“ถาวร” ลงพื้นที่ “อู่ตะเภา” สำรวจความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานบูมเมืองการบิน

“ถาวร เสนเนียม” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ “อู่ตะเภา” สำรวจความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานบูมเมืองการบิน

วันที่ 24 สิงหาคม  2563 นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา ณ กองการบินทหารเรือ มีพลเรือโท กฤชพล เรียงเล็กจำนงค์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาให้การต้อนรับ

นายถาวรกล่าวว่า รายละเอียดโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอากาศ ประกอบด้วย

1.แผนพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา รูปแบบวิธีการลงทุน PPP การบูรณาการโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและคล่องตัว ความเชี่ยวชาญจากเอกชน และคุณภาพในการให้บริการ ลดภาระการลงทุน และการใช้ทรัพยากรของรัฐ รวมทั้งลดความเสี่ยงในการลงทุนของรัฐทุก ๆ ด้าน และสามารถนำเทคโนโลยี ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์จากเอกชนที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการ

โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อเป็น EEC Airport การเป็นสนามบินระดับโลก การเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค รวมทั้งรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน และการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีแก่บุคลากร จากผลการศึกษาด้านการเงิน โครงการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินภาคตะวันออก มีมูลค่าเงินลงทุน 293,699 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างเสร็จและเปิดให้บริการปี 2568

2.ความคืบหน้าแผนงานการให้บริการเดินอากาศ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โดยบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) มีหน้าที่จัดเตรียมให้บริการจราจรทางอากาศและระบบเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศเพื่อรองรับการเปิดใช้งานเฟสใหม่ อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และกลุ่ม UTA (บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด) เพื่อกำหนดพื้นที่ในการก่อสร้างหอบังคับการบินและจุดวางตำแหน่งระบบอุปกรณ์ต่าง ๆ จะได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ย.นี้ และจะได้ดำเนินการขอความเห็นชอบการลงทุนและเริ่มดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

อีกทั้งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือกับกองทัพเรือ เพื่อเตรียมการถ่ายโอนงานและบุคลากรให้สามารถเตรียมการได้ทัน รวมถึงการจัดทำข้อตกลงต่าง ๆ เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภามีขีดความสามารถสูงสุดทั้งในภารกิจด้านความมั่นคงของกองทัพเรือและด้านการบินเชิงพาณิชย์

และยังมีการจัดเตรียมเทคโนโลยีและระบบอุปกรณ์ทันสมัยต่าง ๆ ที่มีมาตรฐานและศักยภาพระดับสากลเข้าใช้งาน เพื่อให้เชื่อมโยงเข้ากับระบบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศ (TMCS ) ซึ่งเพิ่งเปิดใช้งานพร้อมกันทั่วประเทศไปเมื่อเดือน ก.พ. 2563

โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเข้ากับระบบควบคุมจราจรทางอากาศเขตสนามบินและเขตประชิดสนามบินของดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เพื่อให้เป็นสามสนามบินหลักในพื้นที่ส่วนกลางของประเทศที่อยู่ภายในเขตบริหารจัดการเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งสามสนามบินมีความสะดวกคล่องตัวลดปัญหาความล่าช้าและมีประสิทธิภาพการบินดียิ่งขึ้น

3.โครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการบินพลเรือน (สบพ.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยได้รับการจัดสรรพื้นที่จากสำนักงานบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ

โดยมีบริหารจัดการพื้นที่ ได้แก่ สิ่งปลูกสร้างเดิม สาธารณูปโภคในพื้นที่ การสำรวจด้านปฐพีกลศาสตร์ การเจาะสำรวจดิน ขุดเก็บตัวอย่างดินจากหลุมทดสอบ งานทดสอบดินด้วยวิธีอัดความดัน ผลการทดสอบในสนาม และในห้องปฏิบัติการ

การวางผังอาคารเพื่อประหยัดพลังงาน หลักเกณฑ์ตามาตรฐานสากลของ ICAO ในเรื่องความสูงอาคาร ต้องไม่เกิน 45 เมตร เนื่องจากโครงการตั้งอยู่ภายนอกเขต AIRSIDE ของสนามบิน

หลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลของ ICAO ในเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากพื้นที่โครงการตั้งอยู่ภายนอกเขตท่าอากาศยาน ดังนั้นข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติตาม ICAO จะมีเพียงเรื่องความสูงของอาคารเท่านั้น

หลักเกณฑ์การออกแบบอาคาร ต้องยึดหลักตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และกฎหมายว่าด้วยกาควบคุมอาคารอื่น ๆ ของประเทศไทย มาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน กฎหมายว่าด้วยการผลิตพลังงานควบคุม กฎหมายว่าด้วยการสงเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และสถาบันอาคารเขียวไทยและหรือเกณฑ์มาตรฐานของ LEED