ปีหน้าผุดสมาร์ทซิตี้ “เกาะรัตนโกสินทร์-นครสวรรค์-อุดร-ระยอง-ป่าตอง”

กางแผนพัฒนา “Smart Block” นำร่องผุดสมาร์ทซิตี้ “ดีป้า-กฎบัตร” เคาะ 4 เทศบาลประเดิมปีหน้า “นครสวรรค์-อุดร-ระยอง-ป่าตอง” ด้านกทม.ไม่น้อยหน้าเตรียมแผนดัน”เยาวราช-เกาะรัตนโกสินทร์-มักกะสัน-เตาปูน-บางโพ” แย้มมีฟีดเดอร์เชื่อมเดินทางยาว 9 กม.

วันที่ 19 ส.ค.2563 เมื่อ‪เวลา 10.00 น.‬ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว มีจัดพิธีลงนามข้อตกลงการพัฒนาย่านอัจฉริยะ โดยมีตัวแทนจากสมาคมการผังเมืองไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย มีนายภาวัตร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เป็นประธาน

ผนึก 14 เทศบาลพัฒนาย่านอัจฉริยะ

นายภาวัตรกล่าวว่า สำนักงานกฎบัตรแห่งชาติได้เสนอให้มีการทำ”ย่านอัจฉริยะ (Smart Block)” ถือเป็นหน่วยย่อยภายในเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบเพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนา Smart City ด้านอื่นๆต่อไป

ซึ่งนโยบายจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ต้องการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองด้วย จึงมีบริษัทพัฒนาเมือง บริษัทที่พัฒนาด้าน Solution Provider และเอกชนอื่นๆให้ความสนใจเข้ามาร่วม มีบจ.ยูไนเจต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพร์ส ในเครือเบญจจินดา ให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีต่างๆด้วย

พร้อมกับได้รับความร่วมมือจาก 13 เทศบาลปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสนใจเข้าร่วม ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลเมืองแม่เหียะ จ.เชียงใหม่, เทศบาลนครนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์, เทศบาลนครอุดรธานี จ.อุดรธานี, เทศบาลนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น, เทศบาลนครระยอง จ.ระยอง, เทศบาลนครรังสิต จ.ปทุมธานีเทศบางลเมืองป่าตอง จ.ภูเก็ต, เทศบาลเมืองกระบี่ จ.กระบี่, เทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, เทศบาลเมืองทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช, เทศบาลเมืองชุมแพ จ.ขอนแก่น และเทศบาลแก่งคอย จ.สระบุรี

นำร่อง 4 เทศบาล

ด้านนายฐาปนา บุณยะประวิตร เลขนุการสำนักงานกฎบัตรแห่งชาติ กล่าวว่า ทางสำนักได้รับทุนศึกษาสำหรับพัฒนา Smart Block จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) วงเงิน 27 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี (‪2562-2564‬)

โดยการออกแบบ Smart Block ทางสำนักงานจะออกแบบให้แต่เทศบาลจะไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด จะนำร่องก่อน 4 แห่ง แต่ละแห่งจะเริ่มต้นดำเนินการในขนาดไม่ใหญ่มาก คือในระยะไม่เกิน 0.25 ตร.กม.และจะพยายามไม่ให้เกิน 1 กม. และลักษณะงานจะเป็นการปรับปรุงสภาพทางกายภาพเป็นหลัก เช่น ทางเท้า ทางถนน เพิ่มระบบส่องสว่าง การเพิ่มต้นไม้ใหญ่ เป็นต้น

โดยเทศบาลที่จะนำร่องประกอบด้วย1.เทศบาลนครนครสวรรค์ บริเวณถ.โกสีย์ สี่แยกศรีไกรลาส ใช้งบปรับปรุง 3.25 ล้านบาท 2.เทศบาลนครระยอง บริเวณไนท์บาซ่า ใกล้กับสถานีขนส่งระยองแห่งที่ 1 ใช้งบปรับปรุง 15 ล้านบาท 3.เทศบาลนครอุดรธานี บริเวณถ.ประจักษ์ศิลปาคม ใช้งบปรับปรุง 10 ล้านบาทและ 4. เทศบาลเมืองป่าตอง บริเวณถ.บางลา ใช้งบปรบปรุงประมาณ 6 ล้านบาท

“ในแต่ละเทศบาลที่นำรูปแบบของเราไปพัฒนา จะต้องออกงบประมาณเอง แต่ละเทศบาลก็มีความพร้อมที่จะลงทุนเอง เช่น เทศบาลนครนครสวรรค์ที่ตอบรับกับแผนที่ออกแบบไว้อย่างชัดเจน และกำลังวางแผนจะดำเนินการทันที ส่วนงานระบบและเทคโนโลยีได้รับความร่วมมือจากบจ.ยูไนเจต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพร์ส คาดว่าเมื่อผ่านไป 1 ปีครึ่งจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 500 ล้านบาท”

ชู 4 จุดพัฒนาในกทม.

ส่วนพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ขณะนี้มีพื้นที่ที่พร้อมสำหรับพัฒนา Smart Block 4 จุด ประกอบด้วย 1.เยาวราช บริเวณถ.เยาวราช 2. เกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณท่าพระจันทร์ – ท่าช้าง – ปากคลองตลาด 3. ย่านมักกะสัน ช่วงแยกอโศก – แยกพระราม 9 และ 4.เตาปูน – บางโพ

โดยพื้นที่ที่น่าจะนำร่องได้ก่อนคือบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ขั้นตอนอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักพระราชวัง สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และกรมธนารักษ์ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานดังกล่าว

ถัดมาคือบริเวณเยาวราช เพราะได้ออกแบบรูปแบบของโครงการเสร็จแล้ว แต่เนื่องจากความไม่แน่นอนในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ยังไม่ทราบว่าจะจัดการเลือกตั้งและได้ทีมผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาหรือไม่ ทำให้ยังต้องรอจังหวะในการเสนอโครงการก่อน ทั้งนี้ เท่าที่พูดคุยกับผู้บริหารชุดปัจจุบันต่างก็เห็นด้วยกับแผนงานดังกล่าว

ส่วนพื้นที่ย่านมักกะสัน คาดว่าจะเริ่มศึกษารูปแบบพัฒนาที่เหมาะในปี 2564 เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวในอนาคตจะมีการพัฒนาของบจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (กลุ่มซี.พี.) จึงเห็นว่าควรจะวางแผนพัฒนาในย่านนี้รอไว้เลย

ผุดฟีดเดอร์ “ศรีย่าน-พระจอมเกล้า”

สุดท้ายเป็นย่านเตาปูน – บางโพ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพราะนอกจากสถานีกลางบางซื่อที่จะมีจำนวนผู้ใช้บริการไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน/วันแล้ว ยังมีรัฐสภาเกียกกาย และม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ – ม.ราชมงคลฯ ซึ่งจะมีผู้คนไหลเวียนในพื้นที่ประมาณ 100,000 คน/วัน จึงวางแผนจะพัฒนาพื้นที่บริเวณถ.ประชาราษฎร์สาย 2 เป็นพื้นที่ค้าปลีกในคอนเซ็ปต์ “Street Mall” มีพื้นที่ไม่น่อยกว่า 200,000 ตร.ม.

นอกจากนี้ในบริเวณเตาปูน – บางโพ ยังได้วางแผนทำฟีดเดอร์เชื่อมการเดินทางไว้ด้วย ระยะทาง 9 กม. แนวเส้นทางเริ่มต้นที่กรมชลประทาน แถวศรีย่าน ผ่านรัฐสภาเกียกกาย วิ่งมาถึงแยกบางโพ และไปสิ้นสุดที่ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ลงทุน 2 ระบบ 1 หมื่นล้าน

ซึ่งจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีบางโพ และเชื่อมต่อกับทางด่วนศรีรัช – วงแหวนรอบนอกที่ด่านพระราม 7 โดยออกแบบไว้ 2 ระบบคือ Transit Bus ประเมินวงเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 2,000 ล้านบาท และรูปแบบของแทรม ประเมินวงเงินลงทุนเบื้องต้น 7,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การทำฟีดเดอร์นี้ยังเป็นแผนระยะยาว เพราะมีหลายหน่วยงานให้ความสนใจที่จะเป็นเจ้าภาพ เช่น กรุงเทพมหานคร(กทม.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกระทรวงคมนาคม เป็นต้น โดยต่างฝ่ายต่างก็อ้างความจำเป็นที่จะต้องทำ อย่างรฟม.ก็อ้างว่า เป็นผู้ลงทุนทำรถไฟฟ้าเส้นหลักมาก่อน จึงควรทำเส้นฟีดเดอร์นี้ด้วย แต่กระทรวงคมนาคมยังอยากให้ศึกษาให้รอบคอบ


ซึ่งเรื่องนี้กำลังนำหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นผู้ดูแลในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเร่งรัดแผนงานดังกล่าวและบรรจุเป็นนโยบายเร่วด่วนที่น้องดำเนินการต่อไป