มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชส่อสะดุด ปรับแบบต้นทุนบาน 6 พันล้าน

มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช
เสร็จปี"65 - ความคืบหน้าการก่อสร้างมอเตอร์บางปะอิน-โคราช ที่กรมทางหลวงก..าลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดยังเหลืองานก่อสร้างอีก 23 สัญญา ว่ากันว่าตอนนี้ผู้รับเหมาได้รับการต่อเวลาไปถึงปลายปี 2565 พร้อมเปิดบริการปี 2566 หลังต้องรื้อแบบบางจุดใหม่ให้สอดรับกับสภาพพื้นที่

มอเตอร์เวย์ “บางปะอิน-โคราช” ส่อสะดุด รับเหมาฟันงานประหยัดเงินให้รัฐ 1 หมื่นล้านร้องระงม กรมทางหลวงปรับแบบกว่า 10 สัญญา ทำต้นทุนก่อสร้างบาน 6 พันล้าน ปิดทางไม่ให้ของบประมาณและขยายเวลาก่อสร้าง หวั่นรับเหมา 23 สัญญาทิ้งงาน สร้างเสร็จไม่ทันส่งมอบพื้นที่เอกชนติดตั้งระบบเก็บเงิน ด้าน “บิ๊กทางหลวง” แจงขอเวลาตรวจสอบรายละเอียด อีก 1 เดือนสรุป ยันไม่กระทบไทม์ไลน์เปิดบริการปีཾ ส่วนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรีคืบหน้า 30% เร่งให้เสร็จตามกำหนด

แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้าง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชร่วม 10 สัญญา กำลังได้รับความเดือดร้อนจากการที่กรมทางหลวงปรับแบบก่อสร้างหลังจากเมื่อเข้าพื้นที่ก่อสร้างจริงแล้ว ไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ออกแบบไว้ในตอนแรก

ไม่แก้สัญญา-ไม่จ่ายเงินเพิ่ม

“กรมทางหลวงแจ้งผู้รับเหมาจะไม่จ่ายค่างานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากการปรับแบบ และไม่ให้มีการปรับแก้สัญญาก่อสร้างแต่อย่างใด เนื่องจากได้รับนโยบายจากกระทรวงคมนาคม ไม่ให้มีการเพิ่มค่างานก่อสร้างในทุกกรณีทั้งที่เป็นความรับผิดชอบของกรมทางหลวงเพราะแบบไม่ตรงกับการก่อสร้างจริง”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้โครงการก่อสร้างมีความล่าช้าจากแผนงานอยู่หลายสัญญา เพราะผู้รับเหมาไม่สามารถจะดำเนินการต่อได้ จากภาระค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมอเตอร์เวย์สายนี้ผู้รับเหมามีการเสนอราคาต่ำกว่ากรอบราคากลางกันมาก จนทำให้กรมทางหลวงสามารถประหยัดงบฯก่อสร้างไปร่วม 10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หากกรมทางหลวงไม่แก้ไขปัญหาอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างของโครงการติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางที่จะส่งมอบให้เอกชนผู้รับจ้างดำเนินการได้

สะดุดรื้อแบบก่อสร้าง

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย รองอธิบดีกรมทางหลวงฝ่ายดำเนินงาน (ทล.) กล่าวว่า ปัจจุบันกรมอยู่ระหว่างตรวจสอบเนื้องานของสัญญาการก่อสร้างทั้ง 40 สัญญาร่วมกับนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เบื้องต้นพบว่ามีบางสัญญาที่จะต้องปรับแบบเพิ่ม

เนื่องจากการลงพื้นที่หน้างานของผู้รับเหมาพบปัญหาอุปสรรคมากกว่าที่เคยออกแบบก่อสร้างไว้ มีอย่างน้อย 3-4 ตอน เช่น สัญญาที่ 11 อยู่ในบริเวณป่าเขา ต้องเปลี่ยนรูปแบบจากเป็นถนนบนพื้นราบ อาจจะปรับเปลี่ยนเป็นสะพานยกระดับ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะต้องขอตรวจสอบความชัดเจนของสภาพปัญหาทั้งหมดก่อน จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจะได้ข้อสรุป

“การปรับเปลี่ยนแบบดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบกับการเปิดให้บริการของมอเตอร์เวย์สายดังกล่าวแต่อย่างใด โดยไทม์ไลน์ปัจจุบันจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 สร้างคืบหน้าแล้วกว่า 85% ก่อนที่จะมีการวางระบบ O&M ต่อ จะเปิดให้บริการได้ภายในต้นปี 2566 และไม่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ เพราะการปรับแบบจะพยายามให้อยู่ในกรอบของ EIA ฉบับเดิมมากที่สุด”

ทางหลวงขอรีเช็กความผิดพลาด

ส่วนงบประมาณจะเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้นยังตอบไม่ได้ ต้องขอตรวจสอบก่อนว่างานที่จะต้องปรับเปลี่ยนเกิดจากสาเหตุใด หากเกิดจากสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยจริง ๆ กรมจะจัดงบประมาณเพิ่มให้แต่จะพยายามไม่ให้เกินกรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ แต่หากเกิดจากผู้รับเหมาจะต้องออกค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเอง

ขณะที่มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรีความคืบหน้าอยู่ที่ 20-30% และเป็นโครงการที่กำลังเร่งรัดดำเนินการ หลังจากล่าช้าไปมากจากการติดค้างเรื่องเวนคืน โดยไทม์ไลน์จะสร้างเสร็จเปิดบริการปลายปี 2566 ส่วนจะมีการปรับแบบเหมือนมอเตอร์เวย์บางปะอินหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่พบเพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นโครงการ มีบางสัญญาที่กำลังทยอยเข้าพื้นที่ก่อสร้างไม่ครบ ต้องรอให้มีความคืบหน้ามากกว่านี้ก่อนจึงจะประเมินได้อีกครั้ง

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงกล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้กรมได้ประเมินงานก่อสร้างทั้งหมด 40 สัญญา พบว่ามีประมาณ 13 สัญญาเมื่อเข้าพื้นที่ก่อสร้างแล้วไม่สามารถดำเนินการได้ตามแบบเดิม จะต้องปรับแบบก่อสร้างใหม่ เช่น บริเวณบางปะอิน เป็นจุดต่อเชื่อมกับถนนวงแหวนรอบนอก พบว่ามีการขุดบ่อลึก 15-20 เมตร ต้องปรับจากระดับดินเป็นสะพานแทน

นอกจากนี้ ยังติดปัญหาแนวเส้นทางตัดผ่านชุมชนบริเวณ อ.ปากช่อง ซึ่งมีชาวบ้านร้องเรียนแนวเส้นทางสัญญาที่ 1, 2 และ 39 มีเสาส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขวางอยู่ จึงหารือร่วมกับ กฟผ.ขอให้ยกเสาไฟให้สูงขึ้น หรือย้ายแนวเสาไฟฟ้าออกโดยกรมจะเป็นผู้ชดเชยค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้กับทาง กฟผ. เป็นต้น

“ตอนนั้นประเมินจะมีค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยเป็นงานเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม ต้องขอสำนักงบประมาณเพื่อจัดงบประมาณให้กรมมาดำเนินการ และจะต้องรายงานให้ ครม.เพื่อทราบ ทั้งนี้ วงเงินที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้กรอบวงเงินของสายบางปะอิน-โคราชที่ ครม.อนุมัติไปก่อนหน้านี้ 71,825 ล้านบาทเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพราะกรมสามารถประหยัดงบฯก่อสร้างจากการประมูลงานทั้ง 40 สัญญา เหลือ 59,409 ล้านบาท”

เปิดโผรับเหมารับงาน 40 สัญญา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้รับเหมาที่ได้งานก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชทั้ง 40 สัญญา วงเงินรวม 59,409 ล้านบาทประกอบด้วย บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำนวน 4 สัญญา วงเงิน 6,251 ล้านบาท, บมจ.ช.การช่าง จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 3,926 ล้านบาท, บจ.กรุงธนเอ็นจิเนียริ่ง จำนวน 3 สัญญา วงเงิน 5,536 ล้านบาท, บจ.บัญชากิจ จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 3,412 ล้านบาท

บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำนวน 3 สัญญา วงเงิน 3,492 ล้านบาท, บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ จำนวน 3 สัญญา วงเงิน 2,585 ล้านบาท, บจ.ส.เขมราฐอินดัสตรี้ วงเงิน 1,040 ล้านบาท, บจ.เอส เทค ซีวิล แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 3,256 ล้านบาท บจ.ซีวิลเอนจีเนียริง จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 2,432 ล้านบาท

หจก.กิจรุ่งเรืองก่อสร้าง จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 3,092 ล้านบาท, หจก.แพร่วิศวกรรมก่อสร้าง วงเงิน 1,240 ล้านบาท, บจ.ธาราวัญ วงเงิน 1,580 ล้านบาท, บจ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 3,097 ล้านบาท, บจ.แสงชัยโชค วงเงิน 1,385 ล้านบาท, บจ.บุญชัยพาณิชย์ (บริษัทลูกซีวิลฯ) จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 3,071 ล้านบาท, บจ.ทิพากร จำนวน 3 สัญญา วงเงิน 4,126 ล้านบาท, หจก.บุรีรัมย์ก่อสร้าง จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 3,441 ล้านบาท, หจก.เอส.พี.ที. ซีวิล กรุ๊ป วงเงิน 1,419 ล้านบาท และ บจ.ยิ่งเจริญบุรีรัมย์ จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 3,382 ล้านบาท

เหลือ 23 สัญญา เสร็จปลายปี’65


ส่วนความคืบหน้างานก่อสร้างทั้ง 40 สัญญา ปัจจุบันสร้างเสร็จแล้วจำนวน 17 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 7-12 ตอนที่ 25-31 ตอนที่ 33 ตอนที่ 35-37 ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 23 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1-6 มี บมจ.ซิโน-ไทยฯ บมจ.ช.การช่าง บจ.กรุงธนเอ็นจิเนียริ่ง และ บจ.บัญชากิจ เป็นผู้ก่อสร้าง ตอนที่ 13-24 มี บจ.ส.เขมราฐอินดัสตรี้ บจ.เอส เทค ซีวิลฯ บจ.ซีวิลเอนจีเนียริ่ง บมจ.ซิโน-ไทยฯ บจ.กรุงธนเอ็นจิเนียริ่ง บจ.บัญชากิจ หจก.กิจรุ่งเรืองก่อสร้าง หจก.แพร่วิศวกรรมก่อสร้าง เป็นผู้ก่อสร้าง ตอนที่ 32 มี บจ.ทิพากร เป็นผู้ก่อสร้าง ตอนที่ 34 มี หจก.บุรีรัมย์ก่อสร้าง เป็นผู้ก่อสร้าง ตอนที่ 38-40 มี หจก.เอส.พี.ที. ซีวิล กรุ๊ป และ บจ.ยิ่งเจริญบุรีรัมย์ เป็นผู้ก่อสร้าง โดยกรมทางหลวงได้ขยายเวลาให้ผู้รับเหมาก่อสร้างออกไปอีก โดยภาพรวมสัญญาสุดท้ายจะเสร็จปลายปี 2565