เสร็จแล้ว! ทางต่างระดับ “แยกทุ่งสง” แก้รถติดนครศรีธรรมราช

กรมทางหลวงทุ่มงบ 968 ล้านบาท สร้างสะพานแยกต่างระดับจุดตัดถนนเพชรเกษม-แยกทุ่งสง ทะลวงรถติดนครศรีธรรมราช เชื่อม จ.ตรัง อนาคตวิ่งทะลุมาเลย์-สิงคโปร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทางหลวง (ทล.) โดยสำนักก่อสร้างสะพาน ดำเนินการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 41 (เพชรเกษม) กับทางหลวงหมายเลข 403 (แยกทุ่งสง) ในพื้นที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชแล้วเสร็จ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่น

เนื่องจากทางหลวงหมายเลข 41 เป็นทางหลวงสายหลักในการเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ทั้งหมด และทางหลวงหมายเลข 403 เป็นทางหลวงสายหลักที่เชื่อมระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดตรัง และในอนาคตหากมีโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งจะเป็นเส้นทาง Asian Highway เชื่อมประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ จะสามารถรองรับปริมาณการจราจรให้เกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น

สำหรับรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 41 ระหว่าง กม.238+766-กม.242 ระยะทาง 3.2 กม. กับทางหลวงหมายเลข 403 ระหว่าง กม.1 – กม.2+200 ระยะทาง 1.2 กม. โดยลักษณะโครงการก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตอัดแรงตามมาตรฐานทางชั้นพิเศษ มีขนาด 1 ช่องจราจร กว้าง 4.50 เมตร และไหล่ด้านละ 2 เมตร และ 1.50 เมตร ทิศทางเดียว

แบ่งเป็นสะพานที่ใช้สัญจรจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปจังหวัดตรัง ทางขึ้นบริเวณทางหลวงหมายเลข 41 ที่ กม. 240 ทางลงบริเวณทางหลวงหมายเลข 403 ที่ กม. 1+550 มีความยาว 608.5 เมตร ความกว้างผิวทาง 8-9 เมตร

สะพานที่ใช้สัญจรจากจังหวัดตรังไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช ทางขึ้นบริเวณทางหลวงหมายเลข 403 ที่ กม. 1+850 ทางลงบริเวณทางหลวงหมายเลข 41 ที่ กม. 240+850 มีความยาว 943.95 เมตร ความกว้างผิวทาง 8-9 เมตร

รวมงานก่อสร้างบนทางหลวงหมายเลข 41 สะพานข้ามทางรถไฟ ที่ กม.241 ความยาว 172 เมตร ผิวทางกว้าง 20 เมตร งานก่อสร้างสะพานกลับรถที่ กม.239+400 ความยาว 280 เมตร ผิวทางกว้าง 6-8 เมตร งานก่อสร้างทางลอดที่ กม.240+540 ความกว้างผิวทาง 5.9 เมตร ผิวทางจราจรแบบแอลฟัลท์คอนกรีต พร้อมงานไฟฟ้าแสงสว่าง ป้ายจราจร งานสีตีเส้นจราจร งานวางท่อระบายน้ำบนสะพาน และงานอื่นๆ

โดยการก่อสร้างได้คำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชน สภาพแวดล้อมในพื้นที่โครงการรวมทั้งออกแบบจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้าง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อการจราจรน้อยที่สุด ใช้งบประมาณ 968 ล้านบาท

จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการคมนาคม สามารถรองรับปริมาณการจราจรและการขนส่ง รวมถึงรองรับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ ช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ให้กับประชาชนในการเดินทางบนทางหลวง และพัฒนาโครงข่ายคมนาคมภายในประเทศและเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย