานตากสิน และกำลังประสานงานกับศูนย์ราชการฯ เพื่อขอติดตั้งเพิ่มอีก 3 จุด จะเริ่มเปิดให้บริการ‪ในวันที่ 20 ส.ค.‬นี้

ในระยะแรกจะรับชำระภาษีเฉพาะรถยนต์ไม่เกิน 7 ที่นั่ง (เก๋ง), รถตู้, รถกระบะที่มีอายุใช้งานไม่เกิน 7 ปีและรถมอเตอร์ไซด์อายุไม่เกิน 5 ปีก่อน โดยอายุใช้งานนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรกที่ไม่มีภาษีค้างชำระ แต่ถ้ามีค้างต้องไม่เกิน 1 ปี ไม่ถูกอายัดทะเบียน ไม่ใช่รถที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทก๊าซ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ โดยต้องมีหลักฐานกรมธรรม์ประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 2535

“ขั้นตอนการใช้งาน ประกอบด้วย 1. จะต้องกรอกเลขที่บัตรประชาชนหรือเลขทะเบียนนิติบุคคลผู้ครอบครองรถ 2. เลือกประเภทรถพร้อมบันทึกข้อมูลทะเบียนรถ 3.บันทึกกรมธรรม์ประกันภัย 4. ขั้นตอนชำระเงิน สามารถเลือกชำระได้ 2 ช่องทางคือ ชำระผ่านบัตรเครดิต/เดบิตกับให้ตู้สร้างคิวอาร์โค้ต เพื่อชำระผ่าน Mobile Banking และขั้นตอนสุดท้ายรับเครื่องหมายเสียภาษีรถยนต์ประจำปี “

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น กำลังประสานงานกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อปรับระบบให้สามารถใส่เลขที่ทะเบียนรถยนต์แทนเลขที่กรมธรรม์ประกันภัย


และภายในสิ้นปีนี้ จะเชื่อมระบบให้เข้ากับการตรวจสภาพรถยนต์เพื่อต่อภาษีรถยนต์ประจำปี (ตรอ.) ประมาณ 2,500 จุดทั่วประเทศ เพื่อให้รถเก่าที่มีอายุมากกว่า 7 ปีใช้เป็นหลักฐานในการชำระภาษีรถยนต์โดยไม่ต้องยื่นใบตรวจอีกต่อไป ซึ่งจากข้อมูลของขบ.พบว่าทั้งประเทศมีรถเก๋งในระบบประมาณ 10 ล้านคัน และรถมอเตอร์ไซด์อีก 20 ล้านคัน