ทะลวงรถติดแจ้งวัฒนะ ผุดสกายวอล์ก เชื่อมศูนย์ราชการ 4 สถานีรถไฟฟ้า

สกายวอล์ก เชื่อมศูนย์ราชการ 4 สถานีรถไฟฟ้า

ร่วม 13 ปีที่ “ธพส.-บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด” บริษัทลูกของกรมธนารักษ์ ใช้เวลาพัฒนาศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะหลังจากเปิดใช้อาคารโซน A และโซน B ไปแล้ว

ล่าสุดกำลังเร่งขยายโซน C บนเนื้อที่ 81 ไร่ สุดท้ายในพิมพ์เขียวทั้งก่อสร้างอาคารใหม่และปรับปรุงพื้นที่เดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยเม็ดเงิน 20,000 ล้านบาท

สำหรับส่วนต่อขยายโซน C ตั้งอยู่ในซอยแจ้งวัฒนะ 7 ติดกับสโมสรราชพฤกษ์ และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ออกแบบเป็นอาคารสำนักงานของส่วนราชการ สูง 11 ชั้น และใต้ดิน 2 ชั้น รวม 5 อาคาร มีพื้นที่ใช้สอย 660,000 ตร.ม.ประกอบด้วย สำนักงาน 3 อาคาร ส่วนเอเทรียมและศูนย์ประชุม 2 อาคาร มีที่จอดรถ 4,600 คัน พร้อมมีพื้นที่สีเขียวระดับดินและบนหลังคาอาคาร พื้นที่สันทนาการ 50%

ความคืบหน้าล่าสุด “นาฬิกอติภัค แสงสนิท” เอ็มดี ธพส. ที่เข้ามาบริหารงานได้ 1 ปีกล่าวว่า การพัฒนาศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะส่วนสุดท้ายนี้ ใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินในประเทศ โดยทยอยกู้เป็นรายปี ในปี 2562 กู้ธนาคารออมสิน 1,500 ล้านบาท ปี 2563 กู้ธนาคารกรุงไทย 4,300 ล้านบาท ในปี 2564 มีแผนจะกู้อีก 4,800 ล้านบาท ทั้งโครงการจะใช้เวลาก่อสร้าง 60 เดือน แล้วเสร็จในปี 2567 รองรับข้าราชการและประชาชนมาใช้บริการประมาณ 30,000 คน/วัน

ได้แก่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า สำนักงานราชบัณฑิตยสภา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และศาลปกครองสูงสุด

นาฬิกอติภัค แสงสนิท
นาฬิกอติภัค แสงสนิท

ปัจจุบันกำลังดำเนินการงานเสาเข็มจะเสร็จในเดือน ก.ย.นี้ และงานก่อสร้างชั้นใต้ดิน ขณะที่งานอาคารอยู่ระหว่างออกแบบ จะทยอยดำเนินการในรูปแบบเทิร์นคีย์หรือออกแบบไปก่อสร้างไป ในเดือน ธ.ค.นี้จะเปิดประมูลอาคารด้านทิศเหนือ ค่าก่อสร้างประมาณ 6,800-7,000 ล้านบาท จากนั้นประมาณเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2564 จะประมูลก่อสร้างอาคารส่วนที่เหลือ

“ความกังวลเรื่องการจราจร จากปัจจุบันที่ประสบปัญหารถติดอยู่แล้ว หากสร้างอาคารแห่งใหม่จะมีคนมาใช้บริการเพิ่มอีกเป็น 30,000 คน จะมีวางผังการพัฒนา จัดระบบการจราจรภายในโครงการและเชื่อมต่อไปยังถนนแจ้งวัฒนะ ถนนวิภาวดีฯ ถนนประชาชื่น และรถไฟฟ้า 4 สถานีของสายสีแดงที่สถานีทุ่งสองห้อง และสถานีหลักสี่ และสายสีชมพูที่สถานีศูนย์ราชการและสถานีทีโอที เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว”

โดย “นาฬิกอติภัค” ขยายความว่า จะมีระบบขนส่งมวลชนรูปแบบรถเมล์ไฟฟ้าเป็นฟีดเดอร์รับส่งคนภายในศูนย์ราชการเชื่อมการเดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้า ขณะนี้มีการเปิดเดินรถแล้ว 1 เส้นทาง สาย 1551 วิ่งบริการไปยังโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จะเจรจากับบริษัทเอกชนให้ลงทุนเพิ่ม จะมีการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้) พร้อมที่จอดรถ 1,600 คัน ด้านหลังศาลปกครองสูงสุดและซื้อรถเพิ่ม 12 คัน รับสัมปทานวิ่งบริการ 3 เส้นทาง

ผังจราจรศูนย์ราชการ

แผนที่จราจร ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

นอกจากนี้ ยังมีแผนจะสร้างทางเดินเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู และมีโครงการก่อสร้างถนนหมายเลข 10 เชื่อมถนนประชาชื่น ระยะทาง 1.6 กม. และถนนหมายเลข 11 เป็นการปรับปรุงถนนประชาชื่นจากเดิม 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจรของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่ง ธพส.จะไปเจรจากับการประปานครหลวง (กปน.) เพื่อขอตัดถนนผ่านพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงจะเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ติดสัญญาณไฟจราจรตรงแยกถนนสาย 8 จะไปเชื่อมกับถนนวิภาวดีฯ

ทั้งหมดมีแผนงานโครงการไว้อยู่แล้วเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ตั้งแต่เริ่มวางผังพัฒนาศูนย์ราชการเพื่อเป็นการระบายการจราจร คาดว่าภายในปีนี้จะได้ข้อยุติทั้งหมด แต่ที่ล่าช้าเพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องขอจัดสรรงบประมาณมาก่อสร้าง ซึ่งถนนสาย 8 กว่าจะได้สร้างทาง กทม.ใช้เวลากว่า 10 ปี

ขณะที่การป้องกันน้ำท่วมทางกรมทางหลวงมีแผนปรับปรุงระบบระบายน้ำบนถนนแจ้งวัฒนะ และ กทม.ยังมีแผนจะก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรอีก ด้านการจัดการขยะมูลฝอยจะให้มีการคัดแยกขยะแต่ละประเภท


ทุกอย่างไม่ได้อยู่ที่ ธพส. ฝ่ายเดียว ต้องบูรณาการร่วมกับทุกฝ่าย