ซี.พี. อัพเกรดแอร์พอร์ตลิงก์ ย้ายสถานีไฮสปีด “พัทยา” เข้าเมืองใหม่

แอร์พอร์ตลิงก์

ซี.พี.เปิดแผนปรับปรุงแอร์พอร์ตลิงก์ก่อนเข้าเทกโอเวอร์โครงการ ต.ค.ปี’64 เผย ต.ค.นี้ทุ่มหลายพันล้านยกเครื่องใหม่ทั้งระบบและโครงสร้างคน รื้อตู้ขนกระเป๋า สวมเบาะนั่งรับผู้โดยสารเพิ่ม ระหว่างรอรถขบวนใหม่ผลิตเสร็จอีก 2 ปี

ต้นปี 2564 เตรียมเปิดไซต์สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เฟสแรก 170 กม. สนามบินสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เจรจา ร.ฟ.ท.ขอย้าย 2 สถานีใหม่ “พัทยา-ศรีราชา” ลากเข้าพื้นที่ใหม่ 600 ไร่ พัฒนาเชิงพาณิชย์ต่อยอดโครงการ หลังราคาที่ดินพุ่งไร่ละ 10 ล้าน ดับฝันขาใหญ่แลนด์ลอร์ดฮุบทำเลทอง คาดใช้เวลาสร้าง 5 ปี เสร็จปี’69

แหล่งข่าวจากบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่ม ซี.พี.) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและแอร์พอร์ตลิงก์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 เป็นต้นไป บริษัทจะเข้าไปดำเนินการปรับปรุงระบบและพื้นที่สถานีของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ)

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าบริหารโครงการในเดือน ต.ค. 2564 พร้อมจ่ายค่าใช้สิทธิ 10,671 ล้านบาท เพื่อรับโอนโครงการจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ตามสัญญากำหนดไว้ 2 ปี ขณะนี้ทางบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกของ ร.ฟ.ท.ที่เดินรถอยู่ในปัจจุบันกำลังรอความชัดเจนจากบริษัทด้วยเช่นกัน เพื่อเตรียมโยกคนไปดำเนินการโครงการอื่น

ปรับปรุงแอร์พอร์ตลิงก์ ต.ค.นี้

“เดิมจะเข้าตั้งแต่เดือน ก.ย.นี้ เลื่อนเป็น ต.ค. เพราะติดโควิด-19 ทำให้พันธมิตร คือ บริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (FS) ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการโครงการในการจัดโครงสร้างคนและการเดินรถให้ ยังไม่สามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทย กำลังขอความช่วยเหลือจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี คาดว่าในเดือน ก.ย.นี้จะเดินทางเข้ามาได้ ล่าช้าจากเดิมเดือน ส.ค.นี้”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าไปสำรวจตรวจสอบระบบเทคนิคเป็นระบบหลักแล้ว เช่น ขบวนรถ 9 ขบวน ระบบโทรคมนาคม ระบบจ่ายไฟฟ้า อุปกรณ์ในโรงซ่อมบำรุง ระบบอาณัติสัญญาณ ประตู โครงสร้างงานโยธา อะไหล่ ซึ่งยังสามารถใช้งานได้ แต่ต้องมีปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น ระบบเบรก ระบบอาณัติสัญญาณที่จะต้องเป็นระบบเปิดให้รับกับขบวนรถได้มากขึ้น จากปัจจุบันเป็นระบบปิดเฉพาะระบบซีเมนส์ ซึ่งรายละเอียดการปรับปรุงได้ทำรายการไว้ทั้งหมดแล้ว เหลือประเมินระยะเวลา และเงินลงทุน คาดว่าจะเป็นระดับ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

ปรับปรุงตู้ขนกระเป๋ารับผู้โดยสาร

“ขบวนรถใหม่เราซื้อแน่ ก่อนรับโอนโครงการ จะใช้เวลาผลิตอย่างน้อย 2 ปี คงไม่ทันนำมาวิ่งบริการ ต.ค.ปีหน้า ในระหว่างนี้จะปรับปรุงขบวนรถเดิมเป็น express line มีตู้สำหรับขนสัมภาระกระเป๋า ให้รองรับผู้โดยสารมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเร่งด่วนเช้า-เย็น จากข้อมูลของแอร์พอร์ตลิงก์มี 4 ขบวน ขบวนละ 1 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ตู้ละ 250 คน รวม 4 ตู้ ประมาณ 1,000 คน ใช้งบฯปรับปรุง 150 ล้านบาท ส่วนพนักงานจะมีโอนจากแอร์พอร์ตลิงก์เดิมมาบางส่วนและรับใหม่บางส่วน”

นอกจากนี้จะปรับปรุงการให้บริการ เช่น ที่จอดรถ ถนนเข้า-ออก ทางเดินเข้าสถานีทุกสถานี เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร เช่น สถานีมักกะสัน จะมีทางเชื่อมใต้ดินกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีเพชรบุรี จากปัจจุบันมีสกายวอล์กอยู่แล้ว เป็นต้น

ก.พ.ปีหน้ารับมอบพื้นที่ไฮสปีด

แหล่งข่าวยังกล่าวถึงความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า ขณะนี้ภาครัฐเคลียร์แผนการส่งมอบพื้นที่และรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคแล้ว คงไม่มีปัญหา คาดว่าภายในเดือน ก.พ.-มี.ค. 2564 จะเข้าพื้นที่ก่อสร้างโครงการส่วนแรกจากสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และพื้นที่สถานีมักกะสัน 140 ไร่ และสถานีศรีราชา 25 ไร่ ที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ (TOD) ได้ตามที่กำหนด รวมถึงอยู่ระหว่างรอแบบของกลุ่มบีทีเอส เพื่อกำหนดที่ตั้งสถานีให้สอดคล้องกับสนามบินอู่ตะเภาด้วย

โดยงานก่อสร้างมี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนงานระบบเป็นความรับผิดชอบของ บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC) ซึ่งระบบรถไฟความเร็วสูงขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกยี่ห้อไหน ซึ่งมีเสนอมาให้พิจารณาเกือบทุกยี่ห้อ อาทิ ซีเมนส์จากประเทศเยอรมนี, บอมบาร์ดิเอร์, อัลสตรอม, ฮุนได โลเธมจากเกาหลีใต้, CRRC-Sifang จากจีน, ฮิตาชิจากญี่ปุ่น ขณะที่ บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นหนึ่งในพันธมิตรร่วมทุน ยังไม่มีความชัดเจนจะร่วมดำเนินการส่วนไหน เนื่องจากขณะนี้กำลังทุ่มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี)

เปิดไซต์เป็นเฟส ๆ

“แผนการก่อสร้างทางอิตาเลียนไทยได้ทำแผนงานไว้แล้ว จะเปิดพื้นที่หน้างานตลอดสาย แต่อาจจะสร้างเป็นจุด จุดละ 30-40 กม. ใช้เวลาสร้าง 5 ปี และแล้วเสร็จในปี 2569 ขยับจากเดิมจะเปิดปลายปี 2566 ส่วนช่วงมักกะสัน-ดอนเมืองอาจจะล่าช้าจากนี้ไปอีก 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับการส่งมอบพื้นที่”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ตามแผนแบ่งพื้นที่ส่งมอบ 3 ส่วน จากทั้งโครงการ 220 กม. แยกเป็น 1.สถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ 28 กม. โครงสร้างแอร์พอร์ตลิงก์เดิม พร้อมส่งมอบทันที 2.สถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 170 กม. ภายใน 2 ปี แต่เร่งให้ได้ 1 ปี 3 เดือน และ 3.สถานีพญาไท-ดอนเมือง 22 กม. ภายใน 4 ปี เร่งรัดได้ 2 ปี 3 เดือน

ส่วนการเวนคืนที่ดินทาง ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างดำเนินการ มีค่าเวนคืน 3,570 ล้านบาท มีพื้นที่เวนคืน 885 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวา แปลงที่ดิน 931 แปลง อาคารสิ่งปลูกสร้าง 360 หลัง ต้นไม้ 517 แปลง ผู้บุกรุก 1,352 หลัง อยู่ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ 782 หลัง และช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 570 หลัง

สะพัดย้ายสถานีพัทยา-ศรีราชา

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุดมีกระแสข่าวออกมาว่า ทางกลุ่ม ซี.พี.กำลังจะพิจารณาขยับตำแหน่งสถานีพัทยาและสถานีศรีราชาใหม่ เพื่อให้มีการพัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานี หรือ TOD ได้มากขึ้น เช่น สถานีพัทยา ปัจจุบันตั้งอยู่ในเทศบาลเมืองพัทยา อาจจะขยับลงมาอยู่ที่สถานีบ้านห้วยขวาง ใกล้กับตลาดน้ำ 4 ภาค และสวนนงนุช ซึ่ง ซี.พี.ได้ซื้อที่ดินไว้ประมาณ 600 ไร่

เนื่องจากพื้นที่โดยรอบสถานีพัทยาตามผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีพื้นที่ว่างสำหรับพัฒนา TOD ประมาณ 200 ไร่เท่านั้น และราคาซื้อขายที่ดินในปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ไร่ละ 10 ล้านบาท และอยู่ในมือเอกชนรายใหญ่ไปหมดแล้ว ส่วนสถานีศรีราชา ซึ่งเป็นที่ดินของ ร.ฟ.ท.ให้พัฒนา TOD ได้ 25 ไร่ ซึ่งพัฒนาอะไรได้ไม่มาก

“หากมีการขยับตำแหน่งใหม่ นับว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะอาจจะต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติม และส่งผลกระทบต่อแผนงานก่อสร้างโครงการได้” รายงานข่าวกล่าว

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กลุ่มบริหารรถไฟฟ้า กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่ม ซี.พี.มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการ จะขยับตำแหน่งสถานีใหม่ 2 สถานี คือ สถานีพัทยาและสถานีศรีราชา เพื่อให้การพัฒนาเกิดประโยชน์ต่อโครงการได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งในสัญญาสามารถดำเนินการได้ โดยกลุ่ม ซี.พี.จะต้องจัดหาพื้นที่เอง รวมถึงรายงาน EIA หากจะต้องดำเนินการเพิ่มเติม ส่วนการเข้าปรับปรุงแอร์พอร์ตลิงก์ ทางกลุ่ม ซี.พี.จะมีรายละเอียดดำเนินการทั้งก่อนและหลังเข้าเทกโอเวอร์โครงการ ล่าสุดทราบว่าจะเริ่มเข้าปรับปรุงระบบต่าง ๆ ตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป เพื่อเตรียมการเดินรถอย่างเป็นทางการในเดือน ต.ค. 2564 ตามสัญญา