คมนาคม เขย่าทางคู่เฟส 2 เร่ง “ขอนแก่น-หนองคาย” เชื่อมลาว-จีน

แฟ้มภาพ

รัฐดึงเงินกู้วิกฤตโควิด ”สภาพัฒน์ฯ” สั่งคมนาคมจัดลำดับใหม่แผนลงทุนรถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง 2.7 แสนล้าน เร่งช่วงขอนแก่น-หนองคาย 167 กม. ลงทุน 2.6 หมื่นล้าน เชื่อมรถไฟไทย-ลาว-จีน กระตุ้นการค้า ลงทุน 3 ประเทศ

วันที่ 2 กันยายน 2563 นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมเพื่อพิจารณาการเสนอขออนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2

โดยมี นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ (สงป.) และกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุม

ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาให้ ร.ฟ.ท. เสนอโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย เป็นโครงการที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนระบบเศษฐกิจของประเทศ ให้ สศช. พิจารณาเสนอความคิดเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ
ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ

โดยกระทรวงคมนาคมได้ส่งเรื่องขออนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ ระยะทางรวม 1,483 กม. วงเงิน 272,219.14 ล้านบาท ประกอบด้วย ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 285 กม. 62,859.74 ล้านบาท, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กม. 56,837.78 ล้านบาท, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 308 กม. 37,527.10 ล้านบาท, ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 167 กม. 26,663 ล้านบาท, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 168 กม. 24,294.39 ล้านบาท, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา 321 กม. 57,375.43 ล้านบาท และช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45 กม. 6,661.37 ล้านบาท

เพื่อให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ สศช. พิจารณาเสนอความคิดเห็นประกอบการพิจารณาของครม. ซึ่งสำนักงบประมาณ และ สศช. มีความเห็นให้ ร.ฟ.ท. ส่งข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของข้อมูลแผนการจัดหารถจักรและล้อเลื่อน กลยุทธ์ทางการตลาดของ ร.ฟ.ท. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แนวทางการปรับปรุงแบบการบริหารจัดการและระบบโลจิสติกส์

ซึ่งที่ประชุมในครั้งนี้ ได้พิจารณาผลการจัดลำดับความสำคัญของโครงการฯ โดยพิจารณาจากการเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟระหว่างประเทศ/เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การเชื่อมโยงเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค การเชื่อมโยงโครงข่ายทางคู่ปัจจุบัน การเชื่อมโยงเมืองหลักด้านการท่องเที่ยว

พบว่า ลำดับที่ 1 ได้แก่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ลำดับที่ 2 ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ลำดับที่ 3 ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ลำดับที่ 4 ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ลำดับที่ 5 ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ลำดับที่ 6 ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และลำดับที่ 7 ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่

ส่วนการพิจารณาเสนอขออนุมัติโครงการใดก่อนหลังนั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่า โครงการรถไฟทางคู่นั้นเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเชื้อไวรัส COVID-19 จึงเห็นควรให้สนอโครงการฯ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ก่อน

เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนระบบเศษฐกิจของประเทศ อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์จากจีน ลาว และไทย ลงมาถึงแหลมฉบังได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ ร.ฟ.ท. เร่งจัดทำแผนการจัดหารถจักรและล้อเลื่อน กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แนวทางการปรับปรุงแบบการบริหารจัดการและระบบโลจิสติกส์ และแผนการใช้ประโยชน์จากโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 และขอให้ สนข. ศึกษาการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ โดยให้ครอบคลุมยุทธศาตร์ ยุทธวิธี และความมั่นคงของประเทศด้วย