รถไฟฟ้าสายสีแดง งบบานปลาย ร.ฟ.ท.ทำพิกลหั่นเนื้องาน-ชดเชยหมื่นล้าน

ปริศนาค่าก่อสร้างเพิ่ม 10,345 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีแดง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต” คมนาคมกังขาจำนวนเงินไม่ตรงที่เสนอมาแต่แรก ร.ฟ.ท.แจงหั่นบางรายการ ตัดค่าชดเชยรับเหมาออก เพื่อลดวงเงิน ปลัดสั่งทำรายละเอียดมากางให้ชัด ทั้งเนื้องานที่เพิ่ม พร้อมคนเซ็นอนุมัติ 20 ส.ค.นี้ ส่วนการเปิดบริการรอ กฟน.จ่ายกระแสไฟฟ้า ร.ฟ.ท.ยันเป้าเดิม มี.ค.ปีหน้า ทดสอบเดินรถทั้งระบบ ซอฟต์โอเพนนิ่ง ก.ค.-ต.ค. 64

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณางบประมาณก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2563 คณะทำงานได้ประชุมร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พิจารณารายละเอียดการขอเพิ่มงบประมาณ 10,345 ล้านบาท ตามที่ ร.ฟ.ท.เสนอให้กระทรวงพิจารณาก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายกรอบวงเงินโครงการต่อไป

ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดคมนาคม
ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ

“ยังไม่มีข้อสรุป เพราะวงเงินที่ ร.ฟ.ท.เสนอที่ประชุมยังไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับก่อนหน้านี้ที่เสนอมา 10,345 ล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท.บอกมีลดบางรายการจากเดิมมีงานเพิ่ม 200 กว่ารายการ จึงทำให้วงเงินลดลง ให้กลับไปทบทวนรายการที่ปรับลด สำคัญหรือไม่ แล้วใครต้องเป็นคนอนุมัติ และรายงานที่ปรับลดไปเพราะต้องรอผู้มีอำนาจสั่งงานเพิ่มหรืออะไรกันแน่ ให้เสนอที่ประชุม 20 ส.ค.นี้”

ทั้งนี้ ให้หลักการ ร.ฟ.ท.ว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดงจะต้องเปิดเดินรถให้ได้แม้ขณะนี้จะยังไม่มีกำหนดการชัดจะเปิดเมื่อไหร่แต่ให้เปิดบริการให้ได้โดยเร็วที่สุดแต่ย้ำไปว่าการตัดเนื้องานบางรายการออกเพื่ดลดกรอบวงเงิน จะต้องไม่กะทบต่อการเปิดและความปลอดภัยในการบริการ อีกทั้งให้ ร.ฟ.ท.ไปดูค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดของโครงการว่ามีเพียงพอต่อค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ หากพออาจจะใช้จากค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดแทนการของบประมาณจากรัฐเพิ่ม

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.เปิดเผยว่า ค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นล่าสุดพิจารณารายละเอียดรายการแล้ว อาจจะไม่ถึง 10,345 ล้านบาท ตามที่เคยเสนอ เนื่องจากจะตัดวงเงินที่ต้องชดเชยให้ผู้รับเหมาทั้ง 3 สัญญา ขอขยายเวลาออกไปให้ผู้รับเหมาไปฟ้องร้องเรียกค่าเชดเชยเอง และตัดรายการงานสัญญา 1 ก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ทางรถไฟยกระดับและศูนย์ซ่อมบำรุงมีกลุ่มกิจการร่วมค้า SU (ซิโน-ไทยฯ-ยูนิคฯ) ออก 13 รายการ เช่น งานระบบไฟฟ้าอาคาร เป็นต้น ลดจากเดิมจะขอเพิ่ม 5,000-6,000 ล้านบาท เหลือ 4,300 ล้านบาท

ส่วนสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางยกระดับและสถานีของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ไม่มีค่างานเพิ่ม ขณะที่สัญญาที่ 3 งานวางราง ระบบรถไฟฟ้า เครื่องกลและจัดหาขบวนรถ ของกิจการร่วมค้า MHSC (มิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโม) มีงบฯเพิ่ม 1,526 ล้านบาท ไม่รวมค่าภาษีนำเข้าจ่ายให้กรมศุลกากรอีก 2 ,000 กว่าล้านบาท

“กระทรวงให้ ร.ฟ.ท.บริหารงานสัญญาที่ของบฯเพิ่มว่ามีค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดหรือไม่ ซึ่งสัญญาที่ 1 ไม่น่าจะมีเหลือ ยังไงต้องขอเพิ่ม ส่วนสัญญาที่ 3 คาดว่าจะงบฯที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่เกินกรอบวงเงิน 32,399 ล้านบาท เช่น ระบบเชื่อมต่อไฟฟ้า คิดว่าจะใช้เงินก่อสร้าง 400 ล้านบาท แต่เมื่อสร้างจริงอยู่ที่ 55 ล้านบาท”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า งานก่อสร้างทั้งโครงการใกล้เสร็จ 100% สัญญาที่ 1 ปัจจุบันผู้รับเหมาใช้สิทธิค่าแรง 300 บาท ขอขยายเวลา 150 วัน จากเดิมสิ้นสุดเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา กำลังจะส่งมอบงาน สัญญาที่ 2 สร้างเสร็จ 100% สัญญาที่ 3 คืบหน้าประมาณ 80% ยังล่าช้าจากแผนงานไปบ้าง สำหรับการเปิดเดินรถ ขณะนี้ยังคงเป้าเดิม คือ ภายในปี 2564 ในเดือน มี.ค.-มิ.ย. 2564 ทดสอบเสมือนจริง เปิดทดลองใช้ฟรีเดือน ก.ค.-ต.ค.จากนั้นเดือน พ.ย.เปิดบริการเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระบบจ่ายไฟฟ้าที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สร้างให้จะทดสอบระบบเมื่อไหร่ เนื่องจากรอผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนมาดำเนินการให้ ซึ่ง กฟน.แจ้งว่าจะจ่ายไฟฟ้าให้ในเดือน พ.ย.นี้ หากเป็นไปตามแผนงานนี้ จะทำให้มีระบบไฟฟ้าใช้ทดสอบการเดินรถทั้งระบบ

นอกจากนี้ ต้องรอผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอุปกรณ์จากยุโรปของสัญญาที่ 3 ที่ติดโควิด-19 เดินทางเข้าประเทศไทยไม่ได้ เพราะการเดินรถต้องทดสอบทั้งระบบให้ครบสมบูรณ์ถึงจะเปิดบริการได้

ขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท.กำลังเร่งหาผู้รับเหมามาดำเนินการบูรณะโครงสร้าง ราง สถานี ลิฟต์ บันไดเลื่อน และสถานีสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่สร้างเสร็จมานานตั้งแต่ปี 2555 วงเงิน 140 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดบริการ