“ประยุทธ์” คิกออฟยางพาราเมืองจันท์ผุด “แผ่นหุ้มแบริเออร์-เสาหลักนำทาง”

คมนาคมปักหมุด “เมืองจันท์” จัดอีเวนท์ใหญ่รับ “ประยุทธ์” คืกออฟโปรเจ็คยางพารา คาดหมุนเงินกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยเกษตรกรมีรายได้ 30,000 ล้าน

‪เวลา 14.30 น.‬วันที่ 25 ส.ค. 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการนำร่องการนำยางพารา มาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ณ อ.เขาคิชกุฏ จ.จันทบุรี

เชื่อราคายางพาราดีดขึ้น

โดยได้กล่าวเปิดงานว่า การนำร่องครั้งนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการที่จะให้ราคายางพาราสูงขึ้น ซึ่งก็กำลังมีราคาสูงขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แต่ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะสำหรับตน เพราะแม้จะมีราคาสูงขึ้นก็จริง แต่ยังสูงไม่พอและรัฐบาลต้องนำเงินส่วนหนึ่งมาประกันรายได้ให้เพียงพอกับการครองชีพ

ทั้งนี้ เชื่อว่าการนำยางพารามาใช้ในการผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และ หลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) จะทำให้การบริโภคยางพาราในประเทศสูงขึ้น แม้จะต้องใช้งบประมาณจากรัฐอุดหนุนอยู่ดี แต่ก็ดีกว่าการนำเงินไปใช้ในวิธีอื่น

“วันนี้ถือเป็นก้าวแรก ไม่มีอะไรได้มาเร็วหรอกครับ ที่ผ่านมาเคยทำเรื่องถนนยางพารามาก่อน แต่สิ่งที่ในวันนี้มันจะเกิดมูลค่ามากขึ้นและจะกลับมาสู่ประชาชน และเราจะทำต่อไปเรื่อยๆ” นายกฯกล่าว

ขายฝันอีอีซีมาจันทบุรีแน่

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เมื่อมีการนำยางพารามาเพิ่มความปลอดภัย ก็ต้องกล่าวถึงการจราจร เมื่อวานนี้ (24 ส.ค.) ก็ได้ไปเปิดส่วนต่อขยายมอเตอร์เวย์สาย 7 ช่วงพัทยา – มาบตาพุด ถือเป็นการขยายโครงข่ายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แม้ว่าจันทบุรีจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่อีอีซี แต่เชื่อว่าในอนาคตหากอีอีซีประสบความสำเร็จ การพัฒนาไม่ว่าจะ Smart City อุตสาหกรรมเป้าหมายและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆก็จะขยายตัวมาสู่จ.จันทบุรีอย่างแน่นอน

คาดชาวสวนยางได้ 3 หมื่นล้าน

ด้านนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า แผนการดำเนินโครงการดังกล่าวมีระยะเวลา 3 ปี คือระหว่างปีงบประมาณ ‪2563 – 2565‬ มีปริมาณการใช้ยางพารา จำนวน 1,007,951 ตัน คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับ จำนวน 30,108 ล้านบาท และจะมีการสำรวจตรวจสอบเพื่อเปลี่ยนแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ ทดแทนที่เสื่อมสภาพหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้ยางพาราในทุกๆปี ปีละไม่น้อยกว่า 336,000 ตัน ซึ่งเป็นการสร้างเสถียรภาพราคายางพารา ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน