เสร็จแล้ว ทางต่างระดับบางปะอิน ทะลวงคอขวดขึ้นเหนือ-อีสาน

กรมทางหลวง (ทล.) โดยสำนักก่อสร้างสะพาน ดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงทางแยกต่างระดับบางปะอิน (บางส่วน) บนทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ระหว่าง กม.50+900 ถึง กม.55+450 รวมระยะทาง 4.55 กิโลเมตร ในพื้นที่ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เสร็จแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดและหนาแน่น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว พร้อมทั้งรองรับการพัฒนาโครงข่ายถนนสายหลักของประเทศที่เชื่อมระหว่างภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเชีย) และเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจราจรช่วยอำนวยความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางบนทางหลวง

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างปรับปรุงทางแยกต่างระดับบางปะอิน (บางส่วน) จ.พระนครศรีอยุธยา แบ่งเป็นงานก่อสร้างและขยายความกว้างสะพานและงานทาง โดยสะพานมีรูปแบบเป็นทางยกระดับมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 2 ช่อง ความยาว 832.50 เมตร ความกว้างผิวทาง 8.00 เมตร ทิศทางเดียว เพื่อแยกทิศทางในการรับรถที่มาจากทางด้านถนนวงแหวนตะวันออกและจังหวัดสระบุรี มุ่งหน้าสู่ทางหลวงหมายเลข 32 ถนนสายเอเชียไปภาคเหนือ โดยไม่ต้องผ่านทางแยกต่างระดับบางปะอินเดิม ซึ่งจะทำให้ระบายรถได้คล่องตัวมากขึ้น

มีจุดเริ่มต้นโครงการบนถนนทางหลวงหมายเลข 1 ที่ กม. 50 + 900 ถึง กม. 55 + 450 รวมระยะทาง 4.55 กิโลเมตร โดยที่ กม.53+057 เป็นงานสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ความกว้างผิวทาง 9 เมตร ความยาว 60 เมตร และที่ กม. 53+054 ด้านซ้ายทางเป็นสะพานคอนกรีตอัดแรง ขยายความกว้างสะพาน 10 – 14.5 เมตร ความยาว 80 เมตร พร้อมก่อสร้างกำแพงกันดินรับน้ำหนัก และงานก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม 1 แห่ง

สำหรับงานทางได้ขยายถนนบริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน ช่องทางคู่ขนานทิศทางขาเข้ากรุงเทพมหานครเป็น 4 ช่องจราจร เพื่อป้องกันปัญหาคอขวด โดยก่อสร้างผิวทางคอนกรีต (Concrete Pavement) หนา 25 เซนติเมตร โครงสร้างชั้นทางหนา 10 เซนติเมตร พร้อมงานไฟฟ้าแสงสว่าง งานวางท่อระบายน้ำและบ่อพัก งานป้ายจราจร งานสีตีเส้นจราจร อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย และงานอื่นๆ ที่ปรากฏในแบบก่อสร้าง งบประมาณ 305.8 ล้านบาท

โครงการดังกล่าวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการคมนาคมขนส่งบริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด สามารถระบายรถได้คล่องตัวมากขึ้น เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรและการขนส่ง ช่วยให้อำนวยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยให้กับประชาชนในการเดินทางบนทางหลวง

รวมถึงรองรับการพัฒนาโครงข่ายถนนสายหลักของประเทศ และสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการเดินทางและขนส่งของประเทศในอนาคต และลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น