หวั่นค่าโง่ สั่ง รฟม.เจรจา “BTS-BEM” ปมชดเชยรายได้ “สีน้ำเงิน-เหลืองต่อขยาย”

ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีเหลืองเชื่อม ”รัชดา-รัชโยธิน” สะดุดยาว ถกปมชดเชยรายได้ ”สายสีน้ำเงิน” ไม่ลงตัว บอร์ดสั่ง รฟม. เจรจา BTS-BEM ให้จบ หวั่นเกิดค่าโง่ ส่วน ”สายสีส้ม” บอร์ดปล่อยเป็นอำนาจกรรมการมาตรา 36 พิจารณาเองปรับเกณฑ์พิจารณาผู้แพ้-ชนะ รฟม.ยืนกรานยื่นซอง 6 พ.ย.นี้

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้มีการพิจารณารายงานผลเจรจาส่วนขยายสายสีเหลือง ช่วงรัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. ที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์-บมจ.ซิโน-ไทยฯ-บมจ.ราชกรุ๊ป) ผู้รับสัมปทาน 33 ปี ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เสนอลงทุนเพิ่ม 3,779 ล้านบาท ยืนยันจะไม่เกี่ยวข้องด้วยกรณีชดเชยรายได้ให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

“บอร์ดรับทราบผลเจรจาและให้ รฟม.เจรจากับกลุ่มบีทีเอส และ BEM เพราะมองว่าเป็นประเด็นสำคัญของการที่จะต้องปิดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ซึ่ง รฟม.ต้องการแค่ให้กลุ่มบีทีเอสยอมรับให้กำหนดไว้ในสัญญาเปิดให้เจรจากันในอนาคต เพราะผลกระทบรายได้ BEM ต้องไปพิสูจน์เท่าไหร่ และต้องมาพิสูจน์กันอีก ยังมีเวลาเจรจาไปจนกว่าสายสีเหลือเส้นทางหลังลาดพร้าว-สำโรงจะเปิดบริการตลอดสายในเดือน ก.ค.2565”

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ
ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ รฟม.ได้สอบถามประเด็นปัญหาดังกล่าวไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ซึ่งระบุว่าหลักของการเยียวยา จะต้องเกิดขึ้นจริงก่อน ถึงจะนำตัวเลขมาพิจารณากันว่ามีมูลค่าความเสียหายเท่าไหร่ จะเยียวยากันแบบไหน ในสัดส่วนเท่าไหร่ ทั้งนี้ในเมื่อปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขชัดเจน แต่ รฟม.มองว่ามีโอกาสที่จะเกิดสูง ก็อยากจะเปิดสัญญาให้เจรจาได้ในอนาคต

นอกจากนี้ บอร์ดยังรับทราบการขยายเวลายื่นซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มบางขุนนนท์-มีนบุรี จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost 30 ปี วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท ออกไปอีก 45 วันจากเดิมยื่นข้อเสนอวันที่ 23 ก.ย. เป็นวันที่ 6 พ.ย. 2563 หลังจากมีเอกชนยื่นหนังสือให้ปรับเกณฑ์การพิจารณาผู้ชนะประมูล โดยพิจารณาซองเทคนิคและซองราคาพร้อมกัน โดยนำคะแนนเทคนิค 30% พิจารณารวมกับซองราคา 70% โดยผู้ชนะจะเป็นผู้ที่ให้ผลตอบแทนรัฐสูงสุด

“บอร์ดพิจารณาแล้วเป็นอำนาจของกรรมการมาตรา 36 ส่วนกรณีที่บีทีเอสมายื่นหนังสือให้บอร์ดพิจารณาคัดค้านการเปลี่ยนเกณฑ์การพิจารณาใหม่ ซึ่งเป็นรายละเอียดเดียวกับที่ยื่นต่อคณะกรรมมาตรา 36 เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทุกประเด็นได้มีการพิจารณาไปแล้ว ก่อนที่คณะกรรมการมาตรา 36 จะอนุมัติให้ปรับเกณฑ์ใหม่ได้ ซึ่งบอร์ดให้ รฟม. และคณะกรรมการ 36 พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อกันเอง”

นายภคพงศ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ รฟม.ขอย้ำว่า การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าวมองไม่เห็นว่าจะเอื้อประโยชน์ให้ใคร และตามกฎหมายให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพราะยังไม่มีการยื่นข้อเสนอ และขยายเวลาให้อีก 45 วัน ผู้ซื้อเอกสารมีเวลาทำเอกสารปรับปรุงไม่น้อยกว่า 70 วัน มากกว่ากำหนดไว้แต่แรก 60 วัน

“เรามองว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ใคร และไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบและเสียเปรียบกัน เพราะรถไฟฟ้าถึงแม้จะมีอายุสัมปทาน 30 ปี แต่การใช้งาน 50 ปี ขณะที่โครงสร้างมีอายุใช้งาน 100 ปี รฟม.ต้องจัดหาอุปกรณ์ งานระบบ งานโยธา ที่มีคุณภาพสูง เพราะเป็นงานที่มีความซับซ้อนและต้องการเทคโนโลยีเฉพาะในการดำเนินการ เป็นหลักเดียวกับที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ที่ระบุเป็นการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยึเฉพาะ ให้มีการคัดเลือกโดยนำเรื่องของทางเทคนิคประกอบการพิจารณาคัดเลือกด้วย“