“ชยธรรม์ พรหมศร” ผงาดปลัดคมนาคม สางเผือกร้อนลุยลงทุนเมกะโปรเจ็กต์

ชยธรรม์ พรหมศร
ชยธรรม์ พรหมศร
สัมภาษณ์พิเศษ

เบียด 2 แคนดิเดต “จิรุตม์ วิศาลจิตร” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และ “สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง รั้งเก้าอี้ใหญ่ไปอย่างลอยลำ สำหรับ “ชยธรรม์ พรหมศร” ที่ได้รับการโปรโมตจาก “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ใส่ชื่อในโผแต่งตั้งให้ “ครม.สัญจร” ที่ จ.ระยอง นัดวันที่ 25 ส.ค.ประทับตรา โยกจากผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นปลัดกระทรวงคมนาคม แทน “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” จะเกษียณ 30 ก.ย.นี้

ถึงจะไม่พลิกโผ แต่เรียกเสียงซี้ดจากบรรดาผู้บริหารกระทรวงคมนาคมได้ไม่น้อย ด้วยอายุราชการที่ยังเหลืออีก 6 ปี ขณะที่เพิ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นระดับ 10 ตำแหน่ง “ผอ.สนข.” เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา

จึงเป็นที่จับตามองว่าที่ปลัดคมนาคมป้ายแดง ฝีไม้ลายมือจะดุเด็ดเผ็ดมันแค่ไหน เมื่อต้องบริหารคน บริหารการใหญ่ ซึ่งต้องมีวุฒิภาวะทางอารมณ์

สำหรับ “ชยธรรม์” ปัจจุบันอายุ 54 ปี จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ดีกรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ด้านวิศวกรรมโยธา เกียรตินิยมอันดับ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หลังเรียนจบได้ทำงานที่บริษัทเอกชนระยะหนึ่ง ก่อนได้รับทุนรัฐบาลไทยลัดฟ้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อปริญญาโท-เอกด้านวิศวกรรมโยธาการขนส่ง ที่ The University of Texas at Austin, Texas

ประสบการณ์ทำงานไต่เต้าจากการเป็นข้าราชการกรมทางหลวง เป็นผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการก่อสร้างและประเมินผล ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการทางหลวงระหว่างประเทศ จากนั้นข้ามห้วยเป็น รองผู้อำนวยการ สนข. และ ผอ.สนข. ถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกันยังได้รับความไว้วางใจจากเจ้ากระทรวงคมนาคม ให้สางเผือกร้อนงานใหญ่ ทั้งการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ “ชยธรรม์” นั่งเป็น 1 ในคณะกรรมการคัดเลือก การฟื้นฟูหนี้ของ บมจ.การบินไทย ปิดมหากาพย์ขยายสัมปทานทางด่วนกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) จนได้ข้อยุติ 15 ปี 8 เดือน แก้ปัญหาจราจรบนถนนพระรามที่ 2 ด้วย 5 มิติ

นอกจากนี้ ยังนั่งเป็นกรรมการในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด ได้แก่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

แม้ก้าวย่างสู่ตำแหน่งใหม่จะราบรื่น แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีช่วงเวลาสำหรับฮันนีมูนในตำแหน่งมากนัก เพราะมีเนื้องานที่รอปลัดกระทรวงคนใหม่เข้ามาสานงานต่ออีกมากมาย

ไม่ว่าเรื่องการส่งมอบพื้นที่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ขีดเส้นการส่งมอบพื้นที่ภายในเดือน ก.พ. 2564 การเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วมระหว่างรถไฟฟ้า BTS และ MRT ที่ประชาชนลุ้นให้เกิดขึ้นจริงในช่วงปลายปีนี้ การสรุปปัญหาอุปสรรคและรูปแบบการทำ PPP รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต การเคลียร์ใจกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แก้ปัญหาสร้าง-ไม่สร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วง N1 จากแยกเกษตรศาสตร์เชื่อมทางด่วนศรีรัช-วงแหวนตะวันตก ที่กำลังรอคำตอบจากมหาวิทยาลัยเกษตรฯเคาะรูปแบบจะสร้างเป็น “โดมครอบทางด่วน”

“ชยธรรม์” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายที่จะดำเนินการต่าง ๆ ขอให้เข้าทำงานอย่างเป็นการ แต่เนื้องานจะไม่ต่างจาก สนข. ซึ่งดูภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ และยังเป็นแหล่งข้อมูลด้านคมนาคมในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง ที่ครบถ้วน

อย่างไรก็ตาม มีนโยบายที่มีความตั้งใจจะทำในช่วงที่เป็นปลัดกระทรวง คือ การผลักดันนโยบายต่าง ๆ ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ประกาศไว้ตั้งแต่แรก ให้นำไปสู่การปฏิบัติจริงให้ได้ทั้งหมด เช่น การทำแผนการพัฒนารถไฟทางคู่ควบคู่กับมอเตอร์เวย์ หรือ MR-MAP ขีดรัศมี 1,000 กม. จากวงแหวนรอบเมือง มีระยะทางรวม 5,000 กม.

แยกเป็นแนวเหนือ-ใต้ 3 เส้นทาง ระยะทาง 2,620 กม. ประกอบด้วย 1.เชียงราย-สงขลา 1,660 กม. 2.หนองคาย-แหลมฉบัง 490 กม. และ 3.บึงกาฬ-สุรินทร์ 470 กม. และแนวตะวันออก-ตะวันตก 6 เส้นทาง ระยะทาง 2,380 กม. ประกอบด้วย 1.ตาก-นครพนม 710 กม. 2.กาญจนบุรี-อุบลราชธานี 830 กม. 3.กาญจนบุรี-สระแก้ว 310 กม. 4.กาญจนบุรี-ตราด 220 กม. 5.ชุมพร-ระนอง 120 กม. และ 6.ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี 190 กม.

การกำหนดความเร็วรถ 120 กม./ชั่วโมง สรุปผลศึกษาสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาแก้ปัญหารถติดกรุงเทพฯ ซึ่งกระทรวงคมนาคมเซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) กับประเทศเกาหลีใต้ ศึกษาสร้างอุโมงค์ทางลอดที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางด่วน รถไฟฟ้า และระบายน้ำ ซึ่ง สนข.ร่วมกับกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค ขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) สรุปรูปแบบและค่าก่อสร้างเส้นทางนำร่อง ถ.นราธิวาสราชนครินทร์-สำโรงแล้ว

การแก้ปัญหางานก่อสร้างและการจราจรสำหรับโครงการขนาดใหญ่ การเดินหน้าก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N1 N2 และวงแหวนรอบนอกตะวันออก เนื่องจากจะเป็นโครงข่ายใหม่ที่จะรองรับการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน แก้ปัญหารถติดบนถนนเกษตร-นวมินทร์