“ถาวร” ชงยื่นหลักฐาน “คลัง-ป.ป.ช.” ฟันทุจริตทำ “บินไทย” เจ๊ง 31 ส.ค.นี้

“ถาวร” จัดทีมร่ายยาวไขปม “การบินไทย” ขาดทุนบักโกรก ย้ำ “ซื้อเครื่องบิน A380 สินบนโรลลอยซ์” เป็นปฐมบท พร้อมแจงเหตุผลการขาดทุนรวม 3 ปี 2560-2562 มาจากหลายสาเหตุ จ่อชง คลัง-ป.ป.ช.-บิ๊กตู่ ฟันทุจริต ‪31 ส.ค.‬นี้

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของ บมจ.การบินไทย ที่มีพล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ได้สรุปผลการตรวจสอบทั้งเหตุผลที่ขาดทุนและการทุจริตเรียบร้อยแล้ว

ใช้เวลา 43 วันตรวจสอบ

โดยใช้เวลาทำงาน 43 วันและเป็นการตรวจสอบระหว่างปี ‪2560-2562‬ ส่วนที่ใช้เวลาตรวจสอบแค่ 43 วัน เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความคณะทำงานชุดนี้ว่าไม่มีอำนาจเอาผิดการบินไทยโดยตรง เพราะการบินไทยได้พ้นสถานะรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคมไปตั้งแต่วันที่ ‪23 พ.ค.‬ที่ผ่านมา

“‪ในวันที่ 31 ส.ค.‬นี้จะนำหลักฐานทั้งหมดประมาณ 10 ลังไปยื่นให้กับกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งมีอำนาจควบคุมการบินไทย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงจะรายงานให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป”

ซื้อฝูงบิน6หมื่นนล้านปฐมบทเจ๊ง

นายถาวร ย้ำว่า จากการสืบสวนสอบสวนของคณะทำงานพบว่า ปฐมบทที่ทำให้การบินไทยขาดทุนมาจากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ วงเงิน 53,043.04 ล้านบาทในช่วงปี 2548 และมีการเพิ่มเส้นทางบินช่วงกรุงเทพ – ลอสแองเจลิส แต่บินได้ 3 ปีก็ยกเลิกไปในปี 2551 เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนถึง 12,497 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้การบินไทยขาดทุนมากถึง 21,450 ล้านบาท ถือเป็นการขาดทุนมากที่สุดนับแต่ก่อตั้งในปี 2503

หลังจากนั้น การบินไทยก็ยังเอาเครื่องบินทั้ง 2 รุ่นมาทำการบินต่ออีกใน 51 เส้นทาง จนสุดท้ายต้องเลิกบินในปี 2556 เพราะประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง คิดเป็นวงเงิน 39,860 ล้านบาท และประสบปัญหาขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินจำนวน 22,944 ล้านบาท

“รวมขาดทุนจากการซื้อเครื่องบินรวม 68,304 ล้านบาท และจากการขาดทุนในช่วงดังกล่าวทำให้การบินไทยต้องออกหุ้นกู้เป็นครั้งแรกเป็นจำนวนเงิน 59,290 ล้านบาท หากนับถึงปัจจุบันก็ออกไปแล้ว 5 ครั้งรวมวงเงิน 158,778 ล้านบาท”

ชี้สินบนโรลลอยซ์ก็มีส่วน

นอกจากการซื้อเครื่องบินแล้ว ยังมีอีก 3 ปัจจัยที่ทำให้การบินไทยขาดทุน ได้แก่ 1. ไม่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่นำความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสำนักงบประมาณไปประกอบการจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าว

2. ปัญหาการรับสินบนโรลลอยซ์จำนวน 254 ล้านบาทให้กับพนักงานการบินไทย เพื่อให้มีการจัดซื้อเครื่องยนต์อะไหล่รุ่น Trent-500 จำนวน 7 เครื่องยนต์ วงเงินรวม 3,523 ล้านบาท ซึ่งรวมกับการทำข้อตกลงจ้างช่างซ่อมแบบเหมาจ่าย (Total Care Agreement:TCA) วงเงิน 1,129 ล้านลบาทด้วย

และ 3. การจ่ายสินบนที่มากกว่าปกติประมาณ 5% หรือประมาณ 2,652 ล้านบาทของวงเงินรวม 53,043 ล้านบาท แก่นักการเมือง เจ้าหน้าที่ และพนักงานของการบินไทย แลกกับการให้มีการซื้อเครื่อง A380

เปิดปมขาดทุนอ่วม 3 ปี 2.5 หมื่นล้าน

จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น ส่งผลสืบเนื่องให้ในระหว่างปี ‪2560-2563‬ การบินไทยยังคงขาดทุนต่อเนื่อง โดยพบว่ามียอดขาดทุนสะสมรวม 25,659 ล้านบาท มาจากสาเหตุสำคัญ

1. ในช่วง 3 ปีดังกล่าวการบินไทยมีพนักงานลดลง แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มทุกด้าน เช่น เบี้ยหุ้นกู้ปรับเพิ่มขึ้น 13,173 ล้านบาท, ค่างานล่วงเวลา (โอที) ของพนักงานและลูกเรือเพิ่มขึ้น 638 ล้านบาท, ค่าโอทีฝ่ายช่างเพิ่มขึ้น 530 ล้านบาท , ค่าตอบแทนพนักงานเฉลี่ย/คน/เดือน อยู่ที่ 129,134 บาท, ภาระดอกเบี้ย 4,535 ล้านบาท/ปี แต่ค่าตั๋วโดยสารอยู่ที่ 6,361 บาท เฉพาะปี 2562 การบินไทยขาดทุนถึง 12,017 ล้านบาท แต่มีค่าตั๋วโดยสารเพียง 6,081 บาท/ใบ ส่วนค่าโอทีฝ่ายช่างก็สูงกว่า 2,022 ล้านบาท

โดยพบว่าพนักงาน 1 คน ทำโอทีได้ถึง 3,354 ชม. และมีวันทำโอทีถึง 419 วัน แต่ 1 ปีมีเพียง 365 วันเท่านั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการทำโอทีดังกล่าวเกิดขึ้น ทั้งที่พนักงานมีรายได้/ปีเพียง 878,436 บาทเท่านั้น

2. การจัดหาเครื่องบินประเภท B787-800 จำนวน 6 ลำ วงเงิน 28,266 ล้านบาท และเช่าดำเนินงานแบบ B787-900 อีก 2 ลำ ซึ่งการเช่าดังกล่าวพบส่วนต่างของราคาประมาณ 589 ล้านบาทเพราะมีเครื่องบินไม่เท่ากันโดยราคามีตั้งแต่ 4,475 – 5,064 ล้านบาท เมื่อใช้งานไป 5 ปี มีการแจ้งเปลี่ยนเครื่องยนต์ การบินไทยมีภาระต้องเปลี่ยนเครื่องบินอีก 386 ล้านบาท และมีการใช้เครื่องบินผิดพลาดในการวางแผนติดตั้งที่นอนของลูกเรือและนักบิน

จึงมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 1,652 ล้านบาท ยังไม่รวมความเสียหายจากสัญญา TCA ของเครื่องยนต์ที่บกพร่องอีก 1,300 ล้านบาท ทำให้เครื่องบินรุ่นดังกล่าวสร้างความเสียหายไปแล้ว 3,927 ล้านบาท โดยไม่มีการรายงานการตรวจสอบหรือสาอบสวนหาผู้ทำผิดเลย

3. สัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์แบบเหมาจ่ายในปี ‪2560-2562‬ พบความเสียหายอีก 12,792 ล้านบาท เช่น การทำสัญญาการบินแบบ Stage Length ไม่เป็นไปตามชั่วโมงบิน (สัญญาเฉลี่ย 8 ชม. บินจริง 5.5 ชม.) และการไม่ต่อสัญญาซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ Trent800 ซึ่งส่งผลกระทบเกิดความเสียหาย เป็นต้น

4.แผนจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 156,169 ล้านบาท การบินไทยไม่แก้ไขตามที่นายถาวร ในฐานะรัฐมนตรีกำกับหน่วยงานสั่งให้ทบทวน และช่วงเดียวกันการบินไทยไปจัดหาเครื่องบินแบบเช่าจำนวน 3 ลำวงเงิน 16,604 ล้านบาทจะทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ยสูงขึ้น

5.สายการบินพาณิชย์ไม่จัดทำงบประมาณแต่ใช้วิธีเปลี่ยนแปลงงบประมาณเองผ่านคณะกรรมการบริหารนโยบายของบริษัท และขายตั๋วโดยสารในราคาต่ำมากซึ่งพบว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้ตัวแทนจำหน่ายตั๋ว (Agent) ทั้งในแบบค่าคอมมิชชั่น ค่า Tier เป็นต้น

6. บริหารงานบุคคลล้มเหลว เช่น มีรักษาการดีดีท่านหนึ่งรับค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษเดือนละ 200,000 บาท ผ่านไป 6 เดือนได้เพิ่มเป็น 600,000 บาท อ้างว่าบอร์ดของการบินไทยเป็นผู้เห็นชอบ

ประกอบกับการสรรหารองดีดีแบบสัญญาจ้าง 4 ปี จำนวน 2 รายซึ่งมีที่มาจากพนักงานของการบินไทย เข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง บุคคลใกล้ชิด กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ เช่น ขอเกษียณอายุก่อนกำหนดได้ ไม่ต้องพ้นสภาพพนักงาน เป็นต้น

7. เอื้อประโยชน์ขยายสัญญาให้สิทธิ์เอกชนขายสินค้าปลอดภาษีบนเครื่องบินให้กับผู้รับสิทธิ์รายเดิม 9 เดือน แทนการจัดประมูลแข่งขัน

และ 8. การบริหารบจ. ไทยสมายล์แอร์เวย์ (สายการบินไทนสมายล์) มีผลขาดทุนต่อเนื่องโดยมียอดขาดทุนรวม 8,000 ล้านบาท

สารพัดเหตุทำบินไทยปีกหัก

ดังนั้น คณะทำงานจึงเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้การบินไทยขาดทุนอาจมาจาก 1.ผู้บริหารบางคนร่ำรวมผิดปกติ 2. การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์บนเครื่องบินปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท ส่อทุจริตเพราะได้ของไม่ตรงสเปก 3. มีการแต่งตั้งลูก ญาติ คนใกล้ชิดที่ไม่มีความรู้เข้ามาทำงานและอยู่ในตำแหน่งสำคัญ

4. การหาวัตถุดิบของครัวการบินไทย ผูกขาดผู้ประกอบการไม่กี่คน 5. การแต่งตั้ง โยกย้าย สรรหาผู้บริหารระดับสูง จงใจเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง 6. มีการเอื้อประโยชน์และผูกขาดการบริหารน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีการจัดซื้อเฉลี่ย 50,000 ล้านบาท/ปี 7. การซื้อหาอะไหล่เครื่องยนต์ของเครื่องบิน มีการจัดหาเกินจำเป็น ส่อผูกขาด และทำให้เกิดภาระไม่จำเป็นตามมา

8. ค่าโอทีฝ่ายช่างมีการทุจริต 9. ไม่รายงานผลสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีการจัดหาเก้าอี้ผู้บริหารจากบริษัท Koito วงเงิน 3,000 ล้านบาท 10. มีข้อมูลทุจริตที่ได้จากการฝ่ายบุคคลของการบินไทย มีการเล่นพนันวงเงินประมาณ 261 ล้านบาม 11. การคัดเลือกพนักงานต้อนรับบนเครื่องในตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส ปี 2559 เป็นไปโดยมิชอบ เล่นพรรคเล่นพวก และมีกรรมการคัดเลือกรู้เห็น เป็นต้น

นายถาวรกล่าวอีกว่า จากระยะเวลาดำเนินการดังกล่าว ทำให้คณะทำงานมีเวลาไม่พอจะลงไปตรวจสอบบริษัทย่อยต่างๆของการบินไทย ก็หวังว่าผู้มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายจะนำหลักฐานทั้งหมดไปดำเนินการต่อ เพื่อให้การบินไทยกลับมาแข็งแรงและมีกำไรต่อไป